วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บทความพิเศษ : ความสามัคคีพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตระหนักถึงปัญหาความแตกแยกสามัคคีของหมู่คณะมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงสอนพระภิกษุสาวกทั้งหลายว่า "ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย และเห็นความไม่วิวาทโดยความปลอดภัยแล้ว จงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน มีความประนีประนอมกันเถิด” และทรงสอนอีกว่า "ความสามัคคีพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะนำสุขมาให้”

ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึง "ความวิวาท” ว่าเป็น "ภัย” นั้น อธิบายว่า ความทะเลาะเบาะแว้ง เริ่มแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกลายเป็นการทะเลาะวิวาทโต้เถียงกันรุนแรงด้วยความโกรธเคืองกัน ระหว่างบุคคล หรือ คณะบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ย่อมก่อให้เกิดความบาดหมาง ความโกรธ ความเกลียด ถึงขั้นพยาบาทผูกใจเจ็บแค้น นำไปสู่การแตกสามัคคีกัน

บุคคล หรือ คณะบุคคลที่แตกสามัคคีกัน นับตั้งแต่สังคมย่อย เช่น ในครอบครัวย่อมหาความสงบสุขมิได้ การที่จะปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจและเอื้ออาทรต่อกันย่อมไม่มี ทำให้ขาดความปรองดองสมานฉันท์ที่จะร่วมแรงร่วมใจกันประกอบกิจการงานอาชีพ สร้างฐานะของครอบครัวให้เจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคง ฐานะของครอบครัวเช่นนั้น ย่อมถึงความเสื่อมและทรุดลง ส่งผลให้ครอบครัวแตกแยกสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูก ๆ ที่อยู่ในวัยเด็กขาดที่พึ่งอันอบอุ่น ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอีกหลายประการ เช่นกันกับการการทะเลาะวิวาทในประเทศชาติ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ฐานะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง หากการทะเลาะวิวาทนั้นรุนแรง ขยายวงกว้างออกไปถึงขั้นทำลายฝ่ายตรงข้ามให้พินาศเสียหายจนถึงขั้น ประทุษร้าย ประหัตประหารกันเพียงไร ก็ยิ่งก่อให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนแก่ประชาชนโดยส่วนรวมมากยิ่งขึ้น เพียงนั้น

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสแสดง "ความวิวาท” ว่า "เป็นภัย” และได้ตรัสสอนภิกษุสงฆ์สาวกทั้งหลายให้เห็น "ความวิวาทโดยความเป็นภัย” และให้เห็น "ความไม่ทะเลาะวิวาทโดยความปลอดภัย” แล้ว "ให้มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ให้มีความประนีประนอมกัน” และตรัสผลของความสามัคคีปรองดองว่า "ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันของหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข”



พวงพยอม คำมุง / เรียบเรียง
ข้อมูลจาก : ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่การประชาสัมพันธ์
ส่วนแผนงานและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ สปข.3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น