วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่จัดงานประเพณีตานสลากก๋วย ประจำปี 2557

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่จัดงานประเพณีตานสลากก๋วย ประจำปี 2557 เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ในวันนี้(8ก.ย.57) ได้มีการจัดงานบุญประเพณีตานสลากก๋วยขึ้น ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวภาคเหนือได้รับการสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาแต่ครั้งโบราณกาล เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่มีสาระสำคัญเป็นการสั่งสอนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ สอนให้สร้างความดีไว้ชาติหน้า สอนให้ลูกหลานมีความกตัญญูกตเวทิตาต่อพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งนิสงฆ์ที่ได้ทำบุญตานสลากก๋วย เชื่อกันว่าจะได้ไปเกิดในสวรรค์  โดยมีการเรียกขานแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นเช่น "ตานก๋วยสลาก” "กิ๋นข้าวสลาก” หรือ "ตานสลาก” โดยมีนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานนำพุทธศาสนิกชนทำบุญตานก๋วยสลากในครั้งนี้ด้วย

การจัดงานตานสลากก๋วยนั้นจัดขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันของคนในหมู่บ้านและชุมชนใกล้วัดและหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นการบริจาคทานที่ถือว่ามีอานิสงส์มาก และบำเพ็ญกุศลแด่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนเป็นการหาเงินและวัสดุมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอีกด้วย

ก๋วยสลากมีลักษณะเป็นชลอมที่ทำด้วยไม้ไผ่สานกันอย่างสวยงามและมีขนาดพอดีๆ กรุด้วยใบตองเพื่อไม่ให้สิ่งของร่วงล่นออก ภายในจะบรรจุด้วยข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม เกลือ กะปิ น้ำปลา ขนม เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ มีธนบัตร ผูกติดไม้ เสียบไว้ในก๋วย




ฉัตรชัย พวงขจร /ข่าว /พิมพ์



สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยา สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพะเยา ขณะนี้หลายพื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

นายสัลเลข คำใจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า จากที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือ ทำให้จังหวัดพะเยาเกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ รวม 4 อำเภอ 16 ตำบล 121 หมู่บ้าน ได้แก่ ในพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา , อำเภอดอกคำใต้ , อำเภอปง , และอำเภอเชียงม่วน โดยที่อำเภอเมืองพะเยามีน้ำท่วมขังระบายไม่ทันเป็นช่วงๆ บริเวณถนนสายพะเยา-เชียงราย (บ้านท่านดอกไม้ หมู่ที่ 11 ต.ต๋อม) วัดศรีโคมคำ ถนนพหลโยธินช่วงด้านหน้าโรงพยาบาลพะเยารามและหน้าแขวงการทางพะเยา บริเวณสถานีขนส่งพะเยา ส่วนที่ ต.แม่ใสได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ และประมงของราษฎรได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 100 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ได้นายศักดิ์ ทานัง อายุ 68 ปี และที่ลำน้ำต๋ำได้เอ่อล้นเข้าท่วมหมู่บ้านแม่ต๋ำพรหมมินทร์ ทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบประมาณ 100 ครัวเรือน ขณะนี้สถานการณ์น้ำคลี่คลายแล้ว

ที่อำเภอดอกคำใต้ เกิดฝนตกหนักจนเกิดน้ำป่าไหลบ่าลงลำน้ำร่องช้าง ก่อนที่จะล้นตลิ่งเข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยบางพื้นที่ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทำให้บ้านเรือนราษฏร สถานที่ราชการ โรงเรียน พื้นที่การเกษตร ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดระดับลงแล้ว

ขณะที่อำเภอเชียงม่วนเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตร ประมง ปศุสัตว์และสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ

และที่อำเภอปงได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพัดพาพืชผลการเกษตรกรได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ล่าสุดสถานการณ์น้ำยมในพื้นที่อำเภอปง โดยเฉพาะลำน้ำสายหลัก คือน้ำควรและน้ำงิม ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะอิทธิพลของพายุเบาบางลงไม่มีฝนมาก โดยทางท้องถิ่นในพื้นที่กำลังเร่งสรุปความเสียหาย ทั้งนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำสามารถเก็บน้ำได้เต็มอ่าง เช่น อ่างแม่กำลัง อย่างไรก็ตาม พื้นที่อำเภอปง ก็มีการเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำระรอกใหม่ที่จะมาอีกในกลางเดือนกันยายน เช่น การทำฝายดักตะกอน ขุดลอกลำห้วย รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้พ้นน้ำ



ข่าวโดย : ประมวล อุปกิจ
หน่วยงาน : สวท.พะเยา

ตำรวจพะเยา จับกุมครอบครัวค้ายาบ้า พร้อมอายัดทรัพย์สินมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท

เมื่อเร็วๆนี้ พลตำรวจตรีภาณุ บุรณศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา ทราบว่าในเขตพื้นที่เมืองพะเยามีการลักลอบจำหน่ายยาเสพติด จึงมอบหมายให้ พันตำรวจเอกพศวีร์ โชติเทียนชัยวัต รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา วางแผนร่วมกับ พันตำรวจโทวุฒิพันธ์ อุประดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติภูธรจังหวัดพะเยา , พันตำรวจโทสุวเลิศ วงค์ไชย สารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.เชียงม่วน พร้อมด้วยชุดปราบปรามยาเสพติดตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา ออกติดตามและจับกุมตัว น.ส.ภัทริกา ภัทรพลสุขฤดี อายุ 19 ปี ชาว ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย พร้อมยาบ้า 25 เม็ด บนถนนหน้าวัดศรีโคมคำ ต.เวียง อ.เมืองพะเยา เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการขยายผลไปตรวจค้นที่บ้านพักจังหวัดเชียงราย พบในบ้านมียาบ้าอีกจำนวน 5,826 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในบ้านพัก และมีนายสุภาการ ภัทรพลสุขฤดีและนางวิภา ภัทรพลสุขฤดี ชาว ต.แม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งทั้งสองเป็นพ่อแม่ ของ น.ส.ภัทริกา เจ้าหน้าที่จึงจับกุมตัวบุคคลทั้งหมดพร้อมของกลางยาบ้า และตรวจยึดอาหยัดทรัพย์สินของครอบครัวดังกล่าว โดยมีบ้านพัก 1 หลัง รถยนต์ปิ๊คอัพ 2 คัน รถจักรยานยนต์ 3 คัน เงินสดจำนวน 338,500 บาท สร้อยคอและแหวนทองคำ อาวุธปืน 2 กระบอก รวมทรัพย์สินจำนวน 22 รายการ มูลค่ารวม 2,504,000 บาท

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งสามพร้อมของกลางส่ง ร้อยตรวจเอกศพล หลักดี ร้อยเวร สภ.เมืองพะเยา แจ้งข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป



ข่าวโดย : ทีมข่าว สวท.พะเยา
หน่วยงาน : สวท.พะเยา

งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานภาคเหนือตอนบน ปี 2557 กิจกรรมที่มีสารประโยชน์สำหรับนายจ้างลูกจ้าง และประชาชนทั่วไปได้เวียนมาถึงอีกวาระหนึ่งแล้ว

นางอาภาภรณ์ นาควัชระ ประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยา ได้รับการเปิดเผยจาก นายฤทธิพงศ์ เตชะพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กำกับดูแลราชการบริหารส่วนกลางสังกัดกระทรวงแรงงาน (ศูนย์ความปลอดภัยแรงงาน เขต 5) ว่า กรมสวัสดิการ และความคุมครองแรงงาน ได้มอบหมายให้ศูนย์ความปลอดภัยแรงงาน เขต 5 ดำเนินการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานส่วนภูมิภาค จังหวัดลำปาง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรณรงค์ส่งเสริมและกระตุ้นจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงาน ให้เกิดขึ้นกับบุคลากรด้านแรงงานทุกภาคส่วน รวมถึงเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ด้านความปลอดภัยในการทำงานอันจะนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงสภาพการทำงานให้เกิดความปลอดภัยและส่งผลให้การประสบอันตรายจากการทำงานลดลง และมุ่งเน้นการมีส่วนรวมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัย และสุขภาพอนามัยดี” โดยในปีนี้มีกำหนดจัดงานในวันที่ 29-30 กันยายน 2557 ณ โรงแรมบุษย์น้ำทอง อำเภอเมือลำปาง จังหวัดลำปาง ภายใต้ชื่องานว่า “วัฒนธรรมความปลอดภัย ปรองดองทั่วไทย เทิดไท้สถาบัน”

รองผู้ว่าราชการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานครั้งนี้นั้น จะมีพิธีมอบรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัยในการทำงาน ระดับจังหวัด ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน น่าน เชียงราย พะเยา และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดการจัดงาน ซึ่งหากนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ความปลอดภัยแรงงานเขต 5 หมายเลขโทรศัพท์ 0 5428 2012



ข่าวโดย : พรไพลิน เพ็งขะ นักศึกษาฝึกงาน
หน่วยงาน : ส.ปชส.พะเยา

องค์กรภาคีเครือข่ายจังหวัดน่าน ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมบนฐานวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นน่าน ตามนโยบายของ คสช.

องค์กรภาคเครือข่ายจังหวัดน่าน ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมบนฐานวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นน่าน ตามวาระจังหวัดน่าน "สร้างเมืองน่าน น่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” และโครงการ "รักษ์ป่าน่าน”

ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดน่าน นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมบนฐานวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นน่าน ตามวาระจังหวัดน่าน "สร้างเมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” และโครงการ "รักษ์ป่าน่าน” โดยมีนายนพปฏล เมฆเมฆา ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 16 ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมืององค์กรภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น พระราชคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดน่าน พระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน พระครูสุจิณนันทกิจ ประธานเครือข่ายเฝ้าระวังติดตามการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน นพ.บุญยงค์ วังศ์รักมิตร ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมกันจัดทำข้อบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน ตลอดจนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้านการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

เจตนารมณ์ของข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ ของประชาชนเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม จนทำให้พื้นที่ป่าที่มีกว่าร้อยละ 85 ของจังหวัดน่าน กลายเป็นพื้นที่ภูเขาหัวโล้น และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมบนฐานวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นน่าน จึงถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมในการจัดการแก้ไขปัญหาให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มุ่งเน้นกระบวนการทำงานร่วมกันในลักษณะเป็นภาคเครือข่าย ความร่มมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคีเครือข่าย นำไปสู่การพัฒนาตนเองและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป




รดา บุญยะกาญจน์ /ภาพ ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

พุทธศาสนิกชนชาวน่าน ร่วมงานประเพณีทำบุญถวายทานสลากภัต เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามมาตั้งแต่สมัยโบราณ

พุทธศาสนิกชนชาวน่านและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมงานประเพณีถวายทานสลากภัต (ก๋วยสลากภัต) ณ วัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามมาตั้งแต่สมัยโบราณ

พันโท ทศพล ผ่องศรีสุข ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 15 จังหวัดน่าน นำบรรดาเหล่าพุทธสาสนิกชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพุทธศาสนิกชนชาวน่าน ร่วมงานประเพณีถวายสลากภัต หรือตานก๋วยสลาก เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามมาตั้งแต่สมัยโบราณ และถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่และเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวล้านนา โดยถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ หรือเดือน 10 ใต้ของทุกๆ ปี และไปสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน 11 ใต้) เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นคุณปู่-ย่า/ตา-ยาย/พ่อ-แม่ และลูกหลานในปัจจุบัน และในจังหวัดน่านนิยมจัดขึ้นที่วัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร ก่อนเพราะถือเป็นปฐมอารามในจังหวัด จากนั้นวัดอื่นๆ ก็จัดทานสลากภัตตามเป็นลำดับ การถวายทานสลากภัต แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ สลากหน้อยหรือสลากซอง คือสลากกระชุเล็กๆ หรือก๋วยขี้ปู๋ม ใช้ถวายอุทิศแก่ผู้ตายหรือทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลในภายภาคหน้า และสลากใหญ่ หรือสลากโชค หรือสลากสร้อย ซึ่งเจ้าภาพมักจัดทำเป็นรูปต่างๆ เช่น ต้นกัลปพฤกษ์ รูปบ้านเรือน รูปเรือหงส์ เรือสำเภา และมักมีเครื่องไทยทานครบทุกอย่าง ใช้ถวายเป็นกุศลสำหรับบุคคลผู้มีกำลังศรัทธาและร่ำรวยเงินทอง ทำถวายเพื่อเป็นพลวะปัจจัย ให้มีบุญกุศลมากยิ่งขึ้น ส่วนการทานสลากภัตที่นิยมมี 3 ประเภทคือ สลากเอาเส้น สลากที่พระสงฆ์จับสลากเอง และสลากย้อม ซึ่งในปัจจุบันนิยมให้พระสงฆ์จับสลากเองเป็นส่วนมาก เพราะง่ายและทุ่นเวลา

สำหรับจังหวัดน่าน ภายหลังจากถวายสลากภัต หรือตานก๋วยสลาก ที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมืองน่าน ซึ่งจัดก่อนวัดอื่นๆ ในจังหวัดน่าน เพราะถือว่าเป็นวัดหลวง และประชาชนชาวน่านยึดถือเอางานประเพณีถวายทานลากภัตวัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร เป็นการเปิดสนามเรือแข่งของจังหวัดน่านและนับว่าเป็นนัดแข่งเรือที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดน่าน โดยในปีนี้จังหวัดน่าน กำหนดให้มีการแข่งเรือจังหวัดน่าน (นัดเปิดสนาม) โดยเรียกชื่อว่า การจัดงานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน (นัดเปิดสนาม) "ชิงถ้วยพระราชทาน” ปลอดเหล้า-เบียร์ ประจำปี 2557 ในระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2557 ณ บริเวณแม่น้ำน่าน (เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ)



รดา บุญยะกาญจน์ /ภาพ ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

จังหวัดน่าน ประชุมเข้ม กสทช. เจ้าของสถานีวิทยุ นักจัดรายการ เจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคประชาชน เพื่อชี้แจงข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อ

จังหวัดน่าน โดยโรงพยาบาลเวียงสา ร่วมกับแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และเครือข่ายอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ภาคประชาชน) ประชุมเข้มสำนักงาน กสทช.เขต 3 ลำปาง เจ้าของสถานีวิทยุ นักจัดรายการ เจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคประชาชน เพื่อชี้แจงข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อ

โรงพยาบาลเวียงสา ร่วมกับแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และเครือข่ายอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ภาคประชาชน) ประชุมเข้มสำนักงาน กสทช.เขต 3 ลำปาง เจ้าของสถานีวิทยุ นักจัดรายการ เจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคประชาชน จัดประชุมเพื่อชี้แจงข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุตามกฎหมาย ณ โรงแรมเทวราช จังหวัดน่าน เพื่อพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายให้สามารถเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และดำเนินการร้องเรียน และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ รู้เท่าทัน และไม่ถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยในช่วงเช้า เวลา 09.00 น. เป็นการเสวนาสาธารณะ "เฝ้าระวังปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ในประเด็นหัวข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง การขออนุญาตจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงและสิ่งที่ต้องดำเนินการภายหลังได้รับอนุญาต โดย กสทช.เขต 3 ลำปาง ประเด็นหัวข้อการขออนุญาตขอโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยา การปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต การตรวจสอบโฆษณาด้วยตนเองว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง โดย ภญ.พนิตนาฎ คำนุ้ย เภสัชกรชำนาญงานพิเศษ หัวหน้างานกำกับดูแลควบคุมโฆษณา สำนักยา สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และคุณนภาพร กำภูพงษ์ นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานกำกับดูแลก่อนออกสู่ตลาด สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายภาคประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาสิทธิผู้บริโภค และในภาคบ่ายของการประชุม เป็นข้อตกลงในการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ (อาหารและยา) ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

ซึ่งการดำเนินการประชุมในครั้งนี้ จัดให้มีการถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดน่าน ความถี่ FM 94.75 MHz และเปิดสายให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาฯ สามารถโทรศัพท์เข้ามาเพื่อแสดงความคิดเห็น ถามตอบข้อสงสัยได้ตลอดงานอีกด้วย การจัดประชุมเพื่อชี้แจงข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อวิทยุตามกฎหมาย ได้รับความสนใจจาก เจ้าของสถานีวิทยุ นักจัดรายการ เจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคประชาชน(เครือข่ายอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดน่าน) เข้าร่วมประชุม จำนวนกว่า 70 คน และคาดว่าการประชุมในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนและภาคีเครือข่ายได้รับความรู้ความเข้าใจ รู้เท่าทัน และไม่ถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนสามารถนำความรู้ความเข้าใจที่ได้รับไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อกระจายเสียงและสื่ออื่นๆไปสู่ประชาชนได้เป็นอย่างดี และทำให้ประชาชนไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการโฆษณาที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป




รดา บุญยะกาญจน์ /ภาพ ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมพิจารณาคัดเลือกพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ปี ๒๕๕๗

จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกพ่อตัวอย่างแห่งชาติจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งยกย่องสรรเสริญบุคคลซึ่งเป็นพ่อที่ดี เพื่อเข้ารับเกียรติบัตรเป็นพ่อตัวอย่างในวันศุกร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗

วันนี้ (๘ ก.ย. ๕๗) นายนาวิน สินธุสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคัดเลือกพ่อตัวอย่างแห่งชาติจังหวัดเชียงใหม่ ปี ๒๕๕๗ ณ ห้องรับรองสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ชั้น ๓ อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

นายนาวิน สินธุสะอาด กล่าวว่า สมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา ได้กำหนดจัดงานวันพ่อแห่งชาติ ปี ๒๕๕๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาแห่งชาติ และยกย่องสรรเสริญบุคคลซึ่งเป็นพ่อที่ดี สมควรได้รับเกียรติบัตรเป็นพ่อตัวอย่างแห่งชาติประจำปี โดยจังหวัดเชียงใหม่มีผู้เข้ารับการคัดเลือกพ่อตัวอย่างทั้งหมด ๑๒ ราย ได้แก่ นายสัญญา รักชาติ นายธวัช นะติกา นายจำรูญ เร่งถนอมทรัพย์ นายปานเทพ ชมพูรัตน์ นายอรุณ ขาวสะอาด พันเอกรนกร สุดด้วงแก้ว นายวสันต์ วงศ์สกุล นายประกาศิต สังข์แก้ว นายยงยุทธ จันทวรรณ์ นายอินตา นามแก้ว นายพิบูลย์ สังหสันติ และร้อยตำรวจตรีบุญธรรม ปันอินทร์ โดยผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุดเป็นอันดับ ๑ และ ๒ จะได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพิจารณาคัดเลือกเป็นพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๗ โดยจังหวัดจะส่งเอกสารไปยังสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา ผู้จัดงานวันพ่อแห่งชาติ

โดยที่ประชุมได้พิจารณาคัดเลือกพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ปี ๒๕๕๗ จำนวน ๒ ราย ที่มีคุณสมบัติตามสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษากำหนด เพื่อเข้ารับเกียรติบัตรเป็นพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ในวันศุกร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร


ข่าวโดย : ไผท สุวรรณเสวตร / วิราพร ตันเต สำนักงานประชาสัมพั
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ นำถุงยังชีพพระราชทาน มอบช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ จัดหน่วยสงเคราะห์เคลื่อนที่ ออกช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ราษฎร

วันนี้ (9 ก.ย. 57) เวลา 11.30 น. ที่หอประชุม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ นายประสงค์ พิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายกองเอก วิลาศ รุจิวัฒนพงษ์ ประธานฝ่ายบรรเทาทุกข์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และคณะเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง มอบช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำคณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัด กิ่งกาชาดอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการจากหน่วยงานทุกสังกัดในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ และได้ร่วมกันนำถุงยังชีพพระราชทานมอบช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยได้มอบถุงยังชีพพระราชทาน มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ชราภาพ ผู้พิการ ผู้ด้วยโอกาส และราษฎรผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อน รวมจำนวน 1,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.แม่อาย หมู่ที่ 2-5 และหมู่ที่ 7-12 ต.สันต้นหมื้อ หมู่ที่ 1,3,4 ต.ท่าตอน หมู่ที่ 9 ต.มะลิกา หมู่ที่ 6 ต.แม่อาย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีราษฎรผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 1,259 ครัวเรือน จำนวน 3,238 คน

โดยสิ่งของพระราชทานที่นำมามอบแก่ราษฎรในครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ ทำให้บังเกิดความปลาบปลื้ม และความปลื้มปิติยินดีแก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า ซึ่งราษฎรประชาชนที่ได้รับมอบถุงยังชีพพระราชทานต่างซาบซึ้ง สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความห่วงใย ของทั้ง 2 พระองค์ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรอย่างล้นพ้น



ข่าวโดย : ณัฏฐ์ สินันตา/อนันต์ ชุ่มใจ
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่