วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บทความเรื่อง ทำแนวกันไฟเพื่อกันภัยจากไฟป่าและหมอกควัน

บทความเรื่อง ทำแนวกันไฟเพื่อกันภัยจากไฟป่าและหมอกควัน
นิสารัชต์ นิลสว่าง / เรียบเรียง

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ไฟป่าเป็นเรื่องสำคัญของคนในชุมชน เนื่องจากชุมชนในจังหวัดน่านยังคงพึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้ในวิถีชีวิตค่อนข้างมากทั้งในด้านของแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย หรือยารักษาโรค หากเกิดไฟป่าขึ้นแล้วลามเข้ามาใกล้หมู่บ้านชาวบ้านต้องรีบช่วยกันออกไปดับไฟ โดยเฉพาะไฟป่าที่เกิดขึ้นตอนกลางวันจะดับยากกว่าตอนกลางคืนเพราะอากาศจะร้อนและแห้งทำให้ไฟลุกลามรวดเร็ว จนไปถึงบริเวณที่เป็นไร่นาและสวน ซึ่งใกล้กับบริเวณชุมชนมาก และถึงแม้ว่าชุมชนไม่อาจยับยั้งไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่ได้ แต่คนในชุมชนได้เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์และหาวิธีการจัดการกับไฟป่าที่เป็นปัญหาสำคัญของชุมชน วิธีการที่ชุมชนได้ใช้ป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลามเข้ามาใกล้ชุมชนมาเป็นเวลานานแล้ว ได้แก่ วิธีการทำแนวกันไฟ

แนวกันไฟ (Firebreaks or Fuelbreaks) เป็นการปรับปรุงพื้นผิวภูมิประเทศให้เกิดเป็นแนวกีดขวางเพื่อหยุดยั้งไฟป่า หรือเป็นแนวตั้งรับในการดับไฟป่า หลักสำคัญของการทำแนวกันไฟคือการกำจัดเชื้อเพลิงที่จะทำให้เกิดไฟป่าออกไป โดยอาจจะกำจัดเชื้อเพลิงออกไปทั้งหมดจนถึงชั้นดินแท้ (Mineral soil) หรืออาจจะกำจัดเฉพาะเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย ได้แก่ เศษใบไม้ ใบหญ้าออกไปเท่านั้นก็ได้ แนวคิดในการทำแนวกันไฟก็เพื่อตัดช่วงความต่อเนื่องของเชื้อเพลิง เป็นการป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามเข้าไปในบริเวณที่ตั้งของชุมชนนั่นเอง มีวิธีการที่น่านสนใจเกี่ยวกับการทำแนวกันไฟโดยใช้แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเองได้คือ

1. ทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยใช้แนวคลองส่งน้าและแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกตามแนวคลองนั้น
2. สร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟ ป่าเปียก โดยอาศัยน้าชลประทานและน้ำฝน
3. ปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้เพิ่มความชุ่มชื้นและแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้างของ ร่องน้ำ ซึ่งจะทาให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่าเพราะไฟป่า จะเกิดขึ้นง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น
4. สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่า "Check Dam" ขึ้น เป็นการกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ ไว้ ใช้เก็บกักน้าและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้ จะซึมเข้าไปสะสมในดินทำให้ความชุ่มชื้น แผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านกลายเป็น "ป่าเปียก"
5. การสูบน้ำเข้าไปในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทาได้ แล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อยให้ไหลซึมลงดิน เพื่อช่วยเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูงในรูป "ภูเขาป่า" ให้กลายเป็น "ป่าเปียก" ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้อีกทางหนึ่งด้วย
6. ปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่าประมาณ 2 เมตร หากเกิดไฟไหม้ป่า ไฟจะปะทะกับต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชอื่น ทำให้ลดการสูญเสียน้าลงไปได้มาก
7. ในพื้นที่ราบหรือรอบบริเวณที่อยู่อาศัย ประชาชนสามารถทำได้ ด้วยการไม่เผาขยะ กิ่งไม้ ใบไม้ สิ่งต่าง ๆ ในที่โล่งแจ้ง

การทำแนวกันไฟแม้จะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหมอกควัน รวมทั้งมลพิษในอากาศที่เกิดจากการเผาหรือไฟป่า สิ่งที่สำคัญของการทำแนวกันไฟคือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนร่วมกันป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟป่าเป็นกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของชุมชน ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน อย่างแท้จริงเมื่อคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น