วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองพลทหารม้าที่ 1 พบปะสื่อ แถลงผลการปฏิบัติงาน ในห้วง 12 – 18 มิ.ย. 2557

วันนี้ (20 มิ.ย.57) ณ แหล่งสมาคมนายทหารค่ายพ่อขุนผาเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองพลทหารม้าที่ 1(ศปส.กกล.รส.พล.ม.1) จัดกิจกรรมพบปะสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเผยแพร่ผลการปฏิบัติงาน ในห้วงวันที่ 12 – 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา และแจ้งข่าวสารสำคัญ ตามนโยบายของ พลตรีบรรเจิด ฉางปูนทอง ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองพลทหารม้าที่ 1 โดยมี พ.อ.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ หน.ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กกล.รส.พล.ม.1 เป็นผู้ชี้แจง โดยประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมแถลงการจัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์การสร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูประดับจังหวัด ณ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามนโยบายของกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์เข้ารับฟังการแถลงข่าว

สาระสำคัญในการแถลงประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วน ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อาทิ การจ่ายเงินค้างชำระโครงการจำนำข้าว การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุน เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 การจัดทำปีงบประมาณปี 2558 ทบทวนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับผลการดำเนินงานของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองพลทหารม้าที่ 1 ซึ่งร่วมกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ และหน่วยงานราชการ ได้แก่การควบคุมพื้นที่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความปลอดภัย การสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังค การกวาดล้างอาวุธสงคราม การแก้ไขปัญหายาเสพติด การบุกรุกพื้นที่ป่า และการจัดระเบียบสังคม / ชุมชน

ทั้งนี้ ศปส.กกล.รส.พล.ม.1 จะจัดกิจกรรมพบปะสื่อมวลชนเป็นประจำทุกวันศุกร์ เวลา 09.00 – 10.30 น. เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน เผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป
   
   

อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดกิจกรรมคืนความสุขและสร้างความปรองดอง ชาวไทยภูเขา ม้ง เย้า ลีซอ เข้าร่วมกิจกรรมท่ามกลางสายฝน

วันนี้ (20 มิ.ย.57) เวลา 14.30 น.ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และเปิดงานคืนความสุขให้ประชาชนและสร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปของอำเภอเขาค้อ นายฐิติศักดิ์ กันเขตต์ นายอำเภอเขาค้อ นำหัวหน้าส่วนราชการประจำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เย้า ลีซอ นักเรียน ตำรวจ ทหาร เข้าร่วมพิธี โดยมีผู้แทน ผู้บังคับการกองพลทหารม้าที่ 1 รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดร่วมในพิธี

ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้กล่าวปราศัยกับชาวอำเภอเขาค้อ โดยขอให้ร่วมกันสร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อเดินหน้าปฏิรูปอำเภอ จังหวัด และประเทศชาติ พร้อมได้นำกล่าวปฏิญาณตนรู้รักสามัคคี น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในการดำเนินชีวิต และได้มอบเงินพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดินเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแก่ผู้นำชุมชน 20 หมู่บ้าน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดได้ร่วมกันขับร้องเพลงใจประสานใจท่ามกลางสายฝน

กกล.รส.พล.ม.๑ เตรียมร่วมกับจังหวัดเพชรบูรณ์ปฏิบัติการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ

พ.อ.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ หน.ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองพลทหารม้าที่ ๑ แถลงว่า พลตรี บรรเจิด ฉางปูนทอง ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองพลทหารม้าที่ ๑ ได้มอบให้ชี้แจงเกี่ยวกับการเตรียมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๗๗/๒๕๕๗ โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองพลทหารม้าที่ ๑ จะดำเนินการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ในคลังสินค้ากลาง ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ องค์การคลังสินค้าจังหวัดเพชรบูรณ์ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยกำหนดเป็น ๓ ขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนแรกได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ที่ผ่านมา สำรวจยอดโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ คลังเก็บข้าวในพื้นที่ ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ของหน่วย ในการตรวจคลังเก็บ ตรวจคุณภาพข้าว

สำหรับในขั้นปฏิบัติการนั้น ต้องรอคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งจะได้จัดกำลังพล โดย ผบ.พัน.ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ เป็นกรรมการตรวจสอบร่วมกับพลเรือน และตำรวจ ปฏิบัติการตรวจและรายงานตามห้วงระยะเวลากำหนด หลังจากตรวจนับและตรวจสอบคุณภาพข้าวในคลังต่าง ๆ ในพื้นที่แล้ว กรรมการ ๓ ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานพลเรือนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมลงนามในเอกสาร สรุปผลการตรวจนับและตรวจสอบคุณภาพข้าว รายงานให้คณะกรรมการทราบ ต่อไป

สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เตือนประชาชนที่ชอบกินเนื้อหมูสุกๆดิบๆ เสี่ยงติดโรคไข้หูดับ หูหนวกถาวรทั้ง 2 ข้าง และอาจตายได้

นายแพทย์บุญเติม ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่าจากสภาพอากาศในฤดูฝน ทำให้มีความอับชื้นในฟาร์มหรือสถานเลี้ยง สัตว์ โดยเฉพาะสุกร ที่เป็นสัตว์นำเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่า สเตร็บโตค็อกคัสซูอิส เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคไข้หูดับสู่คน และทำให้เกิดความพิการหรือเสีย ชีวิตได้ ถือเป็นโรคติดต่อมาจากสัตว์ที่มีความรุนแรงโรคหนึ่ง หมูที่ติดเชื้อ มักจะไม่แสดงอาการป่วย โดยเชื้อจะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู โดยเฉพาะที่ต่อมทอนซิลหรือที่บริเวณคอหอยและ ในโพรงจมูกของหมู แต่หากหมูมี อาการป่วยร่วมด้วย ก็จะพบเชื้อนี้อยู่ในกระแสเลือดของหมูด้วย โรคนี้พบได้ ทั่วโลก ในประเทศไทยพบผู้ป่วยทุกปี โดยข้อมูลในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 พฤษภาคม 2557 พบผู้ป่วย 79 ราย (0.12 ต่อแสนประชากร) เสียชีวิต จาก 11 จังหวัด เสียชีวิต 8 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่จังหวัดอุตรดิตถ์ (3.02 ต่อแสนประชากร), นครสวรรค์ (2.61 ต่อแสนประชากร), ตาก (1.35 ต่อแสนประชากร), พะเยา (0.82 ต่อแสนประชากร), เพชรบูรณ์ (0.60 ต่อแสนประชากร)สำหรับจังหวัดพิษณุโลก (1 มกราคม ถึง 9 มิถุนายน 2557) ยังไม่พบรายงานพบผู้ป่วย ในปีนี้ และในปี 2556 พบผู้ป่วย 6 ราย ในพื้นที่อำเภอ เมือง 3 ราย บางกระทุ่ม, พรหมพิราม, วัดโบสถ์ อำเภอละ 1 ราย (ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต) ช่วงเวลาที่พบผู้ป่วยสูงสุดจำนวน 2 รายในเดือนเมษายน เชื้อสเตรปโตค็อคคัส ซูอิส เข้าสู่ร่างกายคน ทางบาดแผลตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา และจากการรับประทานเข้าไป

โดยจะพบในรายที่รับประทานเนื้อหมูที่ปรุงดิบ หรือปรุงดิบๆสุกๆ เช่น ลาบหมู หลู้ ส้าดิบ หลังจากเชื้อเข้าสู่รางกาย จะไปทำลายอวัยวะภายใน และระบบประสาท ทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ ที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้าง อักเสบ และเสื่อมอย่างรุนแรง หูหนวกตลอดชีวิต และยังพบอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง โดย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการที่พบบ่อยดังนี้คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบ เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีอัตราเสียชีวิตร้อย ละ 5-20 ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย เพื่อป้องกัน การป่วยและเสียชีวิต ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับ คือผู้ที่สัมผัสกับสุกรที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ที่ทำงานใน โรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อสุกร เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว โรคนี้รักษาหายขาดได้ ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศมีศักยภาพในการรักษา จึงขอแนะนำประชาชนที่มีอาการ ป่วยดังที่กล่าวมา หลังรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆดิบๆ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ในการป้องกันการติดเชื้อไข้หูดับ มีคำแนะนำดังนี้ ในกลุ่มผู้บริโภค ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์มาแล้ว ควรหลีกเลี่ยง 1. การซื้อเนื้อหมูที่จำหน่ายข้างทางหรือร้านของป่า 2. ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ หรือเนื้อยุบ 3. ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยความร้อน นานอย่างน้อย 10 นาที หรือต้มจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่รับประทานเนื้อและเลือดหมูดิบ หรือดิบๆสุกๆ ในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในเล้าหมู ฟาร์มหมู ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงานในเล้าหรือในฟาร์มหมู หลังปฏิบัติงานเสร็จให้ อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ผู้ที่มีบาดแผลที่มือหรือที่เท้าควรหลีกเลียงการ สัมผัสหมู หากจำเป็นต้องใส่ถุงมือยางป้องกัน ประการสำคัญห้ามนำหมูที่ป่วยตายมาชำแหละ อย่างเด็ดขาด และดูแลความสะอาดฟาร์มเลี้ยงหรือเล้าให้สะอาด

อบจ.พิษณุโลก จัดโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีวันเข้าพรรษา ประจำปี 2557

นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่าประเพณีวันเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่คนไทยได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ วันเข้าพรรษาพระภิกษุสงฆ์จะต้องอยู่ประจำที่วัดแห่งเดียวตลอดช่วงวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกิจสำคัญที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องกระทำเป็นประจำทุกปี เป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากได้มีเวลาในการปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ และการถวายเทียนพรรษาในวันเข้าพรรษาก็เป็นประเพณีอันดีงามอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ตระหนักและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมประเพณีวันเข้าพรรษา จึงกำหนดจัดโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีวันเข้าพรรษา ประจำปี 2557 ขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 10 กรกฎาคม 2557 โดยจัดหาเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องไทยธรรม นำไปมอบให้กับสถานศึกษาในจังหวัดพิษณุโลกเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดในชุมชนของตนเองในช่วงวันเข้าพรรษา เป็นการส่งเสริมให้เยาวชน และประชาชนได้แสดงออกถึงการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

พร้อมทั้งตระหนักและมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีการถวายเทียนพรรษาซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบไป สำหรับกำหนดการมอบเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องไทยธรรม ให้สถานศึกษานำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ ที่จำพรรษา ณ วัดที่อยู่ใกล้กับสถานศึกษา ทั้ง 9 อำเภอ ของจังหวัดพิษณุโลก รวม 120 วัด ดังนี้ วันที่ 3 กรกฎาคม 2557 มอบให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่อำเภอชาติตระการ และอำเภอนครไทย วันที่ 4 กรกฎาคม 2557 มอบให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่อำเภอเนินมะปราง และอำเภอวังทอง วันที่ 7 กรกฎาคม 2557 มอบให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่อำเภอบางกระทุ่ม และอำเภอบางระกำ วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 มอบให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ วันที่ 9 กรกฎาคม 2557 มอบให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่อำเภอเมืองพิษณุโลก วันที่ 10 กรกฎาคม 2557 คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จะร่วมกันแห่เทียนพรรษาไปถวายที่วัดสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จึงขอเชิญชวนเยาวชน และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีถวายเทียนพรรษา ร่วมกับสถานศึกษาในชุมชนใกล้บ้านโดยพร้อมเพรียงกัน

กรมควบคุมโรค จัดแถลงข่าวและจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ( MOU) บูรณาการนิคมโรคเรื้อน

เช้าวันนี้ ( 20 มิ.ย.57 ) ที่โรงแรมท๊อปแลนด์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กรมควบคุมโรค ได้จัดแถลงข่าวสื่อมวลชนและจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ( MOU) บูรณาการนิคมโรคเรื้อนสู่ชุมชนทั่วไป โดยการบูรณาการนิคมโรคเรื้อนนิคมบ้านกร่าง จังหวัดพิษณุโลกและนิคมฝายแก้ว จังหวัดน่าน สู่ชุมชนทั่วไป โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงนาม ประกอบด้วย มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กรมธนารักษ์ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง จังหวัดพิษณุโลก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว จังหวัดน่าน และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ

สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ( MOU) บูรณาการนิคมโรคเรื้อนสู่ชุมชนทั่วไปดังกล่าวเพื่อให้ชาวบ้านของนิคมทั้งสองแห่งได้มีโอกาสเข้าถึงบริการของภาครัฐอย่างเท่าเทียม อาทิ ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระบบบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ การบูรณาการนิคมโรคเรื้อนสู่ชุมชนทั่วไป แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกคือ การสื่อสารทำความเข้าใจกับคนในนิคมและชุมชนโดยรอบ ขั้นตอนที่สอง จัดเวทีสาธารณะเพื่อให้ผู้อาศัยในนิคมมีส่วนร่วมและตัดสินใจด้วยตนเอง ขั้นตอนสุดท้ายคือ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาชุมชน โดยยึดหลักระบบปกตินอกชุมชนมีอะไร ในชุมชนต้องมีอย่างนั้นด้วย ซึ่งหากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อาศัยในนิคมทั้งสองแห่งประสบความสำเร็จด้วยดีก็จะได้มีการประกาศยกเลิกการเป็นนิคมโรคเรื้อนในขั้นตอนต่อไป ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในขณะนี้ทางมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการเร่งรัดและค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ เพื่อป้องกันความพิการ ลดการแพร่ติดต่อของโรคโดยประชาชนสามารมีส่วนร่วมในการนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ ซึ่งมูลนิธิฯจะมทอบเงินสนับสนุนจำนวน 2,000 บาท ในกรณีที่ผู้ป่วยมารับการรักษาด้วยตนเอง และในกรณีที่มีผู้พามา ทางมูลนิธิฯจะมอบเงินให้กับผู้นำผู้ป่วยมารักษา 1,000 บาท และมอบให้ผู้ป่วยอี 1,000 บาท มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมมือกันทำให้โรคเรื้อนหมดจากประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ปรับกลยุทธ์พร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC ) โดยให้หัวหน้าส่วนราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สนใจ ฝึกเรียนภาษาจีน

นายนพรัตน์ ทองประกอบ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ก่อนที่ประเทศไทย กำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC ) ในปี 2558 ที่จะถึงนี้ โดยมีเป้าหมาย คือการเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตร่วมกัน จะมีการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ การลงทุน เงินทุนและแรงงานระหว่างประเทศอาเซียนอย่างเสรี จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยต้องเร่งเสริมสมรรถนะและความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรองรับการเปิดเสรี ทั้งการ ขับเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนแรงงานฝีมือ ดังนั้นยุทธศาสตร์การบริหารงานระบบราชการของจังหวัดพิษณุโลก ตามดำริ ของผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นาย ระพี ผ่องบุพกิจ ที่อยากให้หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้ในเรื่องของภาษา ที่มีความจำเป็นอย่างมาก ก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีกไม่ช้านี้

หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ให้หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าพนักงานหน่วยงานภาครัฐที่สนใจ เข้าเรียนภาษาจีนกลาง ที่โรงเรียนสิ่นหมิ่น อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ตามโครงการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เพื่อรับรองประชาคมอาเซียน ด้าน นายแพทย์ บุญเติมตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่สนใจ ในโครงการนี้ เพราะถือว่าการได้มาเรียนภาษาจีน น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคต เพราะคาดว่าอีกไม่นาน เออีซีมีแนวโน้มขยายเป็น อาเซียน + 3 คือ เพิ่ม จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก่อนที่จะเป็น อาเซียน + 6 โดยเพิ่ม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งก็ถือว่าภาษาจีน เป็นภาษาหนึ่งที่สำคัญ ของชาติมหาอำนาจในทวีปเอเชีย ขณะที่ MS.HAIHUA ZHAO (จ้าว ไหหัว) ผู้ดูแลห้องเรียนขงจื่อ โรงเรียนสิ่นหมิ่น ครูผู้สอนภาษาจีนกล่าวว่า การเรียนภาษาจีนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องสนใจให้มาก โดยทางครูผู้สอนจะมีเคล็ดลับในการสอนคือ ใช้การร้องเพลง แสดงท่าทาง นำมาสอดแทรกให้ผู้เข้าเรียน ได้ร่วมสนุกและเข้าใจการเรียนรู้ภาษาจีนได้ดีมากยิ่งขึ้น

อบจ.พิษณุโลก ปรับปรุงภูมิทัศน์ ศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เตรียมพร้อมรับการถ่ายโอน

นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้จัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องมือ จากฝ่ายสถานที่และสวนสาธารณะ กองช่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ไปดำเนินการเก็บกวาดทำความสะอาด เก็บขยะ ถางหญ้า และกำจัดวัชพืช ที่บริเวณโดยรอบศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ และโบราณสถาน ที่สำคัญภายในพระราชวังจันทน์ ได้แก่ บริเวณวัดวิหารทอง วัดศรีสุคต เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม รองรับการ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ หลังจากที่กรมศิลปากรได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ โดยที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เป็นเลขานุการคณะกรรมการ และเป็นหน่วยบริหาร โบราณสถานพระราชวังจันทน์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้ อยู่ ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการถ่ายโอนให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 ดังนั้น เพื่อเตรียมการรองรับการถ่ายโอนภารกิจการดูแลพระราชวังจันทน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จึงเข้าไปดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ และบริเวณพระราชวังจันทน์ รวมพื้นที่ 128 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ให้มีความสวยงาม สมเป็นพระราชวังโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทยเพื่อเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวโบราณคดี และประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์เมืองพิษณุโลกต่อไป

คณะกรรมการโครงการ TO BE NUMBER ONEตรวจเยี่ยมเพื่อให้คะแนนการประกวดจังหวัด TO BE NUMBER ONE ระดับประเทศ ปี 2557 ของจังหวัดพิษณุโลก

เช้าวันนี้ ( 20 มิ.ย.57 ) ที่หอประชุมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ประธานคณะกรรมการ พร้อมคณะกรรมการตัดสินการประกวดจังหวัด TO BE NUMBER ONE ระดับประเทศ ปี 2557 ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมเพื่อให้คะแนนในกิจกรรม โครงการรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUMBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ภายใต้แนวคิด เป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งยาเสพติด ของจังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายสุชน วิเชียรสรรค์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 39 นำโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในสังกัด ได้แก่ โรงเรียนพรหมพิรามวิทยา โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม โรงเรียนคันโซ้งวิทยา โรงเรียนบางกระทุ่มพิทยาคม และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ เข้าร่วมนำเสนอกิจกรรมภายในงาน ซึ่งจังหวัดพิษณุโลก ได้น้อมนำแนวทาง มาเป็นแนวทางการดำเนินงานมากว่า 10 ปี โดยมีการส่งเสริมให้เกิดชมรม TO BE NUMBER ONE ขึ้นใน สถานศึกษา ชุมชน และสถานประกอบการ ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 สร้าง ได้แก่ สร้างกระแส สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และสร้างเครือข่าย และยังมีการจัดตั้งศูนย์เพื่อนใจ(TO BE NUMBER ONE FRIEND CORNER) ขึ้น เพื่อให้เยาวชนที่มีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือ ได้รับคำปรึกษาแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ หรือ เพื่อนอาสาสมัครที่ผ่านการอบรม

สำหรับจังหวัดพิษณุโลกนั้น ได้เข้าร่วมการประกวดในสถานศึกษา ชุมชน สถานประกอบการ และจังหวัด TO BE NUMBER ONE ดังกล่าว ซึ่งในประเภท ชมรมTO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัทไทยแอโรว์ จำกัด (โรงงานพิษณุโลก) ประเภทดีเด่น และจังหวัด TO BE NUMBER ONE ต้นแบบระดับเพชรปีที่ 1 โดยจะเข้าร่วมในงานมหกรรมรวมพล TO BE NUMBER ONE ในวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2557 นี้ ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี