วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คณะสังคมศาสตร์ มช.จัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันกับผู้ปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ และตัวแทนฝ่ายปกครองในพื้นที่อำเภอจอมทอง

วันนี้ (11 มิ.ย.57) เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ นายประหยัด อนันต์ประดิษฐ์ ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าเพื่อลดปัญหาหมอกควัน โครงการวิจัย “การสร้างกระบวนการเรียนรู้และถอดบทเรียนจากการจัดการไฟป่าเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในตำบลสบเตี๊ยะ แม่สอย และบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน เป็นผู้ปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ และตัวแทนฝ่ายปกครองในพื้นที่อำเภอจอมทอง จำนวน 30 คน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธินี ดนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าระหว่างคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับผู้เข้าร่วมปฏิบัติงานและเข้าร่วมการประชุมที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับปฏิบัติการ และระดับวางแผนและนโยบายในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรป่าไม้ของจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเชิงประจักษ์และองค์ความรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติร่วมกับภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาไฟป่าที่เป็นสาเหตุของการเกิดหมอกควันในระหว่างไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 (มกราคม – มีนาคม 2557 และ เมษายน – มิถุนายน 2557) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินโครงการวิจัย “การสร้างกระบวนการเรียนรู้และถอดบทเรียนจากการจัดการไฟป่าเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในตำบลสบเตี๊ยะ แม่สอย และบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งผลการดำเนินงานตามโครงการที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประการ ประกอบด้วย ประการแรก เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการจัดการไฟในเขตป่าผลัดใบเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันโดยการปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ประการที่ 2 เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จากวิธีการจัดการไฟแบบต่าง ๆ ในเขตป่าผลัดใบของภาคีเครือข่าย ประการที่ 3 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้จากการบูรณาการการจัดการไฟป่าแบบมีส่วนร่วมที่สามารถนำไปขยายผลและเผยแพร่ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ป่าผลัดใบ และนำเสนอเป็นนโยบายสาธารณะต่อการจัดการไฟป่าในเขตป่าผลัดใบ โดยมีแนวทางการทำงานที่เริ่มต้นจากการร่วมกันคิด

จากนั้นจึงทดลองทำตามวิธีการที่เลือก มีการประเมินผลลัพธ์ การทบทวนปัญหา เงื่อนไขและข้อจำกัดของวิธีการที่เลือกมาบริหารจัดการไฟป่า จากนั้นได้นำไปปรับปรุงแล้วนำกลับไปทดลองดำเนินการด้วยวิธีการเดิมที่มีการปรับปรุงแล้ว ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความคาดหวังว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจและความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันผ่านประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ การค้นหาทางเลือกที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด การสร้างภาคีเครือข่ายและกลไกในระดับปฏิบัติการ โดยให้ท้องถิ่นเข้ามามีทบทบาท ในการขับเคลื่อนการจัดการไฟป่าร่วมกับภาครัฐและสามารถลดการเกิดหมอกควันลงได้ นอกจากนั้นยังได้องค์ความรู้ด้านการจัดการป่าไม้และไฟป่า การปรับวิธีการแก้ไขหมอกควันให้เข้ากับบริบทชุมชนทางสังคมและเศรษฐกิจ สำหรับพื้นที่ดำเนินการตามโครงการมีจำนวนทั้งสิ้น 36,661 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวงในเขตท้องที่ตำบลสบเตี๊ยะ แม่สอย และบ้านแปะ อำเภอจอมทอง มีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ 21 แห่ง และมูลนิธิธรรมนาถ แบ่งเป็นแปลงป่า 35 แปลงที่ชิงเผาและไม่ชิงเผา

หัวหน้าโครงการวิจัย ฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่นำวิธีการชิงเผามาเป็นทางเลือกในการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันว่า เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนที่ให้ข้อมูลถึงวิธีการบริหารจัดการไฟป่ามากที่สุดถึงร้อยละ 77 เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีการที่สามารถลดจำนวนเชื้อเพลิงในป่าให้ลดลางบางส่วนเป็นการล่วงหน้าก่อนที่เชื้อเพลิงจะมีปริมาณสะสมมากจนเกินไป สามารถลดความรุนแรงของโอกาสการเกิดไฟป่าในภายหลัง ในขณะดำเนินการยังพบว่าไฟที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงน้อยซึ่งจัดอยู่ในระดับต่ำ และสอดคล้องกับอัตราการลุกลามของไฟที่ไม่รวดเร็วมากนัก สามารถควบคุมและดับไฟได้ทันหากมีไฟลุกลามออกไปนอกแปลงป่า โดยวิธีการนี้ใช้เวลาทำงานเพียงหนึ่งวัน และยังใช้แรงงานไม่มาก ซึ่งสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก


ข่าวโดย : ราตรี จักร์แก้ว
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น