วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมตรวจสภาพพื้นที่ป่าไม้สักในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบไม้สักถูกกานให้ยืนต้นตาย157 ต้น

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม นั่งเฮลิคอปเตอร์บินตรวจสภาพพื้นที่ป่าไม้สักในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ นายดุลยวิชญ์ รัตนภาค ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง นายยุทธนา ศรีเงินงาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเรื่องการลักลอบกานไม้สักให้ยืนต้นตาย ในพื้นที่อำเภอขุนยวม และอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งมีรายงานว่า พบจำนวน 157 ต้น กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย บริเวณสบห้วยแม่ข่อ-โป่งปลาเหยี่ยน ต.แม่กิ๊ อ.ขุนยวม 11 ต้น และสบห้วยแม่ข่อ-สบห้วยแม่ลาก๊ะ ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม 51 ต้น ท้องที่สบห้วยแม่ละก๊ะ-บ้านวังกว้าง ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย 26 ต้น ท้องที่ห้วยแม่ละก๊ะ ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม 69 ต้น ในจำนวนนี้มีไม้สักที่ถูกกานไปแล้วแต่ สภาพ กิ่ง และใบยังเขียวอยู่ จำนวน 4 ต้น ทางสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการเชื่อมต่อท่อลำเลียงน้ำ และท่อเลียงอาหาร ระหว่างรอยที่ถูกกาน โดยใช้กิ่งอ่อนๆ สดๆ ของสักอีกต้นหนึ่ง เพื่อให้น้ำและแร่ธาตุที่รากดูดขึ้นมาจากดิน สามารถส่งผ่านขึ้นไปสู่ลำต้นได้ หรือเรียกว่า การต่อเซลล์ทำบายพาส ต่อชีวิตให้กับต้นสัก

อย่างไรก็ตามในห้วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันเจ้าหน้าที่มีรายงานว่า ได้ตรวจยึดไม้สักท่อนได้ จำนวน 149 ท่อน ปริมาณ 47.70 ลูกบาศก์เมตร ไม้สักแปรรูป 60 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.87 ลูกบาศก์เมตร


ข่าวโดย : นวรัตน์ ศรีแก้วเลิศ

กกต.แม่ฮ่องสอนแจ้งให้ผู้ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. ล่วงหน้า ไปขึ้นทะเบียนได้ที่ว่าการอำเภอระหว่างวันที่ 17-28 กุมภาพันธ์ นี้

นายพันธุ์รัตน์ แก้ววิเชียร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภา( ส.ว.)ที่มาจากการเลือกตั้ง จะครบวาระ 6 ปี ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน กำหนดที่จะรับสมัครผู้สนใจรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ระหว่างวันที่ 4-8 มีนาคม 2557 กำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 30 มีนาคมและเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขตในวันที่ 23 มีนาคม 2557

ดังนั้นผู้ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว.ล่วงหน้า ให้ไปขึ้นทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า โดยเตรียมเอกสาร บัตรประจำตัวประชาชนไปยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 17-28 กุมภาพันธ์ 2557

สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กำหนดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขตไว้จำนวน 2 แห่ง คือ ที่ศาลาประชาคมจังหวัดแม่ฮ่องสอน อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และที่หอประชุมอำเภอแม่สะเรียง


ข่าวโดย : นวรัตน์ ศรีแก้วเลิศ

สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน กำหนดจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายสภาเกษตรกร

สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน กำหนดจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายสภาเกษตรกร เพื่อบูรณาการจัดทำแผนแม่บทสร้างความมั่งคั่ง มั่นคงอย่างยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมบนพื้นฐานข้อมูล

นางสมศรี สิทธิบุญ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่าย สภาเกษตรกร เพื่อบูรณาการจัดทำแผนแม่บทสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง อย่างยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมบนพื้นฐานข้อมูล ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ พิชชาพร เฮ้าส์ บ้านผาบ่อง ตำบลผาบ่องอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยเน้นการจัดสร้างเครือข่ายสภาเกษตรกรเพิ่มขึ้นในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อเป็นกลไกเชื่อมโยงจากสภาเกษตรกร ระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน สู่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในขณะเดียวกันสามารถเชื่อมโยงข้อมูลด้านการเกษตร ปัญหา ความต้องการพัฒนาพื้นที่จากเกษตรกร จากล่างสู่บนอย่างเป็นระบบ และสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งกันและกัน นอกจากการสร้างเครือข่ายสภาเกษตรกรแล้ว เกษตรกรมีส่วนร่วมเชิงปฏิบัติการในการจัดทำแผนแม่บท (participatory action) เพื่อพัฒนาการเกษตรร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยุทธศาสตร์จังหวัด นโยบายของรัฐบาล โดยอาศัยข้อมูลที่เป็นจริง เป็นการเพิ่มศักยภาพ และพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกร ในการแข่งขันภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็งต่อไป

สาระในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายสภาเกษตรกร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสุรพล พนัสอำพล ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด จากนั้นหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงนโยบายประกอบด้วย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสถาพร ศรีวันชื่น ชี้แจงบทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน และบทบาทหน้าที่ของสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยนางสมศรี สิทธิบุญ หัวหน้าสำนักงานฯ สำหรับประเด็นสำคัญที่กำหนดให้มีการระดมความคิดเห็น คือ ปัญหาที่มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม และข้อเสนอแนวทางแก้ไข ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ ในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม


ข่าวโดย : อ่อนศรี ศรีอัมพร ทีมข่าว ส.ปชส.แม่ฮ่องสอน

โครงการรับจำนำข้าว ที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่มีปัญหา เพราะ ธกส.แม่ฮ่องสอนจ่ายเงินให้เกษตรกรครบ 100 %

นางนันทภัส สังขานุกิจ การค้าภายใน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริษัทเศรษฐพาณิชย์-สามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดจุดรับจำนำ ข้าว ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2556 – 15 มกราคม 2557 รวม 3 จุด ที่สหกรณ์การเกษตรแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย /สหกรณ์การเกษตรเมืองแม่ฮ่องสอน และที่สหกรณ์การเกษตรปาย อำเภอปาย มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 56 ราย ปริมาณข้าว 188 ตันเศษ เป็นเงิน 2,971,305 บาท(2 ล้าน 9 แสน 71,305 บาท) ซึ่ง ธกส. จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้จ่ายเงิน ให้กับเกษตรกรไปแล้ว ครบถ้วน 100 %
การค้าภายใน จังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าวด้วยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีผลผลิตข้าวเพียง 2 หมื่นตันเศษ ส่วนหนึ่งเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน ประกอบกับเกษตรกรหลายรายหันไปปลูกข้าวโพด ทำให้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนำข้าวไม่มาก จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด


ข่าวโดย : วาสนา ไข่แก้ว

สำนักสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอนเตรียมการออกนิเทศติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติราชการหน่วยงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ประจำปี 2557

วันนี้ ( 20 กุมภาพันธ์ 2557 ) นางสาวเพ็ญพิศ เล่าเรียนดี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในนามหัวหน้าคณะ นิเทศติดตามงาน ชุดที่ 3 ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แม่ฮ่องสอน เป็นประธานประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่คณะทำงานนิเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจวัตถุประสงค์ และแนวทางการออกนิเทศติดตามงานหน่วยงานสาธารณสุขระดับอำเภอ(คป.สอ.) โดยกำหนดวันออกติดตามนิเทศหน่วยงานสาธารณสุข อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม สำหรับ การนิเทศติดตามจะเน้นตามการดำเนินงานตามประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพ รวมถึงการดำเนินงานตามสภาพปัญหา ของพื้นที่ ทั้งนี่เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงาน รวมถึง รับทราบปัญหาอุปสรรค และความต้องการสนับสนุนของพื้นที่ เพื่อนำผลมาพัฒนาผลักดันให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป


ข่าวโดย : วาสนา ไข่แก้ว

หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 ลงพื้นที่บ้านแม่ส่วยอู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเตรียมจัดการฝึกซ้อมแผนอพยพ ประชาชน กรณีเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดน

เช้าวันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2557)  พันเอกบรรณวัฒน์ พรหมจรรย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 มอบหมายให้ พันตรีคงเดช เอี่ยมสะอาด นายทหารฝ่ายการข่าว ฉก.ร.17 นำกำลังพล ลงพื้นที่ บ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านจัดตั้งตามโครงการหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเตรียมจัดการฝึกซ้อมแผนอพยพ ประชาชน กรณีเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดน ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการอพยพ กรณีเกิดเหตุสู้รบของทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับหมู่บ้านที่อยู่ตามแนวชายแดน



ข่าวโดย : เอกณรินทร์ ใจมะโน

สภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายสภาเกษตรกร เพื่อบรูณาการจัดทำแผนแม่บทสร้างความมั่นคั่ง

สภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "สร้างเครือข่ายสภาเกษตรกร เพื่อบรูณาการจัดทำแผนแม่บทสร้างความมั่นคั่ง มั่นคง อย่างยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม บนพื้นฐานข้อมูล"

วันนี้ ( 20 ก.พ. 57 ) เวลา 10.30 น. ที่ พิชชาพรเฮ้าส์ ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน นายบุญเสริม จิตเจนสุวรรณ ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ สร้างเครือข่ายสภาเกษตรกร เพื่อบูรณาการจัดทำแผนแม่บทสร้างความมั่นคั่ง มั่นคง อย่างยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม บนพื้นฐานข้อมูล เพื่อสร้างเครือข่ายสภาเกษตรกร ระดับตำบล ระดับอำเภอ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ โครงสร้างของเครือข่าย รวมทั้งเข้าใจบทบาทหน้าที่ ของคณะกรรมการประสานงานเครือข่ายสภาเกษตรกร พัฒนาประสิทธิภาพ คุณภาพผู้แทนเกษตรกรในทุกระดับ พร้อมทั้งให้มีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ที่เกิดจากสะท้อนปัญหาและความต้องการของเกษตรกรผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นข้อสรุปประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อการ ประกอบอาชีพการเกษตรของเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และให้เกิดต้นแบบสัมมาชีพเด่นในทุกระดับ เพื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านเกษตรกรรม และข้อมูลข่าวสาร งานของสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน สู่ประชาชน ภาครัฐ และเอกชน

สภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสมาชิกสภาเกษตรกร จำนวน 21 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง จำนวน 16 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร จำนวน 5 คน โดยมีนายสถาพร ศรีวันชื่น เป็นประธานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเครือข่าย ฯ ทั้งในระดับอำเภอ และตำบล จำนวน 70 คน


ข่าวโดย : พักตร์ภูมิ ปัญญาไชยพัฒน์

อ.แม่ลาน้อย สนธิกำลังร่วมกับตำรวจภูธรแม่ลาน้อย ทหารพราน ตำรวจตระเวนชายแดน และด่านตรวจคนเข้าเมือง ออกตัดทำลายไร่ฝิ่น

วันนี้ (20 ก.พ.)  นายชิษณุพงษ์ บูรณา นายอำเภอแม่ลาน้อย มอบหมายให้นายวิศิษฐ์ ทวนชีพ ปลัดอำเภอแม่ลาน้อยพร้อมด้วย พันตำรวจโทสันติ สุภา รองผู้กำกับการตำรวจภูธร แม่ลาน้อย นำกำลังฝ่ายปกครอง อส. ตำรวจภูธรแม่ลาน้อย ทหารพราน 336 ตชด.337 และตรวจคนเข้าเมืองแม่สะเรียง รวมกว่า 30 นาย ออกตัดทำลายไร่ฝิ่น ซึ่งลักลอบปลูกบริเวณหุบเขาพื้นที่ประมาณ 1 งาน ที่บ้านพระบาทห้วยผึ้ง หมู่ 13 ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ไม่พบตัวผู้ต้องหา จึงตัดและเผาทำลายต้นฝิ่น ระหว่างเจ้าหน้าที่เดินทางกลับ พบนายพะวาติ ปัญจคีรี อายุ 55 ปี ภูมิลำเนา 33 หมู่ 4 ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย ขับขี่รถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ข-6270 มีพิรุธเจ้าหน้าที่จึงเรียกตรวจค้น พบอุปกรณ์การเสพยาบ้า ผู้ต้องหารับสารภาพว่าได้เสพยาบ้ามาก่อน จึงถูกควบคุมตัวตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย เบื้องต้นพบสารเมทแอมเฟตามีน ในปัสสาวะของผู้ต้องหา จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร แม่ลาน้อย ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป



ข่าวโดย : ทีมข่าว สวท.แม่ฮ่องสอน

โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีลำปาง มอบแว่นสายตาให้แก่ประชาชน ผู้มีความผิดปกติทางสายตา ตามโครงการ "แว่นสายตายาวผู้สูงวัย"

พันเอกชัยณรงค์ แกล้วกล้า รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรีลำปาง พร้อมด้วย พันเอกอนุรัฐ ตันติจารุกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีลำปาง นำคณะเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่พยาบาล หน่วยงานในสังกัด ร่วมกันนำแว่นสายตาที่ประกอบเสร็จเรียบร้อย มอบให้แก่ผู้สูงวัย และประชาชนผู้ที่มีความผิดปกติทางสายตา ตามโครงการ "แว่นสายตายาวผู้สูงวัย" ที่ ห้องประชุม 1 โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมีประชาชนผู้ที่มีปัญหาทางสายตา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทั้งชาย-หญิง จำนวน 50 คน เข้ารับมอบแว่นสายตา

โครงการ “แว่นสายตายาวผู้สูงวัย” เป็นโครงการ ที่โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีลำปาง ได้จัดทำขึ้น โดยได้เน้นการจัดทำแว่นตา ที่ได้มาตรฐานและใช้เลนส์ที่เหมาะสมกับสายตา ของผู้ที่มีปัญหาทางสายตาแต่ละคน และได้นำมามอบให้แก่เจ้าของแว่นตา ตามโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งผู้ที่เข้ารับมอบแว่นสายตาในครั้งนี้ ทางโรงพยาบาลฯ ได้ทำการคัดเลือกมาจาก ประชาชนผู้ที่เข้ามาใช้บริการรักษา ตรวจวัดสายตา กับเจ้าหน้าที่จักษุแพทย์ ของโรงพยาบาลฯ เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 6 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2557 โดยได้กำหนดเงื่อนไข ผู้ที่จะได้รับแว่นสายตา ต้องเป็นประชาชนผู้ที่มีปัญหาทางสายตา จำเป็นต้องใช้แว่นสายตาช่วยในการมองเห็น หรือเป็นผู้ที่สมควรได้รับการสงเคราะห์ และจะต้องเป็นผู้ที่มาขอรับการบริการตรวจรักษารายใหม่เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ในการดูแลรักษาสุขภาพทางสายตา ให้แก่ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาทางสายตาและสมควรได้รับการสงเคราะห์ ให้ได้รับการตรวจรักษาประกอบแว่น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีปัญหาทางสายตาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และกลับไปมีโอกาสมองเห็นได้อย่างชัดเจนอีกครั้ง ตลอดจนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ คลินิกจักษุกรรม ของโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีลำปาง ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่ประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ แผนกจักษุกรรม โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีลำปาง ได้มีการเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 เป็นหน่วยให้บริการรักษาโรคตาทั่วไป และบริการผ่าตัดโรคทางตาต่างๆ เช่น โรคต้อหิน ซึ่งให้บริการโดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ปัจจุบันแผนกจักษุกรรม โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีลำปาง ได้มีการขยาย การให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงได้พัฒนาคุณภาพการพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดหาเครื่องมือตรวจรักษาโรคทางตาที่ทันสมัย อาทิ เครื่องตรวจจอประสาทตาโดยไม่ต้องขยายม่านตา, เครื่องวัดลานสายตาในผู้ป่วยโรคต้อหิน, เครื่องยิงเลเซอร์สำหรับโรคต้อหิน, เครื่องยิงเลเซอร์สำหรับโรคเบาหวานขึ้นตา และเครื่องยิงเลเซอร์สำหรับยิงถุงหุ้มเลนส์ที่ขุ่นมัวหลังการผ่าตัดต้อกระจก


ข่าวโดย : นายชาญณรงค์ ปันเต

เชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมโครงการเตรียมพร้อมการเกษียณอายุกับคณะพยาบาลศาสตร์ มช.

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการเตรียมพร้อมการเกษียณอายุประจำปี 2557 ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมีการอบรมจำนวน 4 รุ่น

รองศาสตราจารย์ ดร.เรมวล นันท์ศุภวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ศูนย์บริการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำหนดจัดโครงการเตรียมความพร้อมการเกษียณอายุ ประจำปี 2557 “คุณค่าของผู้สูงวัย ในวัยเกษียณ” ณ โรงแรมธาริน และ สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล จังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดจัดขึ้นรวม 4 รุ่น คือ รุ่นที่ 3 อบรมระหว่างวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2557 รุ่นที่ 4 ระหว่างวันที่ 22-25 กรกฎาคม 2557 รุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 18-21 สิงหาคม 2557 และรุ่นที่ 6 ระหว่างวันที่ 1 – 4 กันยายน 2557 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ ความเข้าใจในการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นองค์รวม ก่อนการเกษียณอายุ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณและสังคม และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทราบแนวทางปฏิบัติตนภายหลังเกษียณอายุ และสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้อย่างเหมาะสม เพื่อที่จะได้ดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข โดยมีการอบรม ฟังการบรรยายเรื่องต่าง ๆ และนอกจากนั้นยังได้กำหนดนำผู้เข้าร่วมโครงการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ ชมการแสดงของสัตว์ ณ ปางช้างแม่สา และคุ้มเสือ ชมสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วัดป่าดาราภิรมย์ เป็นต้น

สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมตามโครงการ ผู้เกษียณอายุ และผู้สนใจทั่วไป โดยในส่วนของข้าราชการสามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ตามระเบียบของทางราชการ และไม่ถือเป็นวันลา ผู้สนใจดาวน์โหลดใบสมัครได้ทาง www.nurse.cmu.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 053-946074 , 053949151


ข่าวโดย : กมลรัตน์ เพ็ชรแสนงาม

กกต.ลำปาง เชิญชวนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดและนอกราชอาณาจักร

นายสุคนธ์ เรือนสอน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ด้วยวาระของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มีนาคม 2557 ซึ่งจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาวุฒิสภาเป็นการทั่วไป ภายในวันที่ 30 วัน นับแต่วันที่ ครบวาระและจะมีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2557 ในการนี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด หรือ ลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงจังหวัดที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่ในจังหวัดอื่น นอกจากจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง หากประสงค์ขอใช้สิทธิลงแคะนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน ในจังหวัดที่ตนอยู่ หรือประสงค์เปลี่ยนแปลงให้ยื่นคำลงทะเบียนต่อนายอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนอยู่ด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์

และในกรณี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเดิมได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภานอกเขตจังหวัด และนอกราชอาณาจักรไว้ และเดินทางกลับมาอาศัยอยู่ ณ ถิ่นที่อยู่ซึ่งตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแล้ว หากประสงค์ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ณ หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ให้ยื่นคำขอยกเลิกการลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด และนอกราชอาณาจักรต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วยตนเอง หรือ ทางไปรษณีย์ หรือทำหนังสือมอบหมายให้ผู้มีสิทฺเลือกตั้งอื่น ดำเนินการแทน ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557


ข่าวโดย : ปัณธวัฒน์ ทวีพรจิรภาคย์

หัวหน้าผู้ตรวจราชการ และผู้ตรวจราชการกระทรวงต่างๆ ลงพื้นที่ จ.ลำปาง ตรวจติดตามงานโครงการนโยบายของรัฐบาล "ครัวไทยสู่ครัวโลก" และ "การดำเนินการก่อนเข้าสู่ AEC

นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 15 พร้อมด้วย หัวหน้าผู้ตรวจราชการ และผู้ตรวจราชการจากกระทรวงต่างๆ 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามนโยบายของรัฐบาล "ครัวไทยสู่ครัวโลก" และ "การดำเนินการก่อนเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ. 2558" ที่ ห้องประชุมเวียงละกอน ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง โดยมี นายฤทธิพงศ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวง และจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ และร่วมประชุมเสนอรายละเอียดแผนการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คณะผู้ตรวจราชการ ได้นำผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคในพื้นที่จังหวัดลำปาง นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้รับทราบ และพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป

โดยในการประชุม ทางจังหวัดลำปาง ได้มีการนำเสนอข้อมูลแนวทางการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีตัวชี้วัดจากส่วนกลางเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานตามความเหมาะสมในพื้นที่ โดยในนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก จังหวัดลำปาง มีแนวทางการดำเนินงาน ที่จะนำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งการผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ใน 5 โครงการใหญ่ๆ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน, โครงการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์, โครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก, โครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายเข้าสู่มาตรฐาน Primary GMP และโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก

ส่วนด้านการดำเนินการก่อนเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ. 2558 จังหวัดลำปาง ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ อาทิเช่น การพัฒนาด้านภาษาให้แก่บุคลากร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่, การจัดตั้งศูนย์กลางประสานงานอาเซียนที่รองรับการเป็นประชาคมอาเซียนทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน ด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รวมทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านอาเซียนของส่วนราชการต่างๆ ตลอดจนได้มีการเตรียมความพร้อมด้านการคมนาคมขนส่ง และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยได้ร่วมบูรณาการกับกลุ่มจังหวัดในภูมิภาค โดยมีแนวทางดำเนินการที่จะฟื้นฟูรักษาแหล่งท่องเที่ยวเดิม และปรับปรุงพัฒนาหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ นอกจากนี้ได้จัดเตรียมการพัฒนาศักยภาพ ทักษะฝีมือให้แก่แรงงานในจังหวัด และจัดเตรียมการด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมรองรับแรงงานต่างด้าว ที่จะหลั่งไหลเข้ามาใช้แรงงานในพื้นที่ เป็นต้น
โอกาสนี้ นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 15 พร้อมด้วย นายวิมล จำนงบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขต 15 ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน และรับทราบปัญหาของโครงการที่เกี่ยวข้อง กับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ ด้านสินค้าเกษตรปลอดภัยอินทรีย์ โดยได้เข้าเยี่ยมเกษตรกรผู้ร่วมโครงการ มาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ ที่ คะนึงนิตย์ฟาร์ม เลขที่ 34 หมู่ที่ 3 ตำบลใหม่พัฒนา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และได้เข้าเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรในโครงการ มาตรฐานฟาร์มโคนมและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ที่ สหกรณ์โคนมนครลำปาง จำกัด เลขที่ 84 หมู่ที่ 4 ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง โดยพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาแหล่งเงินทุน และยังขาดความรู้ด้านการเกษตรในกิจการที่ตนและกลุ่มกำลังประกอบการอยู่ ในการนี้ นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 15 ได้หมอบหมายให้นายอำเภอประจำท้องที่ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือจัดหาแหล่งเงินทุน และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ เข้าอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ทั้งเรื่องการใช้วัคซีน อาหาร การดูแลความสะอาด และการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ให้มากขึ้นแก่เกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเกิดความยั่งยืนและมั่นคงในอาชีพได้ต่อไป
ดูคลิป http://youtu.be/2onY90GGtds


ข่าวโดย : นายชาญณรงค์ ปันเต

จังหวัดลำปาง จัดสัมมนาเครือข่าย TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2557

(20 ก.พ.57) เช้าวันนี้ที่ ห้องประชุม วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครลำปาง นายฤทธิพงศ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดสัมมนาเครือข่าย To Be Number One จังหวัดลำปาง ประจำปี 2557 เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักต่อการป้องกันยาเสพติด มีการนำเสนอ และ การแสดงของ ชมรม TO BE NUMBER ONE แต่ละแห่ง และมีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน ของแต่ละชมรม โดยจังหวัดลำปางได้ดำเนินงานโครงการ To Be Number One มาตั้งแต่ปี 2546 ได้ผ่านการคัดเลือกเป็นจังหวัดตัวแทนภาคเหนือเข้าร่วมประกวด ระดับประเทศ 2 ครั้ง ในปีนี้มีชมรม เข้าร่วมประกวด 5 ชมรม ทั้งในสถานศึกษา ในชุมชนและในสถานประกอบการ

ที่ผ่านมา ชมรม To Be Number One โรงเรียนเถินวิทยา และบริษัท อินทราเซรามิค จำกัด ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าประกวดระดับประเทศ ด้วย นอกจากนี้สมาชิก To Be Number One ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวด To Be Number One dancecise thailand championship 2014 ระดับประเทศ และผ่านการคัดเลือก To Be Number One IDOL ระดับภาคเหนือ 1 คน ได้แก่ นายสกุลชัย น้อยเมือง จากวิทยาลัยเทคนิคลำปาง

ในโอกาสเดียวกันนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้เข้าร่วมการประกวด ได้แก่ ชมรม TO BE NUMBER ONE มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ,ศูนย์การเรียนรู้ปัญญาภิวัฒน์ลำปาง , โรงเรียนเถินวิทยา , บริษัทอินทราเซรามิค จำกัด , บ้านแป้นโป่งชัย ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม และ TO BE NUMBER ONE IDOL วิทยาลัยเทคนิค
ข่าวโดย : ปัณธวัฒน์ ทวีพรจิรภาคย์

รายงานพิเศษ พัฒนาเมือง พัฒนากาดกองต้าลำปาง

ชุมชนตลาดจีน หรือที่คนทั่วไปคุ้นเคยในชื่อ "กาดกองต้า" เป็นชุมชนตลาดเก่าแก่และมีชื่อเสียงของจังหวัดลำปางอีกแห่งหนึ่ง นับตั้งแต่อดีต สมัยที่ทางรถไฟยังไม่ถึงจังหวัดลำปาง ชุมชนแห่งนี้ถือเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าริมแม่น้ำวังที่คักคักและคับคั่งไปด้วยผู้คนจากหลายเชื้อชาติ ทั้งฝรั่ง จีน พม่า เวียดนาม อินเดีย และคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

ในปัจจุบันกาดกองต้า เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วไปเพราะเป็น ถนนคนเดิน ที่ผสมสานทางด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเรียบง่าย เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าพื้นเมืองที่หลากหลาย ในทุกเย็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ ความโดดเด่นของกาดกองต้า จังหวัดลำปาง ที่เห็นเป็นรูปธรรมเช่นชัด คือ สถาปัตยกรรมนานาชาติ เรือนโบราณ ที่มีตั้งอยู่ในย่านนั้นถึง 10 หลัง ทั้งเรือนไทยภาคกลาง เรือนล้านนา เรือนแบบจีน เรือนพม่า เรือนศิลปตะวันตก ที่มีความคลาสสิก และเก่าแก่สามารถดึงดูดสายตาผู้พบเห็น

พจนารถ พัฒนานุกูล รองประธานชุมชนกาดกองต้า เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมา 7 ปีชุมชนจัดการกันเอง โดยไม่เคยของบจากหน่วยหน่วยใด เมื่อเห็นว่ามีโครงการพัฒนาเมืองที่จะของบประมาณได้จึงทำประชาคมขอมติของชุมชน เสนอของบประมาณ 2 ล้านบาท ผ่านคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนากาดกองต้าให้ดีขึ้น โครงการพัฒนาเมืองเป็นโครงการที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการช่วยแก้ปัญหาและการพัฒนาชุมชนเมืองให้ตรงตามความพร้อมการของประชาชนในพื้นที่จริงๆ เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ประชาชน โดยประชาชนเสนอความต้องการของตัวเอง ทำอย่างไรให้ชุมชนเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองแห่งสุขภาพและแหล่งวัฒนธรรมชุมชน ช่วยเติมเต็มและลดช่องว่างในการเข้าถึงงบประมาณ

พจนารถ กล่าวว่า กิจกรรมที่เสนอของบประมาณคือ จะติดตั้งโคมสีล้านนาตามเสาไฟฟ้าตลอดสาย เพื่อให้เกิดความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน จัดให้มีการแสดงทางวัฒนธรรมทุกวัน พร้อมๆ กับทำการตลาดให้กาดกองต้าเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น บ้านสำคัญแต่ละหลังจะได้จัดทำแผนที่ภาพแสดงประวัติของตัวเองในรูปแบบเดียวกันหมด เพื่อนักท่องเที่ยวได้รู้ประวัติและความสำคัญของบ้านแต่ละหลัง

รองประธานชุมชนกาดกองต้า กล่าวว่า ในอนาคตอยากเห็นถนนคนเดินกาดกองต้าลำปาง ได้รับการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีกว่านี้ ที่ผ่านมาชุมชนจัดทำกันเอง จัดระเบียบ แก้ปัญหากันเอง หากได้รับงบประมาณที่ขอจากโครงการพัฒนาเมืองคิดว่าจะทำให้กาดกองต้าดีขึ้น สวยงามขึ้น คนรู้จักและมาเที่ยวมากขึ้นคนในชุมชนทั้งกาดกองต้าเหนือและใต้ก็จะได้ประโยชน์ รวมทั้งจังหวัดลำปางก็ได้รับประโยชน์นี้ด้วย


ข่าวโดย : อธิชัย ต้นกันยา

เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ร่วมกับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ กำหนดจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานเขตเมือง จำนวน ๑๐๐ คน ในวันศุกร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ หอประชุมอำเภอเมืองอุตรดิตถ์

นายสำราญ เอื้อจิรวาณิชย์ นายกเทศมนตรีเมืองอุตรดิตถ์ เปิดเยว่า ในเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ มี ๒๘ ชุมชน ซึ่งทุกครัวเรือนจะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานเขตเมือง (จปฐ.) สำหรับในวันศุกร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นี้จะเป็นการอบรมให้ความรู้แก่ผู้จัดเก็บข้อมูลในเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ทั้ง ๒๘ ชุมชน จำนวน ๑๐๐ คน และในวันที่ ๑ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗ ผู้จัดเก็บข้อมูลที่ผ่านการอบรมแล้วจะลงพื้นที่ในแต่ละชุมชนเพื่อจัดเก็บข้อมูลทุกครัวเรือน สำหรับข้อมูลพื้นฐานที่ได้มาจากการจัดเก็บครั้งนี้มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อการวางแผนในด้านการพัฒนาของหน่วยงาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อสนองต่อนโยบายการพัฒนารายได้ระดับครัวเรือนต่อไป และเพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานเขตเมืองเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์จึงขอความร่วมมือทุกท่านทุกครัวเรือน โปรดให้ความร่วมมือให้ข้อมูลพื้นฐานแก่ผู้จัดเก็บข้อมูลดังกล่าวด้วย



ข่าว/สุรีย์ แสงทอง 

จังหวัดอุตรดิตถ์ เตรียมจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลพื้นฐานในเขตเมือง ประจำปี ๒๕๕๗ เพื่อเป็นประโยชน์วางแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง

นายกุศล เกษประสิทธิ์ พัฒนาการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวในการเป็นประธานประชุมคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลพื้นฐานในเขตเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี ๒๕๕๗ เพื่อให้การจัดเจ็บข้อมูลฯเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง มีคุณภาพครบถ้วนทุกครัวเรือนและทุกหมู่บ้าน/ชุมชน และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาในทุกระดับ ได้แก่ แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาคและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกันเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและประโยชน์สูงสุขต่อประชาชนอย่างแท้จริง โดย ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาชุมชน รับผิดชอบจัดเก็บข้อมูล จปฐ.(เขตชนบท)รวมทั้งให้การสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานในเขตเองด้วย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งประสานให้ อปท.ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานในเขตเมืองทั้งหมด มีแนวทางการจัดเก็บ บันทึกและประมวลผลข้อมูล ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม เป้าหมายการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ในปี ๒๕๕๗ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน ๑๒๕,๙๐๕ ครัวเรือน แยกเป็นเขตชนบท ๑๐๐,๒๑๗ ครัวเรือน เขตเมือง จำนวน ๒๕,๖๘๘ ครัวเรือน

สำหรับผลการจัดเก็บข้อมูล บปฐ.ในปี ๒๕๕๖ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ผ่านมา จากการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมด ๙ อำเภอ ๖๔ ตำบล ๕๘๙ หมู่บ้าน จากจำนวนครัวเรือนที่อยู่จริง ๘๐,๓๑๕ ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด ๒๕๐,๕๕๕ คน แยกเป็นชาย ๑๒๒,๒๒๓ คน หญิง ๑๒๘,๓๓๒ คน พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี จำนวน ๖๘,๐๓๓ บาท คิดเป็นร้อยละ ๘.๐๑ เพิ่มจากปี ๕๕ จำนวน ๕,๔๕๑ บาท ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. จำนวน ๔๖๕ ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ ๐.๕๘ ส่วนตัวชี้วัดที่ไม่บรรลุเป้าหมาย ๕ อันดับแรก ได้แก่ เด็กจบการศึกษาบังคับ ๙ ปี ที่ไม่ได้เรียนต่อและยังไม่มีงานทำ ได้รับการฝึกอบรมอาชีพ ตกเกณฑ์จำนวน ๑๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๐.๐๐,คนในครัวเรือนไม่ดื่มสุรา(ยกเว้นการดื่มเป็นครั้งคราว)ตกเกณฑ์จำนวน ๑๘,๖๓๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๗.๔๔, คนในครัวเรือนไม่สูบบุหรี่ ตกเกณฑ์จำนวน ๑๘,๑๗๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๗.๒๕,คนอายุมากกว่า ๖๐ ปีเต็มขึ้นไปมีอาชีพและมีรายได้ ตกเกณฑ์จำนวน ๒,๗๗๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๖.๕ และเด็กแรกเกิดได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย ๖ เดือนแรกติดต่อกัน ตกเกณฑ์จำนวน ๖๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๔.๓ นอกจากนี้ในระดับความสุขเฉลี่ย พบว่าอำเภอที่มีความสุขมากที่สุดจากมากไปหาน้อยตามลำดับ ได้แก่ อำเภอน้ำปาด (๘.๗๑ ) อำเภอท่าปลา (๘.๖) อำเภอฟากท่า (๘.๔๕) อำเภอตรอน (๘.๔๑) อำเภอ ทองแสนขัน (๘.๒๒) อำเภอพิชัย (๘.๐๑) อำเภอเมือง (๗.๗๕) อำเภอลับแล(๗.๓๕) และอำเภอบ้านโคก (๕.๔๗)

ส่วนผลการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.๒ค) ประจำปี ๒๕๕๖ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวนหมู่บ้านที่สำรวจทั้งหมด ๕๙๓ หมู่บ้าน จำนวน ๘๓,๒๑๕ ครัวเรือน จำนวนราษฎร ๒๖๑,๒๘๐ คน มีหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับสอง(ปานกลาง) จำนวน ๗๔ หมู่บ้าน และหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับสาม(ก้าวหนา) จำนวน ๕๑๙ หมู่บ้าน หมู่บ้านที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับการศึกษาของประชาชน จำนวน ๓๒๔ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๕๔.๖๔ คุณภาพน้ำ จำนวน ๒๐๔ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๓๔.๔๐ การได้รับการศึกษา จำนวน ๑๙๑ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๓๒.๒๑ การเรียนรู้โดยชุมชน จำนวน ๑๗๔ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๒๙.๓๔ และการกีฬา จำนวน ๑๒๕ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๒๑.๐๘


ข่าว/สุรีย์ แสงทอง 

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต ๑๗ ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ และการดำเนินการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต ๑๗ ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ และ การดำเนินการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

วันนี้ (๒๐ ก.พ.๕๗) ที่ห้องประชุมศิลาอาสน์ ชั้น ๕ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวอัมพวัน เจริญกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต ๑๗ พร้อมคณะฯ เดินทางมายังจังหวัดอุตรดิตถ์ ในการประชุมตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ได้แก่ นโยบายสนับสนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ คือ ครัวไทยสู่ครัวโลก โดยจังหวัดอุตรดิตถ์มีโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (ด้านพืช) โครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารของโลก โครงการส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ โครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายเข้าสู่มาตรฐาน Primary GMP นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ.๒๕๕๘ ได้แก่ นโยบายการท่องเที่ยวและบริการ โลจิสติกส์ การเผบแพร่ประชาสัมพันธ์และพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ แรงงาน สาธารณสุข เป็นต้น

ในการนี้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ต่าง ๆ เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งให้มีการเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้ภาคการเกษตรเข้ามาทำการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ส่งเสริมเพื่อให้มีปริมาณการผลิตเพียงพอต่อการตลาด ตลอดจนการลงทุนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างเส้นทางสู่ สปป.ลาว จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ซึ่งจะต้องมีการเสนอให้กับส่วนกลางมีการช่วยผลักดันด้วยอีกทางหนึ่ง

ส่วนช่วงบ่าย มีการติดตามงานตามแผนพัฒนาจังหวัดในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ๒ แห่ง คือ โครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานด้านพืช ณ สวนมะปราง นายสมาน จันทร์ดี ต.น้ำริด และโครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายเข้าสู่มาตรฐาน Primary GMP ณ บ้านบัวหลวง ต.ท่าเสา อ.เมือง



ข่าว/สุรีย์ แสงทอง 

ผู้อำนวยการสำนักประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ตรวจเยี่ยม โครงการทดลองหมู่บ้านประมง บ้านห้วยเจริญ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ผู้อำนวยการสำนักประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ตรวจเยี่ยม โครงการทดลองหมู่บ้านประมง บ้านห้วยเจริญ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายวรพจน์ วรพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์-บริหาร พร้อมด้วยพลตรีธัญญพรหม อัศวจินดา ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ ให้การต้อนรับพลเอกสถิต แจ่มจำรัส ผู้อำนวยการสำนักประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคงกองทัพบก และคณะ ในโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงการทดลองหมู่บ้านประมง บ้านห้วยเจริญ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โอกาสนี้พลตรีธัญญพรหม อัศวจินดา ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ ได้ให้ข้อมูลโครงการ ทดลองฯ ผลการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรค ณ ห้องมณีน่าน ร้านอาหารระเบียงน่านเขื่อนสิริกิติ์ โดยมีนายสุธน ขุนทอง หัวหน้ากลุ่มงานนันทนาการเขื่อนสิริกิติ์ ผู้แทนเขื่อนสิริกิติ์ และผู้แทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เข้าร่วมรับฟังด้วย จากนั้น ทางคณะได้เดินทางโดยเรือ ไปตรวจเยี่ยมราษฎรที่อยู่ในโครงการทดลองฯ พร้อมทั้งได้มอบผ้าห่มเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับราษฎร และกำลังพลที่อาศัยอยู่ในโครงการฯด้วย

เขื่อนสิริกิติ์ จัดอบรมหลักสูตร “ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน”

เขื่อนสิริกิติ์ จัดอบรมหลักสูตร "ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” เขื่อนสิริกิติ์ จัดอบรมหลักสูตร "ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” รุ่นที่ ๑/๒๕๕๗ ให้กับผู้ปฏิบัติงาน และลูกจ้าง จำนวน ๕๖ คน โดยมี นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์-ปฏิบัติการ เป็นประธานเปิดการอบรม มี นายสมชาย กันทวงศ์ หัวหน้าแผนกความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมอาคารประชาสัมพันธ์เขื่อนสิริกิติ์ นายประเสริฐ อินทับ (ช.อขส-ป.) กล่าวในพิธีเปิดว่า การอบรมในครั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๑๖ กำหนดให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงลูกจ้างที่เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์

ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขอนามัย ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนเริ่มงาน ขอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านให้ความสนใจกับเนื้อหาในหลักสูตร เพื่อจะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในหน่วยงาน ซึ่งได้กำหนดการอบรมขึ้น จำนวน ๒ รุ่น ระยะเวลาในการอบรม รุ่นละ ๑ วัน ได้แก่ รุ่นที่ ๑ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ และรุ่นที่ ๒ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยมีวิทยากรจากแผนก หปอส-ฟ. มาบรรยายให้ความรู้ ดังนี้นายสมชาย กันทวงศ์ หปอส-ฟ. เรื่อง กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน นายสุวรรณ หมู่เฮง ช่างระดับ ๗ เรื่อง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และนางสาวพัชราภรณ์ ยองเพชร นักวิทยาศาสตร์ระดับ ๔ เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานและลูกจ้างของเขื่อนสิริกิติ์ มีความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย และเป็นโรคจากการทำงาน

โครงการจัดซื้อน้ำยาตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติดในกลุ่มเสี่ยงของประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปีงบประมาณ 2557

องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ร่วมกับศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดอุตรดิตถ์ (ศพส.จ.อต.) ได้กำหนดจัดทำโครงการจัดซื้อน้ำยาตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติดในกลุ่มเสี่ยงของประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปีงบประมาณ 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรณรงค์ป้องกันปัญหายาเสพติดในกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้เยาวชนก่อนวัยเสี่ยงและวัยเสี่ยงได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด และเพิ่มภูมิคุ้มกันยาเสพติดและเพื่อเป็นการควบคุมพื้นที่เสี่ยงไม่ให้ขยายเพิ่มขึ้น โดยการจัดซื้อน้ำยาตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติดจำนวน 20,000 ชุด รวมเป็นเงิน 310,000 บาทโดยนายชลิต ธนวัฒน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์(1) นายสมชาย ไชยพันธุ์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ นายชลาวุธ บุญเกตุ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ นายดำรงค์ ทองศรี รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด มอบชุดน้ำยาตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติดในกลุ่มเสี่ยงของประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้กับ ศพส.จ.อต. โดยนายวีรชัย ภู่เพียงใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นผู้รับมอบตามโครงการดังกล่าวฯ

นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ยังได้ร่วมกับโรงเรียนน้ำปาดชนูปถัมภ์ จัดโครงการฝึกอบรมการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนน้ำปาดชนูปถัมภ์ เพื่อสร้างกระแสนิยมและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจในกลุ่มเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เฝ้าระวังในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ไม่ให้เป็นแหล่งมั่วสุม และลดการแพร่ระบาดของยาเสพติด ลดจำนวนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ในกลุ่มเสี่ยง โดยการอบรมบำบัดรักษาฟื้นฟู ผู้ที่เสพ/ผู้ติดยาเสพติดหรือกลุ่มเสี่ยงที่สมัครใจหรือกึ่งสมัครใจ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มประชาชนและเยาวชนทั่วไป ตลอดจนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาองค์ความรู้ของเยาวชนและประชาชนในจังหวัดอุตรดิตถ์

องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ จัดโครงการสัมมนาการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

เพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาการ สร้างประสบการณ์ทางการศึกษา เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เสริมทักษะในการใช้กระบวนการวิจัยและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่เป็นความรู้ใหม่นำไปประยุกต์ในการเพิ่มทักษะวิชา และแก้ไขปัญหาอย่างสมเหตุสมผลถูกต้องตามหลักวิชาการ นายสมชาย ไชยพันธ์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษา จึงได้บูรณาการร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ โดยการสัมมนาเพื่อเสริมสร้างทักษะทางวิชาการ และสร้างศักยภาพการจัดการศึกษาให้มีความพร้อมตลอดจนประสานสร้างองค์ความรู้ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประขาคมอาเซียนในระดับการศึกษา จึงได้จัดทำโครงการสัมมนาการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขึ้น

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามการดำเนินงานนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ที่ห้องประชุมจามเทวี ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายสุวรรณ กล่าวสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 15 ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งมีโครงการในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ประกอบด้วย โครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ด้านพืช ของสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน โครงการส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูนและสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน โครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูนและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน โครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะ พร้อมจำหน่ายเข้าสู่มาตรฐาน PRIMARY GMP ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน และโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน นอกจากนี้ ยังมีการติดตามการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ใน 5 จุดเน้น ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ด้านโลจิสติกส์ ด้านแรงงาน และเรื่องสาธารณสุข พร้อมตรวจติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้ง การบริหารงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ.2557



ข่าวโดย : ชาลิสา วัฒนะโชติ 

ทต.ริมปิง จัดแข่งขันกีฬาเยาวชนและประชาชนต้านภัยยาเสพติด ครั้งที่ 11

ทต.ริมปิง จัดแข่งขันกีฬาเยาวชนและประชาชนต้านภัยยาเสพติด ครั้งที่ 11 เสริมสร้างความสามัคคีและสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน

เทศบาลตำบลริมปิง นำโดย นายเอนก มหาเกียรติคุณ นายกเทศมนตรีตำบลริมปิง จัดโครงการกีฬาเยาวชนและประชาชนต้านภัยยาเสพติด ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 ที่สนามกีฬาเทศบาลตำบลริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในตำบลริมปิงใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หันมาสนใจเล่นกีฬา เสริมสร้างสุขภาพพลานามัยให้แข็งแรง มีระเบียบวินัย รู้จักเคารพกฎกติกา มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีและสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน โดยได้รับเกียรติ จาก นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน การแข่งขันกีฬามีหลายประเภท ประกอบด้วย เปตอง ตีกอล์ฟมะเขือยาว เตะปิ๊บ กรอกน้ำใส่ขวด วอลเลย์บอลน้ำ วิ่งผลัดกระสอบ วิ่งผลัดซุปเปอร์แมน/ซุปเปอร์เกิร์ล วิ่งผลัดกันเสียบ อุ้มไข่มังกรผสม กล่องดำความจำผสม ยิงหนังสติ๊กชาย ปากระป๋องชาย และกีฬาแชร์บอล เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาและชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลริมปิง การจัดแข่งขันกีฬาในครั้งนี้มีทัพนักกีฬาจากทั้ง 10 หมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลริมปิงเข้าร่วมการแข่งขัน บรรยากาศการแข่งขันเต็มไปด้วยความสนุกสนาน


ข่าวโดย : ชาลิสา วัฒนะโชติ

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์ที่สวนพุทธธรรม อ.เมืองลำพูน

บ่ายวันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2557) นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ไปเยี่ยมชมแปลงปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ที่สวนพุทธธรรม ของมูลนิธิสวนพุทธธรรม ต.หนองหนาม อ.เมืองลำพูน ซึ่งเป็นการดำเนินงานของภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาล

มูลนิธิสวนพุทธธรรม ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพุทธศาสนิกชนให้เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของอุบาสกอุบาสิกาที่ดี มีความเสียสละ มุ่งปฏิบัติธรรมตามแนวทางสู่อาริยชน เพื่อทำนุบำรุงและจรรโลงพระพุทธศาสนา และเกื้อกูลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยวิถีชีวิตที่พอเพียงตามแนวทางพุทธธรรม สำหรับการปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษและไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 แล้ว นับตั้งแต่ได้รับการบริจาคที่ดินเพื่อสร้างสวนพุทธธรรม โดยมีการปลูกพืชผักสำหรับปรุงอาหารรับประทานหลายชนิดโดยเฉพาะกลุ่มพืชผักสลัด ข้าวโพด ฟักทอง พริก มะเขือเทศ ซึ่งเป็นแบบอย่างของระบบเกษตรอินทรีย์และเป็นที่ศึกษาฝึกอบรมของเกษตรกรด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความชื่นชมการดำเนินงานของมูลนิธิสวนพุทธธรรมที่ได้ส่งเสริมพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสถานที่ฝึกอบรมปฏิบัติธรรมและปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ไว้รับประทาน และเป็นที่ศึกษาดูงานของเกษตรกรผู้สนใจ นับเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาลด้วย



ข่าวโดย : เชาวรินทร์ สอนปาละ

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีติดตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกที่จังหวัดลำพูน

เช้าวันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2557) ที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 15 ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่จังหวัดลำพูน เกี่ยวกับนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก, การดำเนินการก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 และติดตามผลตามแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยนายสุวรรณ กล่าวสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้นำหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบสรุปได้ ดังนี้

การดำเนินงานตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ได้มุ่งพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรด้านพืชสู่มาตรฐาน, ส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์, การฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารไทย รอบรับครัวไทยสู่ครัวโลก การพัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะ พร้อมจำหน่ายสู่มาตรฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพ ส่วนการดำเนินการก่นเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนมุ่งเน้น 5 ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว และบริหาร ด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ด้านโลจิสติกส์ การขนส่งขนาดใหญ่ด้านแรงงาน และด้านการสาธารณสุข

ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนงานแต่ละด้าน ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกจังหวัดลำพูน จะต้องค้นหาสินค้าเด่น ของจังหวัด เพื่อพัฒนาสู่ตลาดโลก รวมทั้งสินค้าเด่นของกลุ่มจังหวัดและพัฒนาด้านผู้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะพ่อครัว แม่ครัว และพนักงานบริการในร้านอาหารให้ได้มาตรฐานด้วย ด้านการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้เฝ้าระวังปัญหาด้านสาธรณสุข โดยเฉพาะโรคต่าง ๆ ที่มากับแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานผู้ป่วยโรคติดต่อจะต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ตอนบ่ายวันเดียววันนี้ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะได้ไปเยี่ยมชมการปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษและไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ที่สวนพุทธธรรม อ.เมืองลำพูน


ข่าวโดย : เชาวรินทร์ สอนปาละ

องคมนตรี เป็นประธานงานวันรำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อ ประจำปี 2557

วันนี้ (20 ก.พ.57) ที่บริเวณอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานในงานวันรำลึกวีรกรรมผู้เสียสะเขาค้อ มี ตำรวจทหาร ข้าราชการพลเรือน ราษฎรอาสา และประชาชน กว่า 500 คน ร่วมงาน พล.ท.นิวัติชัย ถนอมธรรม ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 กล่าวรายงาน

อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่วีรชนผู้กล้าหาร และเสียสละ อันได้แก่ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งผนึกกำลังต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ถึง พ.ศ. 2525 อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ สร้างด้วยหินอ่อนรูปทรงสามเหลี่ยม ทุกตารางนิ้วของอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อที่สร้างขึ้น ทั้งความกว้าง ยาว สูง และรูปทรง ล้วนแล้วแต่มีความหมายทั้งสิ้น รูปทรงสามเหลี่ยม หมายถึง การปฏิบัติการร่วมกัน ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร ฐานอนุสรณ์สถานกว้าง 11 เมตร หมายถึง พ.ศ.2511 อันเป็นปีที่เริ่มการปฏิบัติการรุนแรงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ นี้ ความสูงของแท่นบูชาถึงยอดอนุสรณ์สถาน 24 เมตร หมายถึง พ.ศ. 2524 อันเป็นปีที่เปิดยุทธการครั้งใหญ่ ความสูงจากฐานถึงยอดอนุสรณ์สถาน 25 เมตร หมายถึง พ.ศ. 2525 อันเป็นปีที่สิ้นสุดการต่อสู้ด้วยอาวุธ ความกว้างของฐานสามเหลี่ยม ด้านละ 2.6 เมตร หมายถึง พ.ศ. 2526 อันเป็นปีที่เริ่มการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้

กิจกรรมในงานวันรำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อ ประจำปี 2557 วันนี้ มีพิธีวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่านักรบผู้กล้า พิธีสงฆ์ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ มีข้าราชการทหาร ตำรวจ อดีตนักรบผู้กล้าและครอบครัว ญาติพี่น้องของเหล่าวีรชน เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง

จังหวัดเพชรบูรณ์เตรียมความพร้อมรองรับกองทัพนักกีฬาจากทั่วประเทศ จัดการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมืองมะขามหวานเกมส์ ปี 2557

จังหวัดเพชรบูรณ์เตรียมความพร้อมรองรับกองทัพนักกีฬาจากทั่วประเทศ จัดการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมืองมะขามหวานเกมส์ ปี 2557

วันนี้ (20 ก.พ.57) เวลา 09.30 น. จังหวัดเพชรบูรณ์จัดการประชุมคณะทำงานเตรียมการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมืองมะขามหวานเกมส์ ประจำปี 2557 โดยมีนายคณีธิป บุณยเกตุ รอง ผวจ.เพชรบูรณ์ เป็นประธาน ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารวิทยบริการ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตเพชรบูรณ์

ขณะนี้ทางจังหวัดเพชรบูรณ์มีความพร้อมในการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมืองมะขามหวานเกมส์ ทั้งในเรื่องของกำหนดการพิธีเปิด – ปิด งานกีฬาฯ,งบประมาณจัดการแข่งขัน,การมอบหมายงานให้กับผู้ประสานงานแต่ละชนิดกีฬา,สถานที่การแข่งขัน,ที่พักนักกีฬา,อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดเตรียมไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับชนิดกีฬาที่จัดการแข่งขันในครั้งนี้ มี 11 ชนิด ได้แก่ กรีฑา โกลบอล เซปักตะกร้อ เทเบิลเทนนิส วอลเลย์บอลในร่ม วอลเลย์บอลชายหาด เปตอง แบดมินตัน ฟุตซอล บอคเซีย และว่ายน้ำ การแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 6 มี.ค. 2557 นี้

ชาวเขาเผ่าม้ง ชุมนุมหน้าศาลากลาง เรียกร้องที่ดินทำกิน

กลุ่มผู้ชุมนุมชาวเขาเผ่าม้ง จาก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดหนองบัวลำพู และจังหวัดเพชรบูรณ์ มารวมตัวกันที่ หน้าศลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 400 คน

วันนี้ (20 ก.พ.57) เวลาประมาณ 14.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้ นายสุชาติ ราษฎร์ดุษดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเจรจากับชาวเขาเผ่าม้ง โดยมีนายสังวาล พันธุ์ทาโฮม พร้อมด้วยตัวแทนชาวเขาเผ่าม้งจำนวน 30 คน ในเรื่องปัญหาความเดือดร้อนที่ดินทำกิน ในเขตพื้นที่ อำเภอเขาค้อ บ้านเข็กน้อย อำเภอหล่มเก่า บ้านทับเบิก อำเภอเมือง บ้านเล่านะ บ้านเล่ารือ บ้านเล่าเน้ง ห้วยน้ำขุ่น ห้วยน้ำแจง ที่กำลังประสบปัญหาไม่มีที่ทำกินของตัวเองในขณะนี้ ทางผู้ชุมนุมต้องการทราบถึงความคืบหน้าของการจัดสรรที่ดินทำกินว่าดำเนินการถึงขั้นตอนไหนแล้ว ซึ่งปัญหาที่ดินดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 38 จังหวัดเพชรบูรณ์

โดยนางนิภารัตน์ ประพฤติ ผอ.ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 38 จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ชี้แจงกับตัวแทนชาวเขาเผ่าม้งว่ขณะนี้ทางศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 38 กำลังดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหา โดยจะจัดประชุมคณะกรรมการที่แต่งตั้งให้รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด

ด้านนายสุชาติ ราษฎร์ดุษดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวกับชาวเขาเผ่าม้งว่า ทางจังหวัดจะเร่งตรวจสอบ และติดตามเรื่อง พร้อมทั้งหาวิธีแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชนชาวเขาอย่างเป็นธรรม

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต 17 และคณะตรวจติดตามประเมินผลโครงการตามนโยบายสนับสนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2557 ในรอบที่ 1 ที่จังหวัดพิษณุโลก

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต 17 และคณะตรวจติดตามประเมินผลโครงการตามนโยบายสนับสนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ และการดำเนินการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ประจำปีงบประมาณ 2557 ในรอบที่ 1 ที่จังหวัดพิษณุโลก

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 741 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นางสาวอัมพวัน เจริญกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 17 และคณะเดินทางมาตรวจติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามโครงการนโยบายสนับสนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ และการดำเนินการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปีงบประมาณ 2557 ในรอบที่ 1 ของจังหวัดพิษณุโลก โดยมีนายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดพิษณุโลกให้การต้อนรับ ทั้งนี้ในที่ประชุมโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ใน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานด้านพืช โครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารโลก โครงการพัฒนาส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ และโครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายเข้าสู่มาตรฐาน Primary GMP และการดำเนินการก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ด้านโลจิสติกส์ ด้านการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการ ด้านแรงงาน และด้านสาธารณสุข เป็นต้น จากนั้นในเวลา 13.00 น. ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต 17 และคณะได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของแขวงการทางพิษณุโลกในการก่อสร้างขยายผิวการจราจรจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจรพร้อมขยายเกาะกลางถนน บนถนนทางหลวงหมายเลข 12 ตอนพิษณุโลก –ร้องโพธิ์ ระหว่างกิโลเมตรที่ 234+767 ถึงกิโลเมตรที่ 236+600 ตามโครงการพัฒนาระบบขนส่งและการกระจายสินค้า บริการกลุ่มจังหวัด ระยะทาง 1.88 กิโลเมตร งบประมาณในการก่อสร้าง 39 ล้านบาทเศษ

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 17 กล่าวว่า ในการดำเนินการด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะโครงการขยายถนนและการเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดที่มีชายแดนซึ่งพบว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินงานแล้วเสร็จไปหลายส่วนแต่สิ่งที่ได้เสนอเพื่อให้มีการดำเนินการไปพร้อมกันคือการปรับภูมิทัศน์ให้จังหวัดพิษณุโลกมีจุดขายมากขึ้น เช่นการปลูกต้นไม้ตามเส้นทางเพื่อ สร้างความร่มรื่น หรือสร้างอัตลักษณ์ด้วยบรรยากาศของแมกไม้ด้วยความสดใสตลอดเส้นทางเพื่อให้เกิดความประทับใจ ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยการนำภาคประชาสังคมภาคเอกชน เข้ามาร่วมได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในประชาชนเองด้วย จากนั้นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 17 พร้อมคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษที่หมู่ที่ 8 ตำบลบึงพระ จังหวัดพิษณุโลก พร้อมกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าจังหวัดพิษณุโลกสามารถดำเนินการโครงการต่างไปได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่จะทำให้เกษตรมีความปลอดภัยอีกทั้งยังได้มาพบเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จสามารถดำเนินการเป็นเกษตรปลอดภัยอย่างครบวงจรซึ่งจะเป็นตัวอย่างและสามารถประกาศเป็นนโยบายของจังหวัดได้ในอนาคตในขณะเดียวกันก็จะเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเนื่องจากจังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สำคัญจะเกิดการผลักดันอย่างสอดคล้องและเกิดความยั่งยืนตามมา

ทหารกองทัพภาคที่ 3 จัดพิธีรับศพทหารกล้า ที่เสียชีวิต จากการปฏิบัติหน้าที่ 3 จังหวัดแดนใต้ เพื่อนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลภูมิลำเนา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

เมื่อเวลา 14.30 น.ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ที่กองบิน46 เหล่าข้าราชการทหารกองทัพภาคที่ 3 พร้อมด้วยกองทหารเกียรติยศ และประชาชน ร่วมประกอบพิธีรับศพอาสาสมัครทหารพรานตั้งพงษ์ ภาพันธ์ อายุ 25 ปี เจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัด ร้อย ทพ.4808 กรมทหารพรานที่ 48 ที่เสียชีวิต จากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดริมถนนในหมู่บ้านบาโงดุดุง หมู่ที่ 6 ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เหตุเกิดในช่วงหลังของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557ที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารพรานจำนวน 12 นาย นั่งรถ จักรยานยนต์ 3 คัน และเดินเท้า 6 นาย เสร็จสิ้นจากปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยครู ได้เดินทางกลับฐานซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงที่เกิดเหตุคนร้ายได้ใช้วิทยุสื่อสารจุดชนวนระเบิดที่ลอบนำไปวางไว้ริมโคนเสาไฟฟ้า จนเกิดระเบิดขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารทั้ง 3 นาย ขี่รถจักรยานยนต์ผ่าน ทำให้ อส.ทพ.ตั้งพงษ์ ภาพันธ์ เสียชีวิต โดยศพอาสาสมัครทหารพรานตั้งพงษ์ ภาพันธ์ จะนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดไดน้ำขุน ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นก็จะทำการฌาปนกิจศพต่อไป

จังหวัดพิษณุโลกน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ ได้พระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อชี้แนะแนวทางการดำรงชีวิตของประชาชนให้เป็นรากฐานของชีวิตและเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของแผ่นดิน

จังหวัดพิษณุโลกน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ ได้พระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อชี้แนะแนวทางการดำรงชีวิตของประชาชนให้เป็นรากฐานของชีวิตและเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของแผ่นดิน เพื่อให้ประเทศและประชาชนให้อยู่ได้ในท่ามกลางกระแส ความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างมีภูมิคุ้มกัน

นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเปิดเผยว่าท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และกระแสบริโภคนิยมได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ของประเทศไทยในปัจจุบัน และได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งตนเอง ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน และประเทศ อย่างกว้างขวางทั้งในทางที่ดี และทางร้าย ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปตามสภาพดังกล่าวย่อมส่งผลเสียต่อประชาชนและประเทศอย่างแน่นอน จังหวัดพิษณุโลกจึงได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อชี้แนะแนวทางการดำรงชีวิตของประชาชนให้เป็นรากฐานของชีวิตและเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของแผ่นดิน เพื่อให้ประเทศและประชาชนอยู่ได้ในท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างมีภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมิได้มีความหมายหรือเป็นการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการการดำเนินชีวิตทั้งในมิติเชิงสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อย่างผสมกลมกลืน เช่น การผลิตแบบเกษตรทฤษฎีใหม่หรือเกษตรผสมผสานแล้วตีความว่าเป็นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยที่จริงแล้วการผลิตแบบเกษตรทฤษฎีใหม่หรือเกษตรผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ซึ่งยังคงต้องมีองค์ประกอบด้านอื่นๆ ด้วย ปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงจึงมีความหมายครอบคลุมไปถึงความรู้ ทัศนคติ คุณธรรม และพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นไปอย่างพอประมาณเหมาะสมแก่ตนและสังคม มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตครอบคลุมทุกมิติของชีวิต ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นวิถีชีวิตของชาวพิษณุโลก มีผลในทางปฏิบัติ จึงขอประกาศเจตนารมณ์จังหวัดพิษณุโลก ดังนี้ ๑. การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นวิถีชีวิตนั้น เป็นการถวายพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอเนกอนันต์ต่อประชาชนชนชาวไทยและชาวพิษณุโลก ๒. จังหวัดพิษณุโลกขอน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นวาระสำคัญของจังหวัด และประชาชนชาวพิษณุโลก ๓. ขอให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน องค์กรต่างๆ ได้ร่วมมือร่วมใจน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลดีต่อการดำรงชีวิต ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน/หมู่บ้าน องค์กร และจังหวัดพิษณุโลกต่อไป

จัดหางานจังหวัดพิษณุโลกจัดงานนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพที่มหาวิทยาลัยนเรศวร มีสถานประกอบการเข้าร่วม 50 แห่งตำแหน่งงานว่างกว่า 5,000 อัตรา

เช้าวันนี้ ( 20 ก.พ.57 ) ที่อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกนายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานในพิธีเปิดงานนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดพิษณุโลกร่วมกับ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นจังหวัดเครือข่ายจัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน การขาดแคลนแรงงาน และส่งเสริมให้ประชาชนวัยทำงานได้มีงานทำอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT ซึ่งจะทำให้ผู้สมัครงานและนายจ้างได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายได้มาก เป็นการเพิ่มโอกาสในการมีงานทำแก่ประชาชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสามารถดำเนินการลงทะเบียนสมัครงาน หรือประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานล่วงหน้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตให้บริการได้ครอบคลุมทั่วทั้งกลุ่มจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง 

สำหรับการจัดงานนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพในครั้งนี้กำหนดจัดขึ้น 2 วัน ในระหว่างวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2557 กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดอบรมให้เความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสมัครงาน การสัมภาษณ์งานแก่ผู้สนใจ จำนวน 100 คน กิจกรรมนัดพบแรงงานคุณภาพด้วยระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์จากสถานประกอบการที่เข้าร่วมจำนวน 50 แห่ง มีตำแหน่งงานว่างกว่า 5,000 อัตรา การสาธิตอาชีพและทดลองปฎิบัติอาชีพอิสระ 20 อาชีพ การับงานสู่บ้านเพิ่มรายได้ในครัวเรือน การจัดแสดงนิทรรศการอาชีพในประเทศประชาคมอาเซียน การทดสอบความพร้อมภาษาอังกฤษและอาชีพเพื่อการสมัครงาน คลินิกแรงงาน การให้คำปรึกษาทางอาชีพ แหล่งเงินทุน ตอบปัญหาอาชีพชิงรางวัลและกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกันแจกจ่ายน้ำให้ประชาชนในหลายหมู่บ้านที่เริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากภัยแล้งคุมคามอย่างหนัก

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกันแจกจ่ายน้ำให้ประชาชนในหลายหมู่บ้านที่เริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากภัยแล้งคุมคามอย่างหนัก

เช้าวันนี้( 20 ก.พ.) หลังจากในหลายพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกยังคงประสบปัญหาจากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ยังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเมื่อช่วงเช้านี้ ในหลายพื้นที่ของ จ.พิษณุโลก จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ก็ได้แค่ช่วยให้คลายร้อนเท่านั้น ซึ่งล่าสุดทางองค์การบริหารส่วนตำบลดินทอง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลชัยนาม และองค์การบริหารส่วนตำบลวังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก นำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค จำนวน 120,000 ลิตร ให้กับประชาชนในพื้นที่ หมู่ 6 บ้านซำบอน ต.ชัยนาม และ หมู่ 10 บ้านเขาหนองกบ ต.ดินทอง จำนวนกว่า 100 หลังคาเรือน เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม และน้ำใช้มานานนับเดือน เนื่องจากน้ำประปาหมู่บ้านผลิตน้ำแจกจ่ายให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ทัน และแหล่งน้ำต่างๆ เริ่มแห้งขอด ด้าน นายสรายุทธ สอนไวย อายุ 52 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ ที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์ภัยแล้ง กล่าวว่า ตนเองได้ซื้อโอ่งยักษ์ขนาดความจุ 500 ลิตร มาเตรียมใส่น้ำรอไว้ตั้งแต่ช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา จำนวน 10 ใบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค เนื่องจากภัยแล้งปีนี้มาเร็วกว่าปกติ น้ำบาดาลที่อยู่ในดินเริ่มแห้งหายไป ทำให้แท็งค์น้ำประปาหมู่บ้านไม่สามารถดึงน้ำขึ้นมาใช้แจกจ่ายไปยังบ้านเรือนได้ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ชาวบ้านในพื้นที่จึงต้องประสานขอความช่วยเหลือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อน้ำรถบรรทุกน้ำออกช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก จัดอบรมเพื่อเสริมพลังความรู้แก่คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร

พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก จัดอบรมเพื่อเสริมพลังความรู้แก่คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้รับทราบถึงบทบาท และพัฒนาต่อยอด สู่ชุมชนและสังคมต่อไป

เมื่อเวลา 9.00 น . วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ที่โรงแรมเรือนแพ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นาย วิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดการอบรมเพื่อเสริมพลังความรู้แก่คณะทำงาน ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากร ให้รับทราบถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง และสามารถนำไปต่อยอด สู่ชุมชนและสังคมในแต่ละพื้นที่ได้ต่อไป อันนำไปสู่การเตรียมความพร้อม รับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่ใกล้จะถึงนี้ ด้าน นาง กัญญ์ฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ตามที่สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้สนับสนุนการดำเนินงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนในพื้นที่ 76 จังหวัด และได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน มาตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 6,795 ศูนย์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการรวมตัวของคนในชุมชน ที่มาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ ตลอดจนอาสาสมัครมาร่วมกันในการ ดูแลป้องกัน เฝ้าระวัง และจัดกิจกรรมสำหรับครอบครัวในชุมชน โดยให้มีการบริหารจัดการในรูปแบบของ คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน มีเครือข่ายครอบครัวในชุมชน หมู่บ้านเป็นสมาชิก และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาล ในด้านวิชาการและงบประมาณ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นผู้ประสานงานและเป็นพี่เลี้ยง สำหรับจังหวัดพิษณุโลก ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนขึ้นครั้งแรกในปี 2547 ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 80 ศูนย์

สโมสรพิษณุโลก TSY FC เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมลุย ศึก ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2014

สโมสรพิษณุโลก TSY FC เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมลุย ศึก ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2014 ด้านประธานสโมสร โวลั่น มั่นใจทั้งทีมงานสต๊าฟโค้ชและนักเตะ ศักยภาพเพียงพอที่จะทำผลงานได้น่าประทับใจแน่นอน

เมื่อเวลา 13.30 น . วันนี้ ( 20 ก.พ.57 ) ที่โรงแรมรัตนนาปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สโมสรพิษณุโลก TSY FC ทำการเปิดตัวสโมสร พร้อมลุยดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2014 โดยมี นาย ภูษิต พิศาลก่อสกุล ประธานสโมสรพิษณุโลก TSY FC พ.ต.ท ชาญชัย หาแก้ว ผู้จัดการสโมสร น.อ ฐากูล นาครทรรพ ผู้บังการกองบิน 46 และ mr.รอยเตอร์ โมไรร่า หัวหน้าทีมผู้ฝึกสอน ร่วมทำการแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน และแฟนคลับของขุนพลนเรศวรพิษณุโลก TSY FC โดยนาย ภูษิต พิศาลก่อสกุล ประธานสโมสรพิษณุโลก TSY FC กล่าวว่า ความพร้อมของทีมตอนนี้ถือว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นแล้ว แล้วตัวเองก็มั่นใจ ในศักยภาพของทั้งทีมงานสต๊าฟโค้ช และตัวนักเตะ

ซึ่งก็เชื่อว่าจะทำผลงานได้เป็นอย่างดีแน่นอน ก็หวังว่าแฟนคลับขุนพลนเรศวร จะร่วมเชียร์แล้วทุ่มเทใจ ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลุยศึก ดิวิชั่น 1 ร่วมกัน ขณะที่ทางด้าน รอยเตอร์ โมไรร่า หัวหน้าทีมผู้ฝึกสอนชาวบราซิล กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนทุกฝ่าย ที่ไว้ใจในตัวเขา แล้วเลือกตัวผมเข้ามาทำงาน ในเรื่องของการเตรียมทีม ก็ถือว่ามีเวลาแค่ 1 เดือน แต่ทั้งทีมงานก็ตั้งใจ ทุ่มเทเกิน 100 เพื่อพาทีมให้ถึงเป้าหมายสูงสุด และทำผลงานให้ทุกคนพอใจ ต่อจากนั้นสโมสรพิษณุโลก TSY FC ได้ทำการเปิดตัวผู้สนับสนุนหลักของทีม จากหลายหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมกับเปิดตัวชุดที่จะใช้ในการแข่งขันฤดูกาล 2014 โดยมี รอยเตอร์ โมไรร่า เป็นผู้เปิดผ้าคุมชุด พร้อมกันนี้ ได้เปิดตัวโฉมหน้า นักเตะของขุนพลนเรศวร กว่า 40 ชีวิต ต่อหน้าสื่อมวลชนหลายแขนง และแฟนคลับที่เข้ามาร่วมในการเปิดตัวสโมสรในครั้งนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ยันตรวจสอบโกดังข้าวพบข้าวมีเชื้อรา จริง สั่งปูพรหมตรวจอีก 68 คลังที่เหลือเพื่อความโปร่งใส

บ่ายวันนี้ ( 20 ก.พ.57 ) นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว กรณีปลัดจังหวัดพร้อมด้วยการค้าภายในจังหวัดออกตรวจโกดังข้าว ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ที่โรงสีเกษตรไพศาลธัญกิจ จำกัด ที่อำเภอวัดโบสถ์ แล้วปรากฎว่า พบกระสอบข้าว มีรอยด่าง คล้ายเชื้อรา เป็นจำนวนมากนั้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวยอมรับว่า ตนเองได้สั่งการให้ปลัดจังหวัดออกตรวจโกดัง ที่มีการระบายข้าว อย่างเข้มงวดเพื่อความโปร่งใส ซึ่งโกดังที่พบว่า มีกระสอบข้าวที่มีปัญหานั้น เป็นโกดังที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 ดังนั้นเป็นไปไดัที่ข้าวที่เก็บในโกดังจะเสื่อมคุณภาพ และมีเชื้อราขึ้นจริง ซึ่งหลังจากนี้ก็จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจสอบโกดังในโครงการฯ ที่เหลืออีก 68 โกดัง เป็นการเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จังหวัดทำได้เพียงตรวจสอบปริมาณข้าว ว่ายังเหลือครบตามจำนวนที่แจ้งไว้หรือไม่ เท่านั้น. ส่วนในเรื่องคุณภาพข้าว เป็นหน้าที่ของ เจ้าของข้าว คือ อตก. หรือ อคส ที่จะต้องดำเนินการ

ด้านนายประทีป ศิลปเทศ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การตรวจโกดังข้าวในโครงการรับจำนำดังกล่าว เนื่องจากมีการระบายข้าวจากโกดัง กว่า 1 หมื่นกระสอบ ที่จะมีการขนส่งไปยัง อ. แปดริ้ว จ. ฉะเชิงเทรา หรือจังหวัดทางภาคกลาง ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีนโยบายให้การระบายข้าวเป็นไปอย่างเรียบรัอย จึงได้มีคำสั่งให้ตนเอง และการค้าภายในซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใหัลงพื้นทีไปตรวจสอบ เบื้องตันพบว่าการระบายข้าวเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา ส่วนกระสอบข้าวที่เห็นเป็นรอยด่าง เชื้อราขึ้นนั้น เป็นกระสอบที่บรรจุปลายข้าว ที่โดยปกติจะมีความชื้นสูง จึงเกิดเชื้อราขึ้น แต่ก็เป็นเชื้อราที่แห้ง พร้อมทั้งยืนยันว่า ภายในโกดังไม่มีกลิ่นเหม็นของข้าวเน่าแต่อย่างใด ทั้งนี้กระสอบที่บรรจุปลายข้าว แล้วมีเชื้อราเกิดขึ้นนั้น มีประมาณ 1 หมื่นกระสอบ และจัดเก็บแยกกองจากข้าวปกติ ยืนยันว่า ข้าวที่อยู่ในโกดังไม่ได้รับผลกระทบจากเชื้อราที่เกิดขึ้นบนกระสอบปลายข้าวตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด

โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ประกาศรับสมัครผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัด

นายกัฬชัย เทพวรชัย โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกำแพงเพชร แจ้งว่า ตามที่พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัด โดยมีผู้แทนส่วนราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการร่วมกันสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมาตร 7 ให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยมาตร 14 ให้นำความในมาตรา 7 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัดได้ครบวาระในตำแหน่ง เพื่อให้ภารกิจการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการต่อไปด้วยความเรียบร้อย สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกำแพงเพชร จึงขอเชิญชวนผู้ที่ประสงค์จะสมัคร เพื่อรับเลือกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัด สอบถามและยื่น ใบสมัครได้ที่ กลุ่มงานวิชาการผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โทรศัพท์ 0–5570–5053 ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ในวันและเวลาราชการ



ชานิกา กันภัย / ข่าว 

ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติดจังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่ 5 ประจำปีงบประมาณ 2557

(19 กุมภาพันธ์ 2557) นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติดจังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่ 5 ประจำปีงบประมาณ 2557 ณ ห้องประชุม 301 ศาลากลาง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อผลการทำงานเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดตามแผนปฏิบัติการ พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดของจังหวัดนครสวรรค์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557

จังหวัดเน้นเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมู่บ้าน/ชุมชนทั้ง4ประเภท เฝ้าระวังกลุ่มเป้าหมาย 698 แห่ง ขับเคลื่อนสถานประกอบการสีขาวปลอดยาเสพติด 203 แห่ง และมาตรการจัดระเบียบสังคมในสถานประกอบการทุกประเภท อาทิเช่น หอพัก บ้านเช่า ร้านเกมอินเตอร์เน็ต โดยกำชับให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและเข้มข้น แบบต่อเนื่อง