วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สสจ.พะเยา ขอเชิญชวนผู้ผลิตอาหารพื้นบ้าน ของฝากพื้นเมืองพะเยา เตรียมตัวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

นายฉลอง อัครชิโนเรศ นักวิชาการสาธารณสุข (ด้านส่งเสริมพัฒนา) ระดับเชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ในปี 2558 ที่จะถึงนี้ กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการนำเข้า-ส่งออกสินค้าหลากหลายชนิดได้อย่างเสรี การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน ทั้งด้านคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยจะสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของประเทศในกลุ่มอาเซียนและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

นายฉลอง ยังกล่าวด้วยว่า ผู้ผลิตอาหารพื้นบ้านสามารถขอรับคำปรึกษาการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารและสามารถขอรับ เลข อย. ได้แก่ อาหรทั่วไปที่ผ่านการแปรรูป เช่น เนื้อสัตว์ดิบที่ผ่านการหั่นบด กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง กะปิ ปลาร้า ปลาส้ม งาดำ งาขาว ถั่วดิบ ข้าวสาร แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ขนมจีน น้ำตาล พริกแห้ง , อาหารพร้อมปรุง ที่เตรียมพร้อมสำหรับให้ผู้บริโภคปรุงเป็นอาหารได้ทันที (ยกเว้นอาหารพร้อมปรุงที่จัดไว้เป็นชุด) เช่น ทอดมันกุ้งดิบ ข้าวเกรียบดิบ หมูบดปรุงรสดิบ , อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที เช่น ทองม้วน กาละแม น้ำพริกต่างๆ ถั่วตัด แคบหมู ไข่เค็ม(สุก) ผลไม้อบแห้ง , และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่ผู้ผลิตมีความสนใจในการพัฒนามาตรฐานของกระบวนการผลิต และสถานที่ผลิตให้มีความเป็นมาตรฐานได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นผู้ผลิตอาหาร กลุ่มแม่บ้าน หรือชุมชนที่สนใจ จึงควรหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย และนำไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์และสถานที่ผลิตอาหารของตนเอง ทั้งนี้สามารถขอคำแนะนำได้ที่ คลินิก Primary GMP ณ กลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลชุมชน สำนักงานธสาธารณสุขอำเภอใกล้บ้าน หรือที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา โทร.054-409015 – 7 ในวันเวลาราชการ



ข่าวโดย : ประมวล อุปกิจ

เกษตรพะเยาเตือนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยื่นต่อทะเบียนตามกำหนด หากไม่ยื่นขอดำเนินกิจการเป็นเวลาติดต่อกัน 2 ปี นายทะเบียนวิสาหกิจชุมชนจะถอนชื่อออกจากทะเบียน

นายราเชนทร์ สุวรรณหิตาทร เกษตรจังหวัดพะเยา กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนหมายถึงกิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรืออื่นๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน โดยสรุปก็คือ การประกอบการเพื่อการจัดการทุนของชุมชน อย่างสร้างสรรค์เพื่อการพึ่งพาตนเอง ซึ่งทุนของชุมชนไม่ได้หมายถึงแต่เพียงเงิน แต่รวมถึงทรัพยากรผลิผลิต ความรู้ ภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม หรือกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ร้อยรัดผู้คนให้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเป็นพี่เป็นน้องไว้ใจกัน

เกษตรจังหวัดพะเยา กล่าวด้วยว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2546 กำหนดให้มีการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โดยมีนายอำเภอเป็นนายทะเบียนในแต่ละอำเภอ และตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 กำหนดไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยการแจ้งดำเนินกิจการและการเลิกกิจการ ซึ่งกำหนดให้ต่อทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นปีปฏิทินหรือภายใน 30 มกราคม วิสาหกิจชุมชนใดไม่แจ้งความประสงค์จะดำเนินกิจการเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ให้นายทะเบียนทำหนังสือแจ้งเตือน หากวิสาหกิจใดไม่แจ้งความประสงค์การดำเนินกิจการต่อนายทะเบียนจะถอนชื่อวิสาหกิจชุมชนนั้นออกจากทะเบียน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา โทร.054 – 887050 ต่อ 22 ในวันเวลาราชการ



ข่าวโดย : ประมวล อุปกิจ