วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดอย่างเข้มข้นตามคำสั่ง คสช.

จังหวัดแม่ฮ่องสอนปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดอย่างเข้มข้นตามคำสั่ง คสช. โดยบูรณาการการทำงานร่วมทั้งกำลังทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

นายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งให้ทุกหน่วยงาน กวาดล้างปัญหายาเสพติดอย่างเข้มข้น ซึ่งเดิมที่ภารกิจในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นภารกิจที่จังหวัดได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ในช่วงนี้ทางด้าน คสช. ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยเข้มข้นในการกวาดล้างยาเสพติด ถือโอกาสนี้จัดระเบียบสังคมกวาดล้างปัญหายาเสพติด ป้องกันมิให้ปัญหายาเสพติดเข้ามาแทรกแซง ซึ่งช่วงนี้คนส่วนมากให้ความสนใจกับการสร้างความสามัคคี ปรองดอง และสมานฉันท์

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวต่อว่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้บูรณาการการทำงานร่วมทั้งกำลังทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ออกตรวจค้นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านปัญหายาเสพติด ซึ่งได้ทั้งของกลางยาเสพติด และจับผู้ต้องหามาดำเนินคดีแล้วหลายราย และนอกจากการกวาดล้างยาเสพติดแล้ว ยังได้ตรวจค้นจับกุมผู้กระทำความผิดในด้านต่าง ทั้งการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบเล่นการพนันควบคู่กันไป


ข่าวโดย : ทีมข่าว ส.ปชส.แม่ฮ่องสอน
    หน่วยงาน : ส.ปชส.แม่ฮ่องสอน

ทหารพรานที่ 36 ป่าไม้ ตำรวจ ตรวจยึดไม้สักแปรรูปขนาดใหญ่เถื่อนซุกซ่อนในป่าห่างจากแฟลตตำรวจ สภ.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย ประมาณ 300 เมตร

เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. เช้าวันนี้ 11มิ.ย ได้รับการเปิดเผยจาก พันเอกคชาชาต บุญดี ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 ว่าทางหน่วยฯได้ จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ นำโดย พ.ต.อนันธิยศิริ เฮ็งตระกูล เสธ.ทพ.36 เข้าตรวจสอบข้อมูลภายหลังได้รับแจ้งเบาะแสเป็นจดหมายของพลเมืองดี ว่า มีไม้เถื่อนซุกซ่อน หลังแฟลตตำรวจ สภ.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ทางทหารพรานที่ 36 จึงได้ประสานสนธิกำลังร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ตร.สภ.แม่ลาหลวงลาหลวง , สภ.แม่ลาน้อย , หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.11 (แม่ลาน้อย) อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้น อาวุธสงคราม , การลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ และสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆในพื้นที่เป้าหมาย ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย 3 จุด ประกอบไปด้วย ที่ บ.แม่ลาหลวง หมู่ 1 , บ.สันติสุข หมู่ 5 ต.แม่ลาหลวง , บ.แม่สำเพ็งเหนือ ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

ผลการเข้าปิดล้อมตรวจค้น ที่ บ.แม่ลาหลวง บริเวณ หลังแฟลต ตร.สภ.แม่ลาหลวง ห่างไปในพื้นที่ป่า ประมาณ 300 เมตร ตรวจพบไม้สักแปรรูป ขนาดหน้ากว้าง 30- 35นิ้ว หนา 4-6นิ้ว ยาว 2 ม. จำนวน 13 แผ่น/เหลี่ยม ซุกซ่อนโดยใช้กิ่งไม้ใบไม้หญ้าแห้งปกปิดไว้อยู่กลางป่า จากนั้นจึงได้นำกำลังไปตรวจสอบบ้านไม่มีเลขที่กลางไร่ สร้างเป็นลักษณะการอำพรางเพื่อเก็บไม้ คือการมุงหลังคาเป็นด้วยสังกะสี มีเสาไม้ท่อนขนาดตั้งเรียงรายเกินความจำเป็นขนาด สองคนโอบ ปักเรียงกันโดยไม่มีการขุดฝังเอาไว้ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการรื้อและตรวจยึดไม้ท่อนทั้งหมด จำนวน 8 ท่อน และไม้แปรรูป ขนาด หน้า 4 นิ้ว หนา 2 นิ้ว อีกจำนวน 23 แผ่น/ เหลี่ยม


ข่าวโดย : นวรัตน์ ศรีแก้วเลิศ
    หน่วยงาน : สวท.แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน

เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมกับหลายหน่วยงาน เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์กู้สายน้ำให้แผ่นดิน

เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมกับหลายหน่วยงาน เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์กู้สายน้ำให้แผ่นดิน เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก

นายธวัชชัย วงศ์วาณิชย์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมกับอาสาสมัครกู้สายน้ำให้แผ่นดิน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมือง สภาองค์กรชุมชนตำบลจองคำ และโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์กู้สายน้ำให้แผ่นดิน ในวันพรุ่งนี้(12 มิถุนายน 2557)ที่ลำน้ำปุ๊บ้านชานเมืองถึงหลังโรงฆ่าสัตว์ และวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ที่ลำน้ำปุ๊ หลังโรงฆ่าสัตว์ถึงบ้านนาหมากปิน ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึก สร้างบทบาทการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาลำน้ำปุ๊แก่ประชาชนในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กิจกรรมในงานประกอบด้วย การจัดทำฝายชะลอน้ำ/พัฒนาทำความสะอาด เก็บขยะ ตัดหญ้า ตัดแต่งกิ่งไม้ บริเวณลำน้ำปุ๊ และทางเดิน ให้สวยงามต่อไป

ข่าวโดย : เอกณรินทร์ ใจมะโน
    หน่วยงาน : สวท.แม่ฮ่องสอน

ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดโครงการประชุมชี้แจงวิทยากร สร้างความปรองดองและสมานฉันท์

ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดโครงการประชุมชี้แจงวิทยากร สร้างความปรองดองและสมานฉันท์ ตามแนวทางขับเคลื่อนภารกิจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

บ่ายวันนี้(11 มิถุนายน 2557)นายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดโครงการประชุมชี้แจงวิทยากร สร้างความปรองดองและสมานฉันท์จังหวัดแม่ฮ่องสอน และมอบนโยบาย และแนวทาง การเป็นวิทยากร การขับเคลื่อนการปรองดองสมานฉันท์ของคนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ศาลาประชาคมจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 428 คน เพื่อให้วิทยากรเข้าไปทำงานในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือกับอาสาสมัคร และภาคประชาชนให้เกิดความรัก ความสามัคคี ตามนโยบาย และแนวทางขับเคลื่อนภารกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

กิจกรรมในงานประกอบด้วย การบรรยายตามหลักสูตรการสร้างความปรองดองสมานฉันท์จังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวข้อ การสร้างความเข้าใจในเหตุผลที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ/ประวัติศาสตร์ชาติไทย/การสร้างอุดมการณ์รักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์/ภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบใหม่/การปฏิรูปชุมชนด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง/การจัดตั้งคลังสมอง เครือข่าย อาสาสมัครเพื่อการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน/การพัฒนาจิตใจ และแผนปฏิบัติการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 และ กอ.รมน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เตรียมจัดโครงการพบนักเรียนหน้าเสาธง โดยมอบหมายให้ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้นำท้องถิ่น นำเสนอการปรองดอง สมานฉันท์ ให้ครบทุกโรงเรียน นอกจากนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มอบหมายให้ทุกจังหวัด จัดเวทีประชาคมระดับอำเภอ และระดับหมู่บ้าน เพื่อรับฟังความคิดถึงเห็นและความต้องการของประชาชน โดยให้ดำเนินการ ภายในวันที่ 15 กรกฏาคม 2557


ข่าวโดย : เอกณรินทร์ ใจมะโน
    หน่วยงาน : สวท.แม่ฮ่องสอน

ทหารสนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัยเกี่ยวข้องยาเสพติดไม่พบสิ่งผิดกฏหมายที่แม่ฮ่องสอน

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 พร้อมด้วยชุดร้อย ร.721 ตำรวจภูธรเมืองแม่ฮ่องสอน ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 336 และฝ่ายปกครองอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน กว่า 30 นาย จู่โจมเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 160/1 หมู่ 5 ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นบ้านตึกก่อสร้างด้วยปูนขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเนินสูง เป็นบ้านชั้นเดียวที่มีห้องนอน 4 ห้องนอน ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อถึงบ้านเป้าหมาย ได้มีนางคำพา คำแก้ว เจ้าของบ้านได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบริเวณภายในบ้านทุกห้องนอน โดยมีเจ้าของบ้านคอยอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น

ภายหลังจากที่ได้ตรวจค้นทุกห้องแล้วไม่พบสิ่งผิดกฎหมายทั้งยาเสพติดและอาวุธสงคราม ตามที่ได้รับรายงานข่างแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่พบเพียงสมุดบัญชีธนาคารที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของตัวเงินแล้ว จึงได้บันทึกไว้เป็นหลักฐานและให้เจ้าของบ้านลงรายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานให้ถูกต้อง

สำหรับบ้านหลังดังกล่าว นางคำพา คำแก้ว เจ้าของบ้านเดิมเป็นบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในแม่ฮ่องสอนเป็นเวลานาน จนในปัจจุบันมีหลักฐานทางทะเบียนเป็นบุคคลที่มีบัตรประจำตัวเป็นหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวของบุคคลต่างด้าวที่ถูกต้องและสามารถเดินทางไปไหนได้ตามปกติ ซึ่งมีอาชีพด้านการค้าขายของที่ระลึกและมีการส่งออกและนำเข้าสินค้าอุปโภคบริเวณช่องทางชายแดนแม่ฮ่องสอนด้วย


ข่าวโดย : สมาน ต้นใส / สวศ.แม่ฮ่องสอน
    หน่วยงาน : สวศ. แม่ฮ่องสอน

เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์กูสายน้ำให้แผ่นดิน

สำนักงานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เตรียมจัดกิจกรรม รณรงค์กู้สายน้ำให้แผ่นดิน (พัฒนาลำน้ำปุ๊) ระหว่างวันที่ 12 – 13 มิถุนายน 2557

นายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ด้วยเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมกับอาสาสมัครกู้สายน้ำให้แผ่นดิน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมือง สภาองค์กรชุมชนตำบลจองคำ และโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ได้กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์กู้สายน้ำให้แผ่นดิน (พัฒนาลำน้ำปุ๊) ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึก สร้างบทการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาลำน้ำปุ๊แก่ประชาชนในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการจัดทำฝายชะลอน้ำ เก็บกักน้ำ รวมทั้งมีการทำความสะอาดลำน้ำปุ๊และทางเดินริมลำน้ำ ให้เหมาะสม สวยงาม และปลอดภัย

สำนักงานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน จึงขอเชิญชวนอาสาสมัครร่วมพัฒนาในการรณรงค์ในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 พร้อมกัน ณ บริเวณลำน้ำปุ๊สยามฟาร์ม เวลา 08.30 เป็นต้นไป พิธีเปิด โดยนายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน และวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ณ ลำน้ำปุ๊ บริเวณหลังโรงฆ่าสัตว์บ้านนาหมากปิน (บริเวณสะพานขัวแดง) พิธีเปิดโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ ให้อาสาสมัคร และผู้เข้าร่วม ดำเนินกิจกรรมพัฒนาลำน้ำปุ๊และทางเดินริมน้ำ โดยเก็บเศษขยะ ทำความสะอาด ตัดหญ้า ตัดแต่งกิ่งไม้ที่ยื่นเกะกะ รกรุงรังบริเวณลำน้ำปุ๊ ให้เหมาะสม สวยงาม และปลอดภัย รวมทั้งจัดทำฝายกักเก็บน้ำ


ข่าวโดย : วรสิทธิ์ อุดมพาณิชย์
    หน่วยงาน : ส.ปชส.แม่ฮ่องสอน

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานอีก 20 จังหวัด

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 60/2557  เรื่อง ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่เพิ่มเติม

เนื่องจากสถานการณ์ในบางพื้นที่ได้คลี่คลายลง และไม่ปรากฏแนวโน้มของการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ดังนั้น เพื่อเป็นมาตรการผ่อนคลายและบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน จึงให้ยกเลิกการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่ ดังต่อไปนี้ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี อำเภอเขาย้อย อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอบ้านแหลม อำเภอแก่งกระจาน และอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี อำเภอคลองใหญ่ อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ อำเภอแหลมงอบ อำเภอเกาะกูด และอำเภอเมือง จังหวัดตราด จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดเลย จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดอุตรดิตถ์  จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน อำเภอสะเดา และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล

สำหรับในพื้นที่อื่นๆ ให้ยังคงปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เรื่อง ห้ามออกนอกเคหสถาน ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 42/2557 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เรื่อง แก้ไขห้วงเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 52/2557 ลงวันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 เรื่อง ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงประกาศ ณ วันที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2557  พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา  หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ตำรวจภูธรวังหงส์ ร่วมกับชาวตำบลวังหงส์ อำเภอเมืองแพร่ปลูกหญ้าแฝก สร้างความปรองดองสนองพระราชดำริ

เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรวังหงส์ ตำบลวังหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ปลูกหญ้าแฝก เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ และเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ที่บริเวณหนองหงส์ บ้านวังหงส์หมู่ที่ 1 ตำบลวังหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ทางเทศบาลตำบลวังหงส์ ร่วมกันตำรวจภูธรวังหงส์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนในตำบลวังหงส์ ร่วมกันปลูกหญ้าแฝกจำนวน 200,000 ต้น บริเวณรอบหนองหงส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์จังหวัดแพร่ และศูนย์ปรองดองสมานฉันท์อำเภอเมืองแพร่ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการรักษาความสงบแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ส่งผลให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ อันจะนำพาไปสู่ความผาสุกของคนจังหวัดแพร่

พ.ต.ท.สุพัฒน์ ชมเชย สารวัตร สถานีตำรวจภูธรวังหงส์ กล่าวว่า สำหรับหนองหงส์ เป็นสถานที่ตั้งของอนุสรณ์สถานตำนานหงส์ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมเป็นหนึ่งในแม่น้ำยม แต่หลังจากแม่น้ำยมเปลี่ยนทิศ ชาวบ้านและหน่วยงานราชการจึงได้ร่วมกันพัฒนาทำเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อน ซึ่งตำบลวังหงส์นั้น ก่อตั้งมานานกว่า 200 ปี ปัจจุบันมี 7 หมู่บ้าน มีประชากร 1,160 ครัวเรือน รวม 3, 465 คน ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อสายเดียวกันใช้นามสกุล หงส์ 1 ถึง หงส์ 39 และนามสกุลปราบหงส์


ฉัตรชัย พวงขจร /ข่าว /พิมพ์

เทศบาลเมืองแพร่ร่วมกับจังหวัดแพร่จัดกิจกรรม “กาดปรองดอง” สร้างความสมานฉันท์

เทศบาลเมืองแพร่ร่วมกับจังหวัดแพร่จัดกิจกรรม "กาดปรองดอง” สร้างความสมานฉันท์ นำการแสดงดนตรีลูกทุ่งจากจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์มาแสดงทุกเย็นวันศุกร์ ที่กาด 3 วัย

นายชเนรินทร์  สมินทรปัญญา  ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า  ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีนโยบายให้ทุกพื้นที่จัดกิจกรรม สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และคืนความสุขให้กับคนในชาติอย่างแท้จริง  สำนักงาน เทศบาลเมืองแพร่ร่วมกับจังหวัดแพร่  หน่วยงานภาครัฐ   เอกชน  องค์กรต่าง ๆ และสถานศึกษาในจังหวัดแพร่  จัดกิจกรรมสร้างความปรองดองสมานฉันท์   "กาดปรองดอง”  ในวันที่  13  มิถุนายน  2557  เวลา  17.00 – 21.00  น.  ณ  บริเวณกาด  3  วัย  หน้าศาลากลางจังหวัดแพร่  ซึ่งเป็นตลาด (กาด) ที่มีประชาชนมาซื้อขายอาหารและมาพักผ่อนในช่วงเวลาเย็นหลังจากเลิกงานเป็นจำนวนมาก  เพื่อสร้างความรัก  ความสามัคคี  ความปรองดองสมานฉันท์และคืนความสุขให้กับประชาชน โดยในวันดังกล่าว จะมีการแสดงดนตรีลูกทุ่งจากจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์  การตรวจสุขภาพโดยหน่วยแพทย์ทหาร และแพทย์จากโรงพยาบาลแพร่  การแจกโลชั่นทากันยุงป้องกันไข้เลือดออก โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่  การตัดผมฟรีโดยชมรมเสริมสวยแต่งผมจังหวัดแพร่  การแจกกล้าไม้ จำนวน   400   กล้า  จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่  การจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด และการแจกรางวัลแก่ผู้ที่ร่วมกิจกรรม   อาทิเช่น  รถจักรยาน  เครื่องใช้ไฟฟ้า  และสิ่งของต่าง ๆ  อีก มากมาย

ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวแพร่ร่วมสนุกกับการแสดงดนตรีลูกทุ่ง และร่วมจับจ่ายสินค้าราคาประหยัด   ในวัน เวลา  และสถานที่   ดังกล่าว โดยพร้อมเพรียงกัน
   
   

โรงเรียนแพร่ปัญญานุกูลจัดทำโครงการสอนว่ายน้ำ เพื่อเด็กพิการ ประจำปีการศึกษา 2557

โรงเรียนแพร่ปัญญานุกูล อำเภอเมืองแพร่ จัดทำโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กพิการ ประจำปีการศึกษา 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กพิการจมน้ำเสียชีวิต

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า จากปัญหาเด็กนักเรียนจมน้ำเสียชีวิตบ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งเด็กที่ร่างกายสมบูรณ์ และเด็กพิการ จากสถิติการจมน้ำของเด็กไทยกว่า 1,500 คนต่อปี ทางโรงเรียนแพร่ปัญญานุกูล อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ จึงจัดทำโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กพิการ ประจำปีการศึกษา 2557 ขึ้น ด้วยความร่วมมือกับอดีตนักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติไทย นายณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม หรือครูพายุ ครูสอนว่ายน้ำเด็กพิเศษ จากจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีโครงการมาแล้วในหลายภาคทั่วประเทศ

โดยจัดทำโครงการในเด็กพิการที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จากนักเรียนโรงเรียนแพร่ปัญญานุกูล  ณ สระว่ายน้ำองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2557  เวลา 09.00 – 11.00 น ทุกวันจันทร์ –พฤหัสบดี โดยโครงการนี้คาดหวังให้เด็กพิการไทย สามารถช่วยเหลือตนเองจากการจมน้ำ  ซึ่งเป็นกีฬาที่หากขาดทักษะแล้ว อาจถึงแก่ชีวิตได้



ฉัตรชัย พวงขจร /ข่าว /พิมพ์

มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ วิทยาเขตแพร่ พร้อมแล้วกับการแข่งขันกีฬาแห่งชาติภาค 5 ครั้งที่ 43

มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ วิทยาเขตแพร่ พร้อมแล้วกับการเป็นสถานที่แข่งขันกีฬาแห่งชาติภาค 5 ครั้งที่ 43 ทั้งสนามและที่พัก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูชีพ ชีพอุดม ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ วิทยาเขตแพร่ กล่าวว่า ตามที่จังหวัดแพร่ได้รับเกียรติจากการกีฬาแห่งประเทศไทยให้เป็นเจ้าหน้าจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ภาค 5 ครั้งที่ 43 หรือเมืองแพร่เกมส์ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-30 มิถุนายน 2557 โดยมีการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 35 ชนิดกีฬา และทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ วิทยาเขตแพร่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในเรื่องของสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลหญิง และบาสเก็ตบอล ชาย-หญิง พร้อมจัดที่พักแก่นักกีฬา ผู้ควบคุมทีมและกรรมการตัดสินทั้ง 2 ชนิดกีฬา ซึ่งขณะนี้ถือว่าสถานที่มีความพร้อมแล้ว โดยมีศูนย์กีฬาในร่ม ทรงวุฒิเพชรประดับที่ใช้แข่งขันบาสเก็ตบอล และมีสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐาน มีหอพักนักศึกษาซึ่งสะดวกในช่วงการแข่งขันเนื่องจากยังอยู่ในช่วงปิดเทอม จึงถือได้ว่ามีความพร้อมที่สุดที่จะให้นักกีฬาเข้ามาพักและทำการแข่งขันกีฬา เพื่อให้เกิดความปรองดองความสมานฉันท์ของคนในชาติตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ วิทยาเขตแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย



ฉัตรชัย พวงขจร /ข่าว /พิมพ์

สันนิบาตเทศบาลจังหวัดแพร่จัดสัมมนาทางวิชาการ การบริหารจัดการท้องถิ่นแบบมืออาชีพ

สันนิบาตเทศบาลจังหวัดแพร่จัดสัมมนาทางวิชาการ การบริหารจัดการท้องถิ่นแบบมืออาชีพเพื่อเสริมสร้างทักษะ และประสบการณ์ในการบริหารงาน ลักษณะผู้นำที่ดี

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชน และมีความรับผิดชอบความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกด้าน การพัฒนาและส่งเสริมการเยนรู้แก่บุคลากรท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบกับในปี 2558 นี้ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะทำให้ประเทศสมาชิกมีการไปมาหาสู่และสื่อสารกันมากขึ้น ทางสันนิบาตเทศบาลจังหวัดแพร่จึงได้จัดสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2557 เรื่อง การบริหารจัดการท้องถิ่นแบบมืออาชีพขึ้น ที่หอประชุมและแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก บ้านกอเปา ตำบลทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่

ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างทักษะ และประสบการณ์ในการบริหารงาน ลักษณะผู้นำที่ดี เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง เปิดโอกาสให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และประสบการณ์เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน เพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนแก่บุคลากรท้องถิ่นในทุกระดับ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ


ฉัตรชัย พวงขจร /ข่าว /พิมพ์
   

จังหวัดแพร่ แจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้

จังหวัดแพร่แจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนหนักในระยะ 5-6 วันนี้ อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม

นายศักดิ์ชัย จ.ผลิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า ในช่วงวันที่ 11-14 มิถุนายน 2557 ร่องมรสุมได้พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเล อันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนชุกหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน และผลผลิตทางการเกษตร  จังหวัดแพร่จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังภัยจากธรรมชาติ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งบ้านเรือน โรงเรือนและพืชผลทางการเกษตร ขอให้ระมัดระวังการใช้เครื่องมือสื่อสาร โทรศัพท์มือถือกลางที่โล่งแจ้งในขณะเกิดฟ้าคะนอง และขอให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติ ในระยะ 5-6 วันนี้ โดยให้นายอำเภอกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย และคันกั้นน้ำ สถานที่ท่องเที่ยวที่มีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมากรวมถึงพื้นที่เอกชน ถ้าไม่มั่นคงแข็งแรงพิจารณาแล้วว่าเป็นอันตรายให้รีบแก้ไขโดยด่วน พร้อมเจ้าหน้าที่อยู่ปฏิบัติงานเฝ้าระวังเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ รวมถึงใช้ประโยชน์จาก มิสเตอร์เตือนภัยที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านเสี่ยงภัย ในการแจ้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรายงานสถานการณ์ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจทราบทุกระยะจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-5553-3680 โทรสาร 0-5552-2513



ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์  

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยา พิมพ์ข่าวนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัดพะเยา จัดอบรม เยาวชน "ทำดี ทำง่าย ให้เลือด"ที่จังหวัดพะเยา เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัดพะเยา จัดอบรม เยาวชน "ทำดี ทำง่าย ให้เลือด"ที่จังหวัดพะเยา เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัดพะเยา จัดอบรม เยาวชน "ทำดี ทำง่าย ให้เลือด"ที่จังหวัดพะเยา

เช้าวันนี้ (11 มิ.ย.57) นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการเครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ประจำปี 2557 “ทำดี ทำง่าย ให้เลือด” ณ โรงแรมพะเยาเกทเวย์ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัดพะเยา จัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม คุณภาพชีวิตให้แก่สังคม รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีจิตอาสา เสียสละ มุ่งมั่นในการทำดีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเข้าใจเรื่อง “โลหิตและการบริจาคโลหิต” การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อสามารถนำความรู้ต่างๆที่ได้จากการฝึกอบรมไปช่วยเหลือบุคคลที่ประสบอุบัติเหตุได้อย่างมีคุณภาพด้วยความชำนาญ ในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างภาวะผู้นำให้แก่เยาวชน ด้วยการเป็นผู้นำในการส่งเสริมกิจกรรมการบริจาคโลหิตในสถานศึกษาและชุมชนให้บรรลุผลสำเร็จ คือได้รับปริมาณโลหิตเต็มตามจำนวนที่คาดหวัง เพื่อให้จังหวัดมีปริมาณโลหิตเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการโลหิตในการรักษา โดยมีนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดพะเยา เข้ารับการอบรมกว่า 250 คน

สำหรับโครงการดังกล่าว เครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และพาณิชยการเข้าร่วมกิจกรรมทั่งสิ้น 2,058 สถานศึกษา ครู และนักเรียนเข้าร่วมอบรมจำนวน 15,638 คน โดยมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนมีคุณธรรม รู้จักการเป็นผู้ให้ มีจิตอาสา โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้บริจาคโลหิต สนับสนุนให้เยาวชนมีบทบาทเป็นผู้นำในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่การบริจาคโลหิตสู่สังคมใกล้ตัว และมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตในสถานศึกษา ซึ่งในปี 2557 เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังคงสนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิตภายใต้แนวคิด “ทำดี..ทำง่าย..ให้เลือด” โดยจะขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการไปยังอีก 15 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพฯ และในปริมณฑลอีกด้วย


ข่าวโดย : ทีมข่าว สวท.พะเยา
หน่วยงาน : สวท.พะเยา

จังหวัดพะเยา เปิดศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดพะเยา กำหนดเป้าหมายเพื่อให้คนพะเยาได้อยู่ร่วมก้นอย่างไม่มีข้อขัดแย้ง โดยใช้กิจกรรมสาธารณะและเวทีสานเสวนาเป็นตัวเชื่อม

วันนี้ (11 มิ.ย.57) นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วย พล.ต.ชัยวัฒน์ ธนารุณ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกพะเยา อาจารย์เพทาย ประทุมทอง ที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 3 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา และพระเทพญาณเวที เจ้าคณะจังหวัดพะเยา ร่วมกันแถลงจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดพะเยา ณ ห้องประชุมภูกามยาว ชั้น 5 ศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา พร้อมชี้แจงแนวทางการดำเนินการ ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และคืนความสุขให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพะเยา โดยมีข้าราชการทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ฯ เข้าร่วม

นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดพะเยา เป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการคืนความสุขให้กับคนในชาติ พร้อมกำหนดเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้งและสลายสีเสื้อให้ทุกกลุ่มหันมาร่วมกัน โดยยึดถือสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งได้กำหนดการขับเคลื่อนต่อยอดจากพะเยาโมเดล ที่ได้ทำเรื่องสานเสวนามาตั้งแต่ปี 2551 ตลอดจนให้แกนนำเหลือง-แดง มาพูดคุยกันเพื่อยุติข้อขัดแย้ง ลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ รวมทั้งการนำกิจกรรมสร้างฝายหลวงชะลอน้ำเพื่อความสมานฉันท์ ซึ่งก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี สร้างความปรองดองของคนในพื้นที่จังหวัดพะเยา

นอกจากนี้จังหวัดพะเยาได้ตั้งคณะกรรมการปรองดองของจังหวัด ซึ่งมาจากทุกภาคส่วนเพื่อดำเนินกิจกรรมสร้างความปรองดอง และจะขับเคลื่อนกระบวนการในทันทีทั้งระดับอำเภอ ตำบล เพื่อคืนความสุขให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด



ข่าวโดย : ประมวล อุปกิจ
หน่วยงาน : สวท.พะเยา

มีอะไรในธงประเทศอาเซียน ตอนที่ 1

มีอะไรในธงประเทศอาเซียน ตอนที่ 1 นิสารัชต์ นิลสว่าง / เรียบเรียง

ทุกประเทศทั่วโลกต่างมีธงประจำชาติหรือองค์กรใหญ่ ๆ ระดับประเทศกันเป็นจำนวนมาก ธงยังเป็นเครื่องหมายตามแบบสากลนิยม ใช้เป็นเครื่องหมายเพื่อสื่อสาร เช่น บอกชาติ บอกสถานะของผู้ใช้ บอกเหตุการณ์อันเป็นภัย ใช้เป็นอาณัติสัญญาณ ใช้เป็นเครื่องตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริงหรือถือเข้ากระบวนแห่ เป็นต้น ธงส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ยังมีธงสามเหลี่ยมหรือธงรูปร่างแบบอื่นต่างกันไป สำหรับอาเซียน และประเทศในอาเซียน มีสัญญลักษณ์สื่อความหมายต่างกันตามแต่ละประเทศ ธงสัญลักษณ์อาเซียน คือ ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน - สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง - สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า - สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ - สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
                1.ธงชาติประเทศบรูไน "บรูไนดารุสซาลาม" (แปลว่า นครแห่งสันติสุข) ลักษณะของธงชาตินั้นเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีเหลือง ภายใน มีแถบสีขาวและสีดำวางพาดตามแนวทแยงมุม จากมุมบนด้านคันธงไปยังมุมล่างด้านปลายธง โดยสีขาวอยู่บน สีดำอยู่ล่าง กลางธงนั้น มีภาพตราแผ่นดินของบรูไน - พื้นธงสีเหลือง หมายถึงกษัตริย์ (ธงประจำพระองค์ของสุลต่านแห่งบรูไน ใช้ธงพื้นสีเหลือง)
- สีขาวและสีดำ หมายถึงมุขมนตรีของประเทศบรูไน
               2.ธงชาติประเทศกัมพูชา มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ผืนธงแบ่งตามแนวยาวเป็น 3 ริ้ว โดยริ้วกลางนั้นเป็นพื้นสีแดงกว้าง 2 ส่วน มีรูปปราสาทหินนครวัดสามยอดสีขาวอยู่ตรงกลาง ริ้วที่อยู่ด้านนอกทั้งสองด้านนั้นกว้างริ้วละ 1 ส่วน - พื้นสีน้ำเงิน ความหมายของสัญลักษณ์ในธงนั้นสะท้อนถึง 3 สถาบันหลักของประเทศ ดังปรากฏในคำขวัญประจำชาติว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" (เขมร: )
- พื้นสีแดงมีความหมายถึงชาติ ปราสาทนครวัดสีขาวหมายถึงสันติภาพและศาสนา ซึ่งเดิมมีรากเหง้าจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน - สีน้ำเงินนั้นหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
               3.ธงประเทศอินโดนีเซีย รู้จักกันทั่วไปในชื่อ "ซังเมราห์ปูติห์" ("Sang Merah Putih", สีแดง-ขาว) เป็นธงที่มีต้นแบบมาจากธงประจำอาณาจักรมัชปาหิตในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงแบ่งเป็นสองส่วนตามแนวนอน - สีแดง หมายถึงความกล้าหาญและอิสรภาพ - สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรม
               4.ธงชาติประเทศลาว ธงนี้มีชื่อเรียกในภาษาลาวว่า ธงดวงเดือน ได้รับการออกแบบขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย มหาสิลา วีระวงส์ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวลาว - สีแดง หมายถึง เลือดแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวลาว - สีน้ำเงิน หมายถึง ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของชาติ
- พระจันทร์สีขาว เป็นสัญลักษณ์ของดวงจันทร์ลอยเด่นเหนือลำน้ำโขง และหมายถึงเอกภาพของชาติภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (พรรคคอมมิวนิสต์ลาว) หรือหมายถึงการกลับมารวมกันอีกครั้งของชาวลาวสองฝั่งโขง
              5.ธงชาติประเทศมาเลเซีย หรือเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "ยาลูร์ เกมิลัง" ("Jalur Gemilang" มีความหมายว่า ธงริ้วแห่งเกียรติศักดิ์) มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน พื้นสีแดงสลับสีขาวรวม 14 แถบ แต่ละแถบมีความกว้างเท่ากัน ที่มุมธงด้านคันธงมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินกว้าง 8 ใน 14 ส่วนของผืนธงด้านกว้าง และยาวกึ่งหนึ่งของผืนธงด้านยาว ภายในบรรจุเครื่องหมายพระจันทร์เสี้ยวและดาว 14 แฉก ที่มีชื่อว่า "บินตัง เปอร์เซกูตัน" ("Bintang Persekutuan") หรือ "ดาราสหพันธ์" - แถบริ้วสีแดงและสีขาวทั้ง 14 ริ้วซึ่งมีความกว้างเท่ากัน หมายถึงสถานะอันเสมอภาคของรัฐสมาชิกทั้ง 13 รัฐ และรัฐบาลกลางที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ - สีน้ำเงินนั้นหมายถึงความสามัคคีของชาวมาเลเซีย - ดาว14แฉกหมายถึงความเป็นเอกภาพในหมู่รัฐดังกล่าวทั้งหมดพระจันทร์เสี้ยวหมายถึงศาสนาอิสลามศาสนาประจำชาติ  - สีเหลืองในพระจันทร์เสี้ยวและดาราสหพันธ์คือสีแห่งยังดี เปอร์ตวน อากง ผู้เป็นประมุขแห่งสหพันธ์.



ที่มา /www.nwvoc.ac.th/asean/Asean_Flag.html

มีอะไรในธงประเทศอาเซียน ตอนที่ 2

มีอะไรในธงประเทศอาเซียน ตอนที่ 2 นิสารัชต์ นิลสว่าง / เรียบเรียง

ได้รับทราบถึงธงประจำชาติของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ไปบ้างแล้ว ต่อไปยังคงเป็นประเทศที่เหลือที่ยังไม่ได้บรรยาย คือ
               6.ธงชาติประเทศฟิลิปปินส์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน ตอนต้นธงเป็นรูปสามเหลี่ยมสีขาว ภายในมีรูปดวงอาทิตย์รัศมี 8 แฉก ล้อมด้วยดาวห้าแฉก 3 ดวง ตามมุมของรูปสามเหลี่ยม รูปเหล่านี้เป็นสีทอง ส่วนทีเหลือของธงนั้นเป็นแถบแบ่งครึ่งตามด้านยาวของธง ครึ่งบนพื้นสีน้ำเงิน ครึ่งล่างพื้นสีแดง หากแถบทั้งสองสีนี้สลับตำแหน่งกัน คือ แถบสีแดงอยู่บน แถบสีน้ำเงินอยู่ตอนล่าง แสดงว่าประเทศฟิลิปปินส์อยู่ในภาวะสงคราม สามเหลี่ยมสีขาวเป็นเครื่องหมายแทนความเสมอภาคและ ภราดรภาพ - พื้นสีน้ำเงินหมายถึงสันติภาพ สัจจะ และความยุติธรรม - พื้นสีแดงหมายถึงความรักชาติและความมีคุณค่า
- รูปดวงอาทิตย์มีรัศมีแปดแฉกหมายถึงแปดจังหวัดแรกของประเทศ อันได้แก่ จังหวัดบาตังกาส, จังหวัดบูลาคัน, จังหวัดคาวิเต, จังหวัดลากูนา, จังหวัดมะนิลา, จังหวัดนูเอวา เอคิยา, จังหวัดปัมปังกา และจังหวัดตาร์ลัค ซึ่งพยายามเรียกร้องเอกราชจากสเปนและฝ่ายสเปนได้บังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่เหล่านั้นเมื่อเริ่มเหตุการณ ์การปฏิวัติฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. 2439  - ดาวสามดวงหมายถึงหมายถึงการแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ เกาะลูซอน เกาะมินดาเนา และหมู่เกาะวิสายัน
             7.ธงชาติประเทศสิงคโปร์ เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ประกอบด้วยแถบสองสีแบ่งครึ่งกลางธง แถบสีแดงอยู่ด้านบน แถบสีขาวอยู่ด้านล่าง ที่มุมธงบนด้านคันธงมีรูปพระจันทร์เสี้ยว ถัดจากรูปดังกล่าวมีรูปดาวห้าแฉก 5 ดวง เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่า รูปเหล่านี้เป็นสีขาว ความหมายสำคัญขององค์ประกอบต่างๆ ในธง อันได้แก่ - สีแดง หมายถึงภราดรภาพและความเสมอภาคของมนุษย์โดยทั่วหน้า - สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์และความดีงามที่แพร่หลายและคงอยู่ตลอดกาล
- รูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น หมายถึงความเป็นชาติใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น ดาว 5 ดวง หมายถึงอุดมคติ 5 ประการของชาติ ได้แก่ ประชาธิปไตย สันติภาพ ความก้าวหน้า ความยุติธรรม และความเสมอภาค
            8.ธงชาติประเทศไทย รียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และน้ำเงิน ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ - ชาติ (สีแดง) - ศาสนา (สีขาว) - พระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน)
           สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี) ในพระราชนิพนธ์ "เครื่องหมายแห่งไตรรงค์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2464 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนาและธรรมะ สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ แม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอดรัชสมัยของพระองค์
         9.ธงชาติประเทศเวียดนาม ลักษณะของธงชาติเวียดนามนั้นเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีแดง กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตรงกลางมีรูปดาวห้าแฉกสีเหลืองทอง สีแดงนั้นหมายถึงการต่อสู้เพื่อกู้เอกราชของชาวเวียดนาม สีเหลืองคือสีของชาวเวียดนาม ส่วนดาวห้าแฉกนั้น เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึงชนชั้นต่างๆ ในสังคมเวียดนาม คือ นักปราชญ์ ชาวนา ช่างฝีมือ พ่อค้า และทหาร อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรวมชาติเวียดนามในปี พ.ศ. 2519 ความหมายในธงได้มีการอธิบายใหม่ในทางการเมืองว่า สีแดงหมายถึงการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ และดาวสีทองหมายถึงการชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
         10.ธงชาติประเทศพม่า มีลักษณะเป็นธงสามสีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในแบ่งตามแนวนอนความกว้างเท่ากัน พื้นสีเหลือง สีเขียว และสีแดง เรียงตามลำดับจากบนลงล่าง กลางธงมีรูปดาวห้าแฉกสีขาวขนาดใหญ่ ความหมายของสัญลักษณ์ในธงชาติประกอบด้วย - สีเขียวหมายถึงสันติภาพ ความสงบ และความอุดมสมบูรณ์ของพม่า

- สีเหลืองหมายถึงความสามัคคี สีแดงหมายถึงความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง เด็ดขาด
- ดาวสีขาวหมายถึงสหภาพอันมั่นคงเป็นเอกภาพ. เราได้ทราบถึงความหมายของแต่ละชาติแล้วจากธงประจำชาติ คงเข้าใจถึงพื้นฐานความเป็นไปของแต่ละประเทศในอาเซียนของเรามากขึ้น


ที่มา /www.nwvoc.ac.th/asean/Asean_Flag.html

เตรียมพร้อมจากภัยดินโคลนถล่ม

เตรียมพร้อมจากภัยดินโคลนถล่ม นิสารัชต์ นิลสว่าง / เรียบเรียง

โคลนถล่ม เป็นภัยที่เกิดขึ้นแบบใด หากเป็นภัยธรรมชาติจะขึ้นมาจากการเคลื่อนย้ายของหิน การเคลื่อนของแผ่นดิน หรือการสไลด์ลงมาตามแนวลาดชัน เป็นการถล่มขนาดเล็กหรือใหญ่ ค่อยเกิดการเคลื่อนตัว หรือเกิดขึ้นฉับพลัน มีสาเหตุมาจากอะไร พายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ไฟป่า หรือเกิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ประเทศไทยการเกิดเหตุการณ์ดินถล่มนั้นส่วนใหญ่มีตัวกลางสำคัญในการเคลื่อนย้ายมวลของดิน คือ น้ำ โดยมากแล้วจะมีสาเหตุหลักมาจากการเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วม ทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้จึงเกิดกาวถล่มลงมาในส่วนของการเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ดินถล่มนั้นเป็นสิ่งสำคัญดังนั้นผู้เขียนจะบอกถึงวิธีการปฏิบัติตนและเตรียมรับมือก่อนเกิดเหตุการณ์ดินถล่มเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาชีวิตรอดได้ การเตรียมพร้อมและการป้องกัน
ก่อนเกิดเหตุ ก่อนเกิดเหตุให้สังเกตว่า

- มีฝนตกหนักถึงหนักมาก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน)
- ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
-น้ำในลำห้วยขุ่นมาก หรือมีสีแดงขุ่น แสดงว่าจะมีตะกอนไหลมาตามลาดเขา
- เวลาฝนตกนานๆ มีเสียงดัง อื้ออึง ผิดปกติดังมาจากภูเขาและลำห้วย
ระหว่างเกิดเหตุ
- ถ้าฝนตกหนักแบบไม่หยุดติดต่อกันหลายวัน ดินบนภูเขาอาจถล่ม ควรอพยพ หรือให้หนีไปอยู่ที่สูงๆ และรีบแจ้งเรื่องให้ทราบทั่วกันโดยเร็ว
- ถ้าพลัดตกไปในกระแสน้ำห้ามว่ายน้ำหนีเป็นอันขาด เพราะอาจจะโดนซากต้นไม้ หรือก้อนหินที่ไหลมากับโคลนกระแทกจนตายได้ และหาต้นไม้ใหญ่ที่ใกล้ที่สุดเกาะไว้แล้วปีนหนีน้ำให้ได้
หลังเกิดเหตุ
- อย่าปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ขวางทางน้ำหรือใกล้ลำห้วยมากเกินไป
- อย่าตัดไม้ทำลายป่า และช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดูดซับน้ำ
- จัดเวรยามเพื่อเดินตรวจตาดูสถานการณ์รอบๆ หมู่บ้าน เพื่อสังเกตสิ่งผิดปกติยามค่ำคืน
- ติดตามสถานการณ์และข่าวการพยากรณ์อากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน อย่างใกล้ชิด
- สำรองอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และ อุปกรณ์ฉุกเฉิน เมื่อรู้วิธีการเตรียมการป้องกันแล้วควร

ประชาชนควรหัดสังเกตสิ่งที่รอบตัวว่ามีการเปลี่ยนแปลงลักษณะแบบใด เพื่อความไม่ประมาทหากฉับเกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มจะได้รู้วิธีการรับมือเมื่อประสบภัย. …………………………..
อ้างอิง สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ http://dpm.nida.ac.th/main/index.php/articles/tsunami-and-earthquake/item/

บทความพิเศษ : ความสามัคคีพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตระหนักถึงปัญหาความแตกแยกสามัคคีของหมู่คณะมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงสอนพระภิกษุสาวกทั้งหลายว่า "ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย และเห็นความไม่วิวาทโดยความปลอดภัยแล้ว จงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน มีความประนีประนอมกันเถิด” และทรงสอนอีกว่า "ความสามัคคีพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะนำสุขมาให้”

ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึง "ความวิวาท” ว่าเป็น "ภัย” นั้น อธิบายว่า ความทะเลาะเบาะแว้ง เริ่มแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกลายเป็นการทะเลาะวิวาทโต้เถียงกันรุนแรงด้วยความโกรธเคืองกัน ระหว่างบุคคล หรือ คณะบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ย่อมก่อให้เกิดความบาดหมาง ความโกรธ ความเกลียด ถึงขั้นพยาบาทผูกใจเจ็บแค้น นำไปสู่การแตกสามัคคีกัน

บุคคล หรือ คณะบุคคลที่แตกสามัคคีกัน นับตั้งแต่สังคมย่อย เช่น ในครอบครัวย่อมหาความสงบสุขมิได้ การที่จะปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจและเอื้ออาทรต่อกันย่อมไม่มี ทำให้ขาดความปรองดองสมานฉันท์ที่จะร่วมแรงร่วมใจกันประกอบกิจการงานอาชีพ สร้างฐานะของครอบครัวให้เจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคง ฐานะของครอบครัวเช่นนั้น ย่อมถึงความเสื่อมและทรุดลง ส่งผลให้ครอบครัวแตกแยกสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูก ๆ ที่อยู่ในวัยเด็กขาดที่พึ่งอันอบอุ่น ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอีกหลายประการ เช่นกันกับการการทะเลาะวิวาทในประเทศชาติ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ฐานะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง หากการทะเลาะวิวาทนั้นรุนแรง ขยายวงกว้างออกไปถึงขั้นทำลายฝ่ายตรงข้ามให้พินาศเสียหายจนถึงขั้น ประทุษร้าย ประหัตประหารกันเพียงไร ก็ยิ่งก่อให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนแก่ประชาชนโดยส่วนรวมมากยิ่งขึ้น เพียงนั้น

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสแสดง "ความวิวาท” ว่า "เป็นภัย” และได้ตรัสสอนภิกษุสงฆ์สาวกทั้งหลายให้เห็น "ความวิวาทโดยความเป็นภัย” และให้เห็น "ความไม่ทะเลาะวิวาทโดยความปลอดภัย” แล้ว "ให้มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ให้มีความประนีประนอมกัน” และตรัสผลของความสามัคคีปรองดองว่า "ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันของหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข”



พวงพยอม คำมุง / เรียบเรียง
ข้อมูลจาก : ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่การประชาสัมพันธ์
ส่วนแผนงานและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ สปข.3

ผอ.สำนักชลประทาน ชี้แจง เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยและการจัดการปริมาณน้ำในฤดูฝน

ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ชี้แจงถึงแผนปฏิบัติการเตรียมรับมือปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้

เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย. 57) เวลา 10.00น. ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ สำนักชลประทานที่1 ถนนทุ่งโฮเต็ล ต.วัดเกตุ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 ได้เข้าร่วมการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ โดยแถลงในวาระ สถานการณ์น้ำในการบริหารและจัดการน้ำในเขตสำนักชลประทานที่ 1

ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่เชียงใหม่ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในปี 2548 และ 2554 ที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในเมืองเชียงใหม่อย่างรุนแรง พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ มี 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ตามแนวแม่น้ำปิงและพื้นที่บริเวณที่แอ่งที่ลุ่มต่ำ (ลำห้วยช้างเคี่ยน/ลำห้วยแก้ว) ซึ่งในปีนี้ทางสำนักชลประทานที่ 1 ได้จัดทำแผนปฏิบัติการและตั้งศูนย์วิเคราะห์ประมวลสถานการณ์น้ำ ตลอดจนวางแผนการระบายน้ำ ในแม่น้ำปิงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ดังกล่าว

ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการในช่วงฤดูฝนว่า ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ ทางสำนักชลประทานที่ 1 ได้วางแผนการจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเพียงพอ ประกอบด้วย การเกษตร ประมาณน้ำ 358.90 ล้านลูกบาศก์เมตร(ร้อยละ 84.84) การอุปโภค-บริโภค(และผลิตประปา) ปริมาณน้ำ 9.64 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 2.28) ภาคอุตสาหกรรม ปริมาณน้ำ 0.03 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 0.01) และการรักษาระบบนิเวศ ปริมาณน้ำ 54.48 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ12.88) รวมปริมาณน้ำที่จัดสรรตลอดช่วงฤดูฝนทั้งสิ้น 423.05 ล้านลูกบาศก์เมตร การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์วิกฤตในช่วงฤดูฝน ปี 2557 ที่อาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ทางสำนักชลประทานที่ 1 ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 68 เครื่อง และเครื่องจักรเครื่องมือ (รถบรรทุก รถเครน รถบรรทุกน้ำ) จำนวน 19 คัน สำหรับรองรับความช่วยเหลือให้กับประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นและลดระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและทรัพย์สินของประชาชน


ข่าวโดย : ผไท สุวรรณเสวตร/สมัชญา หน่อหล้า
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

กสทช.เชียงใหม่ แจงแนวทางการออกอากาศวิทยุชุมชน

รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต 9 เชียงใหม่ ชี้แจงแนวทางออกอากาศของวิทยุชุมชน โดยให้วิทยุชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง ตามประกาศ กสทช.ออกอากาศได้

 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.57 เวลา 10.00 น.ได้มีการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ สำนักชลประทานที่ 1 ถนนทุ่งโฮเต็ล ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายกฤตธิพัฒน์ กลขุนทด รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต 9 เชียงใหม่ ได้เข้าร่วมการแถลงข่าวในวาระ”แนวปฏิบัติการออกอากาศวิทยุชุมชน” กล่าวว่า หลังจากที่ กสท. ได้ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน2557 ที่ผ่านมา กสท.เห็นชอบแนวทางการแสดงความประสงค์ขอออกอากาศวิทยุกระจายเสียงของผู้ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2555 ตามที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 15/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่อง ขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอล และสถานีวิทยุชุมชน กำหนดให้สถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ระงับการถ่ายทอดออกอากาศทันที เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เรื่อง การถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนาล็อก และสถานีวิทยุกระจายเสียง กำหนดให้สถานีวิทยุกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และรวมถึงสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาต สัญญา หรือสัมปทานจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ออกอากาศรายการประจำของสถานีโทรทัศน์ได้ตามปกติ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 32/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เรื่อง ระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ กำหนดให้สถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการแล้ว ระงับการออกอากาศ เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันก่อจะให้เกิดความเข้าใจผิดจนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย

ทั้งนี้ทาง คสช.และสำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุมหารือร่วมกัน โดยได้มีการพิจารณาและมีความเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องกับประกาศ คสช.ทั้ง 3 ฉบับ จึงเห็นควรให้ผู้ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ แสดงความประสงค์ขอออกอากาศวิทยุกระจายเสียงภายใต้ประกาศ คสช. โดยจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1.เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง 2.เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำ นำเข้า มีใช้ ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ตามพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 หรือผ่านการทดสอบมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงสำหรับการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง 3.จะต้องไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช.ที่เกี่ยวกับการดำเนินการออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียง

รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต 9 เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามในขั้นตอนการดำเนินกิจการ จะเป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่าง กองทัพภาคและสำนักงาน กสทช. โดยจะร่วมกันกลั่นกรองและตรวจสอบสถานีวิทยุที่ได้รับอนุญาตโดยให้วิทยุกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการธุรกิจ ออกอากาศวิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 1 นิติบุคคล ต่อ 1 สถานี เท่านั้น ประเภทกิจการบริการสาธารณะให้ออกอากาศวิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 1 นิติบุคคล ต่อ 1 สถานี ต่อ 1 จังหวัดเท่านั้น โดยจะมีการจัดตั้งสาขานิติบุคคลในแต่ละจังหวัด ที่เป็นเขตพื้นที่การให้บริการ ประเภทกิจการบริการชุมชนให้ออกอากาศวิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 1 สถานี ต่อ 1 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงาน กสทช.เสนอแนวทางต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อพิจารณาก่อนออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการสามารถออกอากาศได้ตามหลักเกณฑ์ที่ กสท.ได้กำหนดไว้


ข่าวโดย : ผไท สุวรรณเสวตร/สมัชญา หน่อหล้า
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

กสทช.เชียงใหม่ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าเป็นตัวแทน กสทช. มาอำนวยความสะดวกในการจัดหากล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ให้ ย้ำคูปองจะส่งถึงทุกครัวเรือนทางไปรษณีย์ 1 ครัวเรือนต่อคูปอง 1 ใบ

วานนี้ (10 มิถุนายน 2557) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ สำนักชลประทานที่ 1 ถนนทุ่งโฮเต็ล ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์จังหวัดเชียงใหม่ โดยในวาระการแจกคูปองทีวีดิจิตอล แถลงโดย นายกฤตธิพัฒน์ กลขุนทด รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต 9 เชียงใหม่ และนายมานพ ไชยประสิทธิ์ งานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทราบว่ามีผู้แอบอ้างงกับประชาชนว่าเป็นตัวแทนจาก กสทช. มาอำนวยความสะดวกในการจัดหากล่องเซ็ตท็อป บ็อกซ์ (Set Top Box) ให้ โดยให้ประชาชนถ่ายสำเนาบัตรประชาชนพร้อมรับรองสำเนาให้ทางบริษัทแล้วทางบริษัทจะนำกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) มาแจกให้เลยโดยที่ประชาชนไม่ต้องนำคูปองจาก กสทช. ไปแลกซื้อกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box)เอง เรื่องนี้สำนักงาน กสทช. ขอยืนยันว่า กสทช. ไม่เคยแต่งตั้งบริษัทใดขึ้นมาเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเลย คูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลของ กสทช. ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กสทช. อีกครั้ง ซึ่งก็จะสามารถแจ้งประชาชนได้อย่างชัดเจนในรายละเอียดการแจกจ่ายคูปองทั้งมูลค่าและขั้นตอนการแจกจ่ายให้กับประชาชน ทั้งนี้ในเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มแจกคูปองสู่ครัวเรือนประชาชนได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 ในพื้นที่ที่พร้อมรับชม

รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต 9 เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช. ขอยืนยันว่าการสนับสนุนประชาชนให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช. โดยวิธีการแจกคูปองให้กับประชาชนเพื่อนำไปแลกซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยในการรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล สามารถแลกซื้อได้ทั้งอุปกรณ์แปลงในระบบดิจิตอล หรือ เซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) พร้อมสายอากาศ (Antenna) หรือใช้เป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ มีเจตนารมณ์เพื่อลดภาระและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกครัวเรือนในประเทศไทย ให้สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ในส่วนของกระบวนการแจกคูปองให้กับครัวเรือน การใช้คูปองตลอดจนการที่บริษัทนำคูปองที่ประชาชนมาแลกซื้ออุปกรณ์ ฯ ไปรับเงินสนับสนุน ต้องเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน สะดวก โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยสำนักงาน ฯ จะทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ขั้นตอนการแจกจ่ายและใช้คูปองให้ประชาชนรับรู้อย่างกว้างขวางทันทีที่สิ้นสุดการพิจารณาเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ปัจจุบันประเทศไทย ขณะนี้จนถึงวันที่ 24 เมษายน 2557 อยู่ในช่วงของการนำเนื้อหารายการไปออกอากาศเพื่อทดสอบโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล คู่ขนานไปกับโทรทัศน์ระบบแอนาล๊อกเดิม หรือช่องฟรีทีวีเดิม ช่อง 3/5/7/9/11 และ ไทยพีบีเอส ซึ่งการทดลองออกอากาศดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินของประชาชนแต่อย่างใด ประชาชนยังสามารถรับชมโทรทัศน์ ช่องฟรีทีวีเดิมช่อง 3/5/7/9/11 และ ไทยพีบีเอส ได้ในรูปแบบเดิมทุกประการ สำหรับประชาชนที่มีความพร้อมในการรับชมระบบโทรทัศน์ระบบดิจิตอลคือกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) หรือมีเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอลแล้วก็สามารถทดลองรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้



ข่าวโดย : ไผท สุวรรณเสวตร/พรไพลิน นุชเครือ
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองต้นเปา บริเวณแยก ทล.121บรรจบ ทล.1014 สายบ่อสร้าง-ดอยสะเก็ด

วานนี้ (10 มิถุนายน 2557) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ สำนักชลประทานที่ 1 ถนนทุ่งโฮเต็ล ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์จังหวัดเชียงใหม่ โดยในวาระโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองต้นเปา บริเวณแยก ทล.121บรรจบ ทล.1014 สายบ่อสร้าง-ดอยสะเก็ด แถลงโดย ดร.ปรีดา พิชยาพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การขยายตัวของชุมชนรอบตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษา การค้า การบริหารราชการ ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรหนาแน่นทั่วทั้งพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่และจุดเชื่อมเส้นทางระหว่างตัวเมืองเชียงใหม่กับชุมชนรอบนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเชื่อมเส้นทางไปสู่อำเภอสันกำแพง เพื่อให้การเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างตัวเมืองเชียงใหม่กับอำเภอสันกำแพงมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามรถแก้ไขปัญหาการจราจร และช่วยลดปริมาณการใช้พลังงาน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้าง ถนนเลี่ยงเมืองต้นเปา บริเวณแยก ทล.121บรรจบ ทล.1014 สายบ่อสร้าง-ดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตามแผนงาน/โครงการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงานงบประมาณ เสนอขออนุมัติ โดยมอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

ซึ่งกรมทางหลวงชนบทได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) พร้อมจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เนื่องจากแนวเขตทางของถนนโครงการจะต้องผ่านพื้นที่เอกชน และชุมชนหลฃายแห่งซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและวิถีชีวิตในพื้นที่ ทั้งยังจะต้องมีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อศึกษาแนวทางเลือกและกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมพร้อมจัดทำแบบเชิงหลักการ (Conceptual Design) ของถนนเลี่ยงเมืองต้นเปา บริเวณแยก ทล.121บรรจบ ทล.1014 สายบ่อสร้าง-ดอยสะเก็ดอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และส่วนต่อขยายที่เชื่อมกับถนน ชม.3029 และ ชม.4039 เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมละสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการ การดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองต้นเปาฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 โดยมี ดร.ปรีดา พิชยาพันธ์ เป็นหัวหน้าโครงการแล้วจะมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2557 ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการสำรวจรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของแนวเส้นทางต่างๆ

เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของโครงการและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการจราจรและสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างแท้จริงโครงการฯจึงจัดให้มีการประชุมชี้แจงโครงการฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2557 เวลา 09.00-12.00 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่


ข่าวโดย : ไผท สุวรรณเสวตร/พรไพลิน นุชเครือ
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

คณะสังคมศาสตร์ มช.จัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันกับผู้ปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ และตัวแทนฝ่ายปกครองในพื้นที่อำเภอจอมทอง

วันนี้ (11 มิ.ย.57) เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ นายประหยัด อนันต์ประดิษฐ์ ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าเพื่อลดปัญหาหมอกควัน โครงการวิจัย “การสร้างกระบวนการเรียนรู้และถอดบทเรียนจากการจัดการไฟป่าเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในตำบลสบเตี๊ยะ แม่สอย และบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน เป็นผู้ปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ และตัวแทนฝ่ายปกครองในพื้นที่อำเภอจอมทอง จำนวน 30 คน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธินี ดนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าระหว่างคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับผู้เข้าร่วมปฏิบัติงานและเข้าร่วมการประชุมที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับปฏิบัติการ และระดับวางแผนและนโยบายในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรป่าไม้ของจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเชิงประจักษ์และองค์ความรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติร่วมกับภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาไฟป่าที่เป็นสาเหตุของการเกิดหมอกควันในระหว่างไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 (มกราคม – มีนาคม 2557 และ เมษายน – มิถุนายน 2557) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินโครงการวิจัย “การสร้างกระบวนการเรียนรู้และถอดบทเรียนจากการจัดการไฟป่าเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในตำบลสบเตี๊ยะ แม่สอย และบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งผลการดำเนินงานตามโครงการที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประการ ประกอบด้วย ประการแรก เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการจัดการไฟในเขตป่าผลัดใบเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันโดยการปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ประการที่ 2 เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จากวิธีการจัดการไฟแบบต่าง ๆ ในเขตป่าผลัดใบของภาคีเครือข่าย ประการที่ 3 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้จากการบูรณาการการจัดการไฟป่าแบบมีส่วนร่วมที่สามารถนำไปขยายผลและเผยแพร่ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ป่าผลัดใบ และนำเสนอเป็นนโยบายสาธารณะต่อการจัดการไฟป่าในเขตป่าผลัดใบ โดยมีแนวทางการทำงานที่เริ่มต้นจากการร่วมกันคิด

จากนั้นจึงทดลองทำตามวิธีการที่เลือก มีการประเมินผลลัพธ์ การทบทวนปัญหา เงื่อนไขและข้อจำกัดของวิธีการที่เลือกมาบริหารจัดการไฟป่า จากนั้นได้นำไปปรับปรุงแล้วนำกลับไปทดลองดำเนินการด้วยวิธีการเดิมที่มีการปรับปรุงแล้ว ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความคาดหวังว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจและความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันผ่านประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ การค้นหาทางเลือกที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด การสร้างภาคีเครือข่ายและกลไกในระดับปฏิบัติการ โดยให้ท้องถิ่นเข้ามามีทบทบาท ในการขับเคลื่อนการจัดการไฟป่าร่วมกับภาครัฐและสามารถลดการเกิดหมอกควันลงได้ นอกจากนั้นยังได้องค์ความรู้ด้านการจัดการป่าไม้และไฟป่า การปรับวิธีการแก้ไขหมอกควันให้เข้ากับบริบทชุมชนทางสังคมและเศรษฐกิจ สำหรับพื้นที่ดำเนินการตามโครงการมีจำนวนทั้งสิ้น 36,661 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวงในเขตท้องที่ตำบลสบเตี๊ยะ แม่สอย และบ้านแปะ อำเภอจอมทอง มีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ 21 แห่ง และมูลนิธิธรรมนาถ แบ่งเป็นแปลงป่า 35 แปลงที่ชิงเผาและไม่ชิงเผา

หัวหน้าโครงการวิจัย ฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่นำวิธีการชิงเผามาเป็นทางเลือกในการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันว่า เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนที่ให้ข้อมูลถึงวิธีการบริหารจัดการไฟป่ามากที่สุดถึงร้อยละ 77 เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีการที่สามารถลดจำนวนเชื้อเพลิงในป่าให้ลดลางบางส่วนเป็นการล่วงหน้าก่อนที่เชื้อเพลิงจะมีปริมาณสะสมมากจนเกินไป สามารถลดความรุนแรงของโอกาสการเกิดไฟป่าในภายหลัง ในขณะดำเนินการยังพบว่าไฟที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงน้อยซึ่งจัดอยู่ในระดับต่ำ และสอดคล้องกับอัตราการลุกลามของไฟที่ไม่รวดเร็วมากนัก สามารถควบคุมและดับไฟได้ทันหากมีไฟลุกลามออกไปนอกแปลงป่า โดยวิธีการนี้ใช้เวลาทำงานเพียงหนึ่งวัน และยังใช้แรงงานไม่มาก ซึ่งสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก


ข่าวโดย : ราตรี จักร์แก้ว
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีทำบุญตักบาตร และ ประกอบพิธีเททองหล่อรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย

เนื่องในเป็นวันคล้ายวันเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อสืบสานปณิธานการพัฒนา พระพุทธศาสนา และความเจริญของบ้านเมือง คณะสงฆ์จังหวัดประกอบพิธีเททองหล่อรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อสร้างเป็นอนุสาวรีย์ ณ พุทธมณฑลจังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ (11 มิ.ย 57) เวลา 06.30 น. นายสุริยะ ประสาทบัณฑิคย์ เป็นประธานในพิธี ณ ลานอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เชิงดอยสุเทพ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย หลังจากนั้น เวลา 09.59 น. พระเดชพระคุณ พระธรรมมังคลาจารณย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 พระเทพโกศล เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ประธานสภาวิทยาเขตเชียงใหม่ ประธานฝ่ายสงฆ์ พระเทพปริยัติ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ พระเทพมังคลาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ พระโพทธิรังสี เจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด พร้อมด้วย ผวจ.เชียงใหม่ และส่วนราชการต่างๆ ร่วมเจิมและปิดทองแผ่นศิลากฤษ์ ดอกไม้หมุดมงคล วางอิฐ ทอง นาก เงิน และวัตถุมงคลต่างๆ ณ มณฑลพิธีวางศิลากฤษ์ โดยโครงสร้างอนุสาวรีย์ รูปหล่อครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย สูง 2.60 เมตร ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

ตามที่กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้จังหวัดเชียงใหม่ และคณะสงฆ์ จังหวัดเชียงใหม่ ใช้พื้นที่เขตขุนน้ำแม่กวง บ้านโป่งกุ่ม ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จำนวน 906 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ 300 ไร่ และ 606 ไร่ สร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ (มจร.) หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 พระธรรมมังคลาจารณย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 พระเทพโกศล เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ประธานสภาวิทยาเขตเชียงใหม่ ประธานฝ่ายสงฆ์ พระเทพปริยัติ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ พระเทพมังคลาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ พระโพทธิรังสี เจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด พร้อมด้วย ผวจ.เชียงใหม่ และส่วนราชการต่างๆ ประกอบพิธีมงคลปฐมกฤษ์ลงจอบแรก เตรียมพื้นที่สร้างพุทธมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่ พร้อมกับปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งพิธีลงจอบแรกสร้างพุทธมณฑล และ มจร. วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้ยึดตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชชโย นักบุญแห่งล้านนาไทยที่ประชาชนเคารพนับถือ ได้สร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ



ข่าวโดย : ณัฏฐ์ สินันตา/วิมลฉัตร สุดวิลัย/สมัชญา หน่อหล้า
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

แผนการดำเนินกิจกรรมสร้างความปองดรองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ สร้างรอยยิ้มให้ชาวเชียงราย

วันนี้ (11 มิ.ย. 57) เวลา 13.30 น. นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย และผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบ Video conference กับนายอำเภอ และผู้แทนจาก 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องอู่หลง ศาลากลางจังหวัดเชียงราย

นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ กล่าวว่า กิจกรรมการปรองดองสมานฉันท์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกอำเภอ ทุกตำบล และทุกหมู่บ้านทุกชุมชน เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ถูกกำหนดด้วยเวลาและสถานการณ์ ทุกอำเภอจึงต้องดำเนินการพร้อมรายงานผลอย่างเร่งด่วน โดยนายอำเภอต้องลงมากำกับด้วยตัวเอง

ด้านนายชาติชาย สงวนพงษ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดกิจกรรม "การปรองดองสมานฉันท์ ประสานใจ คืนความสุขให้คนไทยทั้งแผ่นดิน” เป็นการเสริมสร้างความสามัคคี โดยจะมีการประชุมชี้แจงในระดับอำเภอกับข้าราชการทุกส่วนราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอ สมาชิกสภาท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรม ซึ่งในเบื้องต้นทุกอำเภอต้องคัดเลือกผู้ทำหน้าที่เป็นวิทยากร เข้ารับการฝึกอบรมก่อนลงไปปฏิบัติหน้าที่อำเภอละ 2 คน

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดเชียงราย อยู่ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย (กอ.รมน.จังหวัด ช.ร.) ชั้น 2 ศากลางจังหวัดเชียงราย เป็นศูนย์กลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีร่อรัฐ เป็นองค์กรในการขับเคลื่อนกิจกรรม สร้างความปรองดอง สมานฉันท์ และป้องกันไม่ให้มีการปุกระดมมวลชน ที่จะนำไปสู่ความแตกแยก แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างที่เป็นมาในอดีต อีกทั้งเป็นองค์การส่งเสริมการแสดงออก ในด้านความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม เป็นเวทีที่จะนำประชาชนที่มีความขัดแย้ง ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มาเปิดใจพูดคุยกันอย่างสันติวิธี



นันทวรรณ กันคำ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 จัดอบรมเพื่อป้องกัน ป้องปราม เข้าใจ และรู้ทันการเล่นพนันฟุตบอล ให้กับคณะผู้บริหารโรงเรียนในสังกัด

เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ที่ห้องประชุมมิ่งมณฑล สำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 เป็นประธานเปิดการอบรม การรณรงค์เพื่อป้องกัน ป้องปราม เข้าใจและรู้เท่าทันการเล่นพนันฟุตบอลโลก 2014 ในเด็กและเยาวชน โดยในการอบรมครั้งนี้ ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พิษณุโลก เขต 1 ได้ร่วมกับตำรวจภูธรภาค 6 โดยมี พล.ต.ต.สรศักดิ์ เย็นเปรม รองผู้บัญชาการตำรวจภาค 6 เป็นวิทยาการให้ความรู้ พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดผ่าน วีดีโอคอนเฟอร์เร้น ให้ความรู้กับผู้บริหารโรงเรียน และครู 60 โรงเรียน ซึ่งเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล วิธีการเล่นพนัน วิธีการสังเกตคนติดพนันฟุตบอล รวมถึงตัวอย่างของคนที่ติดพนันฟุตบอล แล้วไปก่ออาชญากรรม ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารโรงเรียน และ ครู สามารถสังเกตและให้ความรู้แก่นักเรียน เพื่อเป็นการป้องกันการเล่นพนันฟุตบอลในกลุ่มนักเรียน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 เปิดเผยว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมการรับชมและการเล่นพนันการทายฟุตบอลโลก 2014 พบว่า นักพนันจะเริ่มเล่นพนันครั้งแรกในช่วงอายุ 8 -14 ปี หรือ น้อยกว่า 15 ปี ซึ่งทำให้สำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 เกิดความเป็นห่วงนักเรียนมากขึ้น เนื่องจากกระแสเทคโนโลยีเรื่องอินเตอร์เน็ตและการเข้าถึงแหล่งพนันทางเทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่าย

รองผู้ว่าฯพิษณุโลก ประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการศูนย์ประสานการกระจายผลผลิตด้านการเกษตรสู่ผู้บริโภค

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุ จากปัญหาวิกฤตภัยแล้งทั่วโลกที่รุนแรงขึ้น สร้างโอกาสให้เกษตรกรไทย ผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่ไทยเองก็ต้องมีการพัฒนาวิธีการผลิต และจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้เพียงพอ

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมพระศรีศาสดา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายประภาส บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับคณะกรรมการศูนย์ประสานการกระจายผลผลิตด้านการเกษตรสู่ผู้บริโภค 74,963 หมู่บ้าน จาก 12 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งในส่วนของ จังหวัดพิษณุโลก นายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังนโยบาย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งศูนย์ประสานการกระจายผลผลิตด้านการเกษตรสู่ผู้บริโภค จำนวน 74,963 หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2556 มีการกระจายผลไม้จากภาคตะวันออกเป็นจำนวนมากและทำให้ไม่เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี และปีนี้ก็จะใช้แนวทางเดิมในการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตให้รวดเร็วเช่นกัน นอกจากนี้ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตร กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาตกต่ำ ซึ่งขณะนี้ พบว่าผลไม้หลายชนิดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกกำลังจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โอกาสนี้ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤตภัยแล้งทั่วโลกที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกพืช สร้างโอกาสให้เกษตรกรไทย ผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่ไทยเองก็ต้องมีการพัฒนาวิธีการผลิต และจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้เพียงพอด้วย

กองบิน 46 หน่วยมิตรประชา ช่วยเหลือประชาชนที่โรงเรียนวัดยางเอน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

เช้าวันนี้ ( 11 มิ.ย.57 ) ที่โรงเรียนวัดยางเอน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นาวาอากาศฐากูร นาครทรรพ ผบ.บน. 46 พร้อมคณะออกหน่วยมิตรประชา ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน โดยให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป ตัดผมชาย-หญิง จากโรงเรียนเสริมสวยคุณโจ พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การศึกษา และมอบทุนสนับสนุนการศึกษา / ทุนอาหารกลางวัน ชมการแสดงจากชมรมเครื่องบินเล็กบังคับวิทยุ กองบิน 46 และการแสดงดนตรี จากเจ้าหน้าที่ กองบิน 46 พร้อมทั้งเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง

จังหวัดพิษณุโลก ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์ปรองดองสมานฉันทน์เพื่อการปฎิรูปจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 1 /2557

เช้าวันนี้ (10 มิ.ย. 57) ที่ห้องประชุมสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นาย ระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 1 /2557 เพื่อทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ถึงแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ปองดองสมานฉันท์ เพื่อเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ฟื้นฟูประชาธิปไตย เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ้งสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการ แผนงานโครงการกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี/ปรองดอง ลดความขัดแย้งในสังคม สลายสีเสื้อให้กลับมาร่วมมือกัน

โดยยึดถือสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการปฎิบัติงานของจังหวัดพิษณุโลก ไม่ยึดรูปแบบตายตัว โดยให้ฝ่ายปกครองทุกระดับ เป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และ ขอความร่วมมือจาก ตำรวจ ผู้นำองค์กรชุมชน ทหารในพื้นที่ ที่ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อลดเงื่อนไขที่มีอยู่ของแต่ละฝ่ายให้มากที่สุด หากมีประเด็นปัญหาในเรื่องใดที่ไม่สามารถตกลงกันได้ จะมีการรวบรวมปัญหาข้อขัดข้องและข้อคิดเห็นที่มีการเสนอแนะ รายงานเสนอต่อหน่วยเหนือให้ทำการพิจารณาตามลำดับ โดยการดำเนินการในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีการประชุมประชาคมหมู่บ้าน ระดมความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน เพื่อใช้กำหนดเป็นแนวทางกิจกรรม เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

เลขานุการนายก อบจ.พิษณุโลก เปิดโครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนในการดำรงชีพที่อำเภอชาติตระการ

วันที่ 11 มิถุนายน 2557 ที่ศูนย์ประสานแผนพัฒนาอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ว่าที่ร้อยตรีวีรภัทร จีนด้วง เลขานุการนายก อบจ.พิษณุโลก พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ คงศิริ รองปลัด อบจ.พิษณุโลก นางภิฬารัตน์ สีหะวงษ์ และนางสิงห์ จันทะคุณ ส.อบจ.พิษณุโลก อำเภอชาติตระการ ร่วมเปิดโครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนในการดำรงชีพ โดยมีมีนายสมบูรณ์ บุญเศรษฐโชติ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ซึ่งโครงการดังกล่าวองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกได้ดำเนินการศึกษาปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการองประชาชนตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหา โดยนำเครื่องอุปโภค บริโภค มามอบให้กับพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนในการดำรงชีพในอำเภอชาติตระการ อาทิ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย โดยได้รับความร่วมมือจาก เทศบาลตำบล และอบต. ในพื้นที่ชาติตระการ ในการสำรวจราษฏรที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งนี้มีราษฏรเข้ารับการช่วยเหลือในโครงการกว่า 685 ราย

ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก เชิญชวนประชาชน ร่วมสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก เชิญชวนประชาชน ร่วมสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ โดยจะมีขบวนอัญเชิญพระบรมรูปฯ ผ่านเส้นทางสำคัญในเขตอำเภอเมือง พร้อมทั้งมีพิธีถวายราชสักการะ และจัดพิธีสมโภช

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 มิถุนายน 2557 พลตำรวจตรี ชฎิล พรหมไพบูลย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จากดำริของพลตำรวจโท วรศักดิ์ นพสิทธิพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ที่ต้องการสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ลักษณะพระบรมรูปทรงประทับยืน พระหัตถ์ขวาหลั่งน้ำทักษิโณฑก ประกาศอิสรภาพของชาติไทย พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ มีความสูงรวมฐาน 9 เมตร ขนาด 2 เท่าตัวของพระองค์จริง หล่อด้วยวัสดุโลหะสำริด การออกแบบและการหล่ออยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร เพื่อประดิษฐานไว้ที่ตำรวจภูธรภาค 6 ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของข้าราชการตำรวจภาค 6 ทุกนาย และเป็นที่สักการะของประชาชนทั่วไป โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 10 ล้านบาท ด้วยการบริจาคเงินโดยข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 6 ทั้ง 9 จังหวัด คนละ 9 บาท มีการทำพิธีเททองใหญ่ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2557 โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานในพิธี ซึ่งบัดนี้ได้จัดสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มีพิธีเคลื่อนขบวนอัญเชิญพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากโรงหล่อจังหวัดนครปฐม มายังจังหวัดพิษณุโลก

ซึ่งผ่านจังหวัดต่างๆ ในภาค 6 ครบแล้วทั้ง 9 จังหวัด สำหรับจังหวัดพิษณุโลก ขบวนอัญเชิญพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะมาถึงในวันที่ 17 มิถุนายน 2557 นี้ โดยจะเริ่มตั้งขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติด้วยการตกแต่งรูปขบวน เสมือนพระมหากษัตริย์ทรงเสด็จมาในพื้นที่ ขบวนจะเริ่มออกจากบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร เวลา 13.00 น. ผ่านเส้นทางต่างๆ ที่ สำคัญ ในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก ก่อนที่ ในเวลา 16.00 น. ขบวนเคลื่อนมาถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อประกอบพิธีถวายเครื่องสักการะหลวงพ่อพุทธชินราช จากนั้นในเวลา 18.00 น. ขบวนเคลื่อนมาถึงพระราชวังจันทร์ เพื่อประกอบพิธีราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมทั้งจัดพิธีสมโภช โดยจะเปิดให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้ร่วมกันถวายราชสักการะ และในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 จะเคลื่อนขบวน แล้วจะอัญเชิญไปประดิษฐานอย่างถาวรไว้ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 6 จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่สักการะของประชาชนต่อไป