วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สรุปความเสียหายจากแผ่นดินไหว โดย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้แถลงข่าวเมื่อเวลา 16.00 น.

สรุปความเสียหายจากแผ่นดินไหว โดย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้แถลงข่าวเมื่อเวลา 16.00 น. (6 พค.57) เกิดความเสียหายดังนี้
                   1.อำเภอพาน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย วัดได้รับความเสียหาย 2 แห่ง โรงเรียน 2 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง และบ้านเรือนประชาชน 225 หมู่บ้าน
                   2.อำเภอแม่ลาว มีผู้เสียชีวิต 1 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย วัดได้รับความเสียหาย 6 แห่ง โรงพยาบาล 1 แห่ง ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 118 สายเชียงราย – เชียงใหม่ 1 แห่ง สำนักงาน อบต. 1 แห่ง บ้านเรือนประชาชน 63 หมู่บ้าน
                   3.อำเภอแม่สรวย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ไฟฟ้าดับ 2 หมู่บ้าน ไหล่ทางมีรอยร้าว 1 จุด บ้านเรือนประชาชน 61 หมู่บ้าน
                     4.อำเภอเมืองเชียงราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย วัดได้รับความเสียหาย 1 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง และบ้านเรือนประชาชน 224 หมู่บ้าน
                     5.อำเภอเวียงชัย วัดได้รับความเสียหาย 1 แห่ง ระบบประปาหมู่บ้านเสียหายขาดแคลนน้ำ และบ้านเรือนประชาชน 24 หมู่บ้าน
                      6.อำเภอป่าแดด วัดได้รับความเสียหาย 1 แห่ง แนวป้องกันน้ำเซาะพังทลาย ยาวประมาณ 20 เมตร และบ้านเรือนประชาชน 36 หมู่บ้าน
                      7. อำเภอพญาเม็งราย บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 1 หมู่บ้าน
                       สรุปความเสียหาย 7 อำเภอ 34 ตำบล 401 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 1 ราย จะได้เงินช่วยเหลือทันที จำนวน 25,000 บาท

ผู้บาดเจ็บ 23 ราย กรณีต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับ เงินช่วยเหลือ จำนวน 3,000 บาท

บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง จำนวน 4 หลัง จะได้รับเงินช่วยเหลือหลังละ 33,000 บาท บ้านเรือนเสียหายบางส่วน จำนวน 3,500 หลัง จะได้รับค่าซ่อมแซมหรือวัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำที่ผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 33,000 บาท โดยมีคณะกรรมการจากท้องถิ่นตรวจสอบ ความเสียหายและมีช่างโยธาเป็นผู้ประมาณการความเสียหายแต่ละหลัง

สำหรับวัด เสียหาย 10 แห่ง ทางสำนักงานพระพุทธศาสนา จะเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือ โรงเรียนเสียหาย 3 แห่ง เขตพื้นที่การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือ แถลงข่าว ณ เวลา 16.00 น. ( วันที่ 6 พฤษภาคม 2557)

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและเยี่ยมประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บจากแผ่นดินไหว

นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ออกสำรวจความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว พร้อมเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำ สันเขื่อนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ ยังไม่พบความเสียหายและรอยแตกร้าว โดยโครงสร้างสันเขื่อนสามารถรองรับแรงสันสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ถึง 7.0 ริกเตอร์

ส่วนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 สายเชียงใหม่เชียงราย บริเวณตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว และตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย ถนนทรุดตัวบริเวณไหล่ทาง การสัญจรยังเดินทางไปมาได้ โดยขอให้ใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวัง สำหรับการช่วยเหลือประชาชน ได้สั่งการไปยังท้องถิ่น เร่งสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร่งด่วน ซึ่งจังหวัดพร้อมให้การช่วยเหลือในทันที





นันทวรรณ กันคำ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ
 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

จังหวัดเชียงราย เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน หลังตระหนกตกใจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 น. โดยสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ความลึก 7 กม. แรงสั่นสะเทือนขนาด 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอพาน อำเภอแม่ลาว อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงชัย และทุกอำเภอของจังหวัดเชียงราย รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนทำให้การส่งสารผ่าน Social network เป็นไปอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ทำให้ข้อมูล คาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับประชาชนชาวเชียงราย และญาติพี่น้อง ที่ได้รับรู้ข่าวสาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมิให้เกิดความสับสนในการดำรงชีวิต

จังหวัดเชียงรายจึงแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ว่า กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่า จะมี Afters hock เกิดขึ้นตามมาอีกไม่เกิน 3 วัน โดยความสั่นสะเทือนจะลดลง

จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตระหนกตกใจ พร้อมแนะวิธีการเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ให้หมอบลงกับพื้น หรือหลบอยู่ใต้โต๊ะ ตั้งสติให้ดี หากอยู่ในอาคารที่ไม่มั่นคง ให้ออกจากอาคารโดยเร็ว ห้ามใช้ลิฟท์

ในขณะที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียรายราย ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย จัดแถลงข่าวความเคลื่อนไหวต่อสื่อมวลชน ทุก 2 ชั่วโมง




นันทวรรณ กันคำ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ
 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย แถลงข่าวเรื่อง เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เวลา 14.00 น. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย แถลงข่าวเรื่อง เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เวลา 18.08 น.

โดยสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (19.682 N , 99.687E) ความลึก 7 กม. แรงสั่นสะเทือนขนาด 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอพาน อำเภอแม่ลาว อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงชัยและอำเภอข้างเคียง

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและมิให้เกิดความสับสนในการดำรงชีวิตจังหวัดเชียงราย จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ ดังนี้
                 1. กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า จะมี Aftershock เกิดขึ้น ตามมาอีกไม่เกิน 3 วัน (คาดว่าสิ้นสุดวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 น.) โดยความสั่นสะเทือนจะลดลง จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตระหนกตกใจ
                 2. อ่างเก็บน้ำ สันเขื่อนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย กรมชลประทานยืนยันว่า มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ ยังไม่พบความเสียหายแตกร้าว โดยโครงสร้างสันเขื่อน สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ถึง 7.0 ริกเตอร์
                 3. การเตรีมความพร้อมเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ให้หมอบลงกับพื้น หรือหลบอยู่ใต้โต๊ะ ตั้งสติให้ดี หากอยู่ในอาคารที่ไม่มั่นคงให้ออกจากอาคารโดยเร็ว ห้ามใช้ลิฟท์ และหลังเหตุการณ์สงบลงให้ใส่รองเท้าหุ้มส้น ตรวจสอบสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส และอย่าจุดไฟ
                 4. ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 สายเชียงใหม่ – เชียงราย บริเวณตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว และตำบลแม่สรวย อำเอแม่สรวย ถนนทรุดตัวบริเวณไหล่ทาง การสัญจรยังเดินทางไปมาได้ โดยขอให้ใช้ความระมัดระวัง จึงประกาศประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน ประกาศ ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2557



สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย/6 พฤษภาคม 2557

สรุปสถานการณ์ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 เวลา 18.08 น. จุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.3 ริกเตอร์ ลึกจากผิวดิน 7 กม.

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย สรุปสถานการณ์ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 เวลา 18.08 น. จุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.3 ริกเตอร์ ลึกจากผิวดิน 7 กม.
                     1. เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 เวลา 18.08 น. ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (19.682N,99.687E) ความลึก 7 กม. แรงสั่นสะเทือนขนาด 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงราย และอำเภอใกล้เคียง จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และโรงพยาบาลแม่ลาว ต้องอพยพผู้ป่วยลงมาจากอาคารลงมาอยู่ข้างล่าง
                     2. ต่อมาเวลา 18.30 น. นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดเชียงราย และได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวจังหวัดเชียงรายขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ชั้น 3 หมายเลขโทรศัพท์ 0-5317-7318-23 พร้อมแจ้งให้นายอำเภอทุกอำเภอได้จัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับอำเภอ และแจ้งให้ อปท.ทุกแห่งในสังกัด เร่งสำรวจความเสียหาย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และให้สำรวจความเสียหาย หากมีความเสียหายขอให้รายงานให้จังหวัดทราบโดยด่วน
                    3. จังหวัดเชียงราย ได้รับรายงานความเสียหายเบื้องต้น รวม 5 อำเภอ ได้แก่ (1) อำเภอพาน (2) อำเภอแม่ลาว (3) อำเภอแม่สรวย (4) อำเภอเมืองเชียงราย และ (5) อำเภอเวียงชัย โดยมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ชื่อนางแสง รินคำ อายุ 83 ปี บ้านเลขที่ 136 หมู่ที่ 8 ตำบลโป่งแพร่ สาเหตุโดนผนังบ้านล้มทับ และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ บาดเจ็บ 1 ราย (อ.แม่สรวย) วัด จำนวน 10 แห่ง โรงเรียน 3 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ ทรุดตัว ยาวประมาณ 50 เมตร กระแสไฟฟ้าดับในเขตพื้นที่ 4 อำเภอ (อำเภอพาน ป่าแดด แม่ลาว และอำเภอแม่สรวย) และบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายจำนวนมาก ในพื้นที่อำเภอพาน อำเภอแม่ลาว อำเภอเมืองเชียงราย ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
                     4. เมื่อเวลา 22.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปต้อนรับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจสอบความเสียหายถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ บริเวณบ้านห้วยส้านยาว ม.13 ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ซึ่งได้รับความเสียหายทรุดตัวลงเป็นระยะทางยาว 5 กม. และบริเวณบ้านโปงฟูเฟือง ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย ซึ่งไหล่ถนนติดลำน้ำลาวได้ทรุดตัวลงยาวประมาณ 50 ม.
                     5. ในห้วงเวลา 18.08-22.15 น. สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานว่าได้เกิดเหตุ Aftershock ตามมาอีกเป็นระยะ ดังนี้ - ขนาด 5.0-5.9 ริกเตอร์ จำนวน 3 ครั้ง - ขนาด 4.0-4.9 ริกเตอร์ จำนวน 10 ครั้ง - ขนาด 3.0-3.9 ริกเตอร์ จำนวน 20 ครั้ง - ขนาดน้อยกว่า 3.0 ริกเตอร์ จำนวนมากกว่า 20 ครั้ง 6.
                    6. ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย ให้นำรถไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องจักรกล และกำลังพล พร้อมชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) จำนวน 10 นาย เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อำเภอพาน และอำเภอแม่ลาว, สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย ออกสำรวจโครงสร้างอาคาร บ้านเรือนราษฎร ที่ได้รับความเสียหาย พร้อมสั่งการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคออกแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับ ในเขตพื้นที่อำเภอพาน ป่าแดด แม่ลาว และอำเภอแม่สรวย และให้โครงการชลประทานจังหวัดเชียงราย ตรวจสอบความเสียหายของสันเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ที่อาจได้รับความเสียหาย
                     7. สำหรับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้นัดหมายนายอำเภอทุกอำเภอ เข้าร่วมประชุมในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมจอมกิตติ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ชั้น 3 เพื่อสรุปความเสียหายที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหว พร้อมสั่งการให้อำเภอแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เร่งสำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้น และรวบรวมรายงานให้อำเภอ/จังหวัดทราบ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

การแถลงข่าวเตรียมความพร้อมเกษตรกร เริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่

การแถลงข่าวเตรียมความพร้อมเกษตรกร เริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่โดยถือวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2557 ซึ่งกำหนดเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลผลิต เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารทางการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญของจังหวัดให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ และเพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในงานแถลงข่าว เรื่อง “การเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูการผลิต” ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเนื้อหาประชาสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการวางแผนการผลิต 2)ด้านเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสม 3) ด้านการให้บริการทางการเกษตรในพื้นที่ สูงขึ้น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดให้มีกิจกรรมแถลงข่าว “ เตรียมความพร้อมเกษตรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิตของจังหวัดเชียงใหม่ ” ในโอกาสวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พุทธศักราช 2557 ขึ้น โดยมีเนื้อหาทั้งทางด้านพืช ข้าว ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งจะได้แถลงข่าวให้พี่น้องสื่อมวลชน พี่น้องเกษตร และผู้มีเกียรติทุกท่านได้ทราบต่อไป

นายศักดิ์ชัย ถนัดวณิชย์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปี พ.ศ. 2557 ถือเป็นปีแรกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกจังหวัดร่วมกันจัดงานแถลงข่าว “ เตรียมความพร้อมเกษตรกรไทย เริ่มต้นฤดูกาลผลิต ” พร้อมกันทั่วประเทศ โดยกำหนดเอาวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2557 เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลผลิต โดยความมุ่งหวังของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถหลุดพ้นจากสภาพปัญหาเดิมๆ โดยปัญหาที่เกษตรกรประสบคือ (1) ต้นทุนการผลิตสูง (2) ผลผลิตตกต่ำ (3) ผลิตแล้วจะขายที่ไหน (4) ราคาสินค้าตกต่ำ (5) ไม่มีแหล่งเงินทุน (6) ภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นสารพัดปัญหาของเกษตรกรไทย

นายศักดิ์ชัย ถนัดวณิชย์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปี พ.ศ. 2557 ถือเป็นปีแรกของ ฃกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกจังหวัดร่วมกันจัดงานแถลงข่าว “ เตรียมความพร้อมเกษตรกรไทย เริ่มต้นฤดูกาลผลิต ” พร้อมกันทั่วประเทศ โดยกำหนดเอาวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2557 เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลผลิต โดยความมุ่งหวังของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถหลุดพ้นจากสภาพปัญหาเดิมๆ โดยปัญหาที่เกษตรกรประสบคือ (1) ต้นทุนการผลิตสูง (2) ผลผลิตตกต่ำ (3) ผลิตแล้วจะขายที่ไหน (4) ราคาสินค้าตกต่ำ (5) ไม่มีแหล่งเงินทุน (6) ภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นสารพัดปัญหาของเกษตรกรไท จากกการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศนโยบายเขตพื้นที่เหมาะสมสำหรับด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ (Zoning ภาคเกษตร) เพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลศักยภาพของพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการวางแผนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่างๆที่เกษตรกรพบเจอมาโดยตลอด โดยเริ่มจาก (1) เลือกผลิตตามที่ตลาดต้องการ (2) ผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม (3) ถูกเวลา (4) ปรับเปลี่ยนในพื้นที่ไม่เหมาะสม (5) ใช้พันธุ์ดี (6) ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (7) การรวมกลุ่มเข้มแข็ง (8) ขายถูกที่ มีกำไรแน่นอน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้ารับผิดชอบในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรของประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนถึงปัจจุบัน ทำให้การเกษตรของประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการให้บริการแก่เกษตรกร และสนับสนุนการผลิตทางการเกษตรในฤดูกาลผลิต พุทธศักราช 2557-2558 โดยถือวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2557 ซึ่งกำหนดเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลผลิต เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารทางการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญของจังหวัดให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ และเพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น

การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์นี้ ได้มีการจัดนิทรรศการด้านการวางแผนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมงานชลประทาน ได้แก่ ข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง การวางแผนเป้าหมายการเพาะปลูกในเขตพื้นที่ชลประทานของจังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลการให้บริการที่สำคัญ องค์ความรู้ ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ การติดต่อสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับหน่วยงานชลประทานที่จะเข้าถึง แผนบริหารจัดการน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ การรายงานสถานการณ์น้ำรายวัน รายสัปดาห์ แผนงานและการป้องกันบรรเทาอุทกภัยของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูกาลผลิตในปี พ.ศ. 2557 สำนักชลประทานที่ 1 มีการคาดการณ์วางแผนการปลูกพืช 498,362 ไร่ วางแผนการใช้น้ำ 476.77 ล้าน ลบ.ม. ให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งในปัจจุบันเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำ 128.078 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 48.33 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2556 เท่ากับ 56.996 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 76.770 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29.04 มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2556 เท่ากับ 27.17 ลบ.ม. รวมทั้ง 2 เขื่อนมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2556 เท่ากับ 84.166 ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 12 แห่ง มีปริมาณน้ำคงเหลือ 22.86 ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26.38 โดยปริมาณน้ำที่เหลือทั้งหมดสามารถเป็นน้ำ ต้นทุนเพื่อกิจกรรมการอุปโภค – บริโภค กิจกรรมการรักษาระบบนิเวศน์ และกิจกรรมด้านการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2557 ได้เป็นอย่างเพียงพอ

สำหรับงานแถลงข่าว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้ร่วมกันแถลงข่าวให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยมีเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการวางแผนการผลิต : ผลิตอะไร ผลิตช่วงไหน วิธีการผลิตอย่างไร ผลิตแล้วขายที่ไหน 2. ด้านเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสม : ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง เทคนิคแนะนำ มีตัวอย่างการผลิตให้ดูที่ไหน 3.ด้านการให้บริการทางการเกษตรในพื้นที่ : ปัจจัยการผลิตที่ทางราชการสนับสนุน ปัจจัยการผลิตที่จำหน่าย (ของภาครัฐและเครือข่าย ของเอกชน) การให้บริการความรู้ การให้คำปรึกษาแนะนำ และรับเรื่องร้องเรียน (สายด่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1170)



ข่าวโดย : ณัฏฐ์ สินันตา
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

ราชบัณฑิตยสถานจัดโครงการอบรม ครูภาษาไทยสู่อาเซียน


ราชบัณฑิตยสถานจัดโครงการอบรม ครูภาษาไทยสู่อาเซียนเพื่อส่งเสริมครูอาจารย์ผู้สอนภาษาไทยให้มีความรู้ แนวคิด และทัศนคติด้านภาษา สนองนโยบายรัฐบาลในการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558

นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เปิดเผยว่า ราชบัณฑิตยสถานมีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น รวมทั้งการอนุรักษ์ภาษาไทยไว้มิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม ภารกิจดังกล่าวจะบรรลุเป้าหมายได้นั้นผู้ที่มีส่วนสำคัญคือ ครูผู้สอนภาษาไทย ที่นอกจากจะต้องมีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับหลักภาษาไทยแล้ว ยังจำเป็นต้องมีความรู้ด้าน อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสอนให้ประสบผลสำเร็จดียิ่งขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558 ราชบัณฑิตยสถานซึ่งได้จัดทำนโยบายภาษาแห่งชาติและดำเนินการเตรียมความพร้อมในการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียน จึงเห็นสมควรเผยแพร่ความรู้แก่ครูภาษาไทย เพื่อให้นำความรู้ที่ได้รับไปใช้และพัฒนาการสอนภาษาไทยได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 จึงได้ดำเนินโครงการอบรม “ครูภาษาไทยสู่อาเซียน”

โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและภาษาอาเซียนร่วมกันเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรม โดยดำเนินโครงการดังกล่าวใน 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง และภาคใต้จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมครูอาจารย์ผู้สอนภาษาไทยให้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับภาษาไทยและภาษาอาเซียนที่ถูกต้องเหมาะสม มีการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยและภาษาอาเซียนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนได้ และมีแนวคิดในการจัดกระบวนการการเรียนการสอนที่เหมาะสม โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นครูอาจารย์ผู้สอนภาษาไทยในสถานศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ จำนวนภาคละ 500 คน ร่วม 1,000 คน โดยภาคเหนือกำหนดจัดอบรมในระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤษภาคม 2557 ณ หอประชุมจันทน์ผา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ส่วนภาคใต้กำหนดจัดอบรมในระหว่างวันที่ 12 – 13 มิถุนายน 2557 ณ ห้องประชุม GA 104 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดังนั้นจึงขอเชิญชวนสถาบันการศึกษาที่สนใจส่งครูผู้สอนภาษไทยเข้าร่วมโครงการอบรมติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการ ราชบัณฑิตยสถาน สนามเสือป่า เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทรศัพท์หมายเลข 0-2356-0466-70 ต่อ 3011,3009



ข่าวโดย : ราตรี จักร์แก้ว
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557


สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557 โดยจะทำพิธีมอบประกาศคุณบัตรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ที่พุทธสถานเชียงใหม่

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์เผยแผ่ธรรมจังหวัดเชียงใหม่ พุทธสมาคมจังหวัดเชียงใหม่ ยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มหนุ่มสาวจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และองค์กรทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 10 – 11 พฤษภาคม 2557 โดยจะมีการมอบประกาศเกียรติคุณบัตรเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557 ให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจต่อผู้ที่ทำงานด้านพระพุทธศาสนา ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2557 เวลา 13.30 น. ณ พุทธสถานเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการคัดเลือกผู้บริหารหรือครูผู้สอนซึ่งเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเพื่อเข้ารับประกาศเกียรติคุณเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557 นั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานดำเนินการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อที่เสนอโดยทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้จะประกาศรายชื่อให้ทราบต่อไป



ข่าวโดย : ราตรี จักร์แก้ว
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

พะเยา สร้างความเข้าใจเกษตรกร ฤดูการผลิตรอบใหม่ เน้นเกษตรปลอดภัย ชูข้าวหอมมะลิคุณภาพ – โคขุนดอกคำใต้ เกษตรปลอดภัย

วันนี้ (6 พ.ค.57) ที่ห้องประชุมจอมทองชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพะเยา นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยนางกรภัค ธนฐิตะกวิน เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแถลงข่าว “การเตรียมความพร้อมเกษตรไทย เริ่มต้นฤดูกาลผลิต ของจังหวัดพะเยา” ขึ้น ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีของส่วนราชการได้สะดวก ส่งผลให้การทำการเกษตรไม่สามารถที่จะเพิ่มรายได้ และผลผลิตที่ได้ ก็มีคุณภาพต่ำ ทางกระทรวงเกษตรกร และสหกรณ์ จึงได้มีนโยบายในการประชาสัมพันธ์การให้บริการการเกษตร และสนับสนุนการผลิตทางการเกษตร ของส่วนราชการในแต่ละพื้นที่ ผ่านสื่อมวลชน โดยถือวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2557 ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เป็นวันเริ่มฤดูการผลิต และทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้แต่ละจังหวัดกำหนดแนวทางคัดเลือกผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด

นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จังหวัดพะเยา ได้พิจารณาคัดเลือกข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ที่มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 5 แสนไร่ ซึ่งเป็นข้าวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดพะเยา มีคุณสมบัติเหนียวนุ่ม หอมนานรสชาติอร่อย และโคขุนดอกคำใต้ ที่เป็นแหล่งผลิตโคเนื้อคุณภาพดีของภาคเหนือตอนบน สามารถพัฒนาผลผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นผลผลิตทางการเกษตรเด่นของจังหวัด นอกจากนี้จังหวัดพะเยา ได้เน้นในเรื่องของเกษตรปลอดภัยด้วย ซึ่งนอกจากจำทำให้ผลผลิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพและได้มาตรฐานแล้วยังส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย



ข่าวโดย : นิรันต์ บุญแก้ว
หน่วยงาน : ส.ปชส.พะเยา

จังหวัดพะเยา เร่งสำรวจสถานที่สำคัญหลังเกิดแผ่นดินไหว โดยเช้าวันนี้ยังคงเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาเป็นระยะ

สถานที่สำคัญของจังหวัดพะเยา หลายแห่งไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อเย็นวาน( 5 พ.ค.57) ที่ผ่านมา ชาวบ้านยังคงดำรงชีวิตตามปกติ มีเพียงการสนทนาถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมากันอย่างกว้างขวาง ขณะที่แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในพื้นที่ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมารู้สึกได้ถึง 3 ครั้ง ในระดับที่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน

พระสงฆ์ สามเณร ตลอดจนชาวบ้านยังคงเข้าทำบุญและสวดมนต์กันอย่างตามปกติในช่วงเช้าวันพระวันนี้ (6 พ.ค.57) ที่วัดพระเจ้าตนหลวง หรือวัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา หลังเมื่อเย็นวาน( 5 พ.ค.57)ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ความลึก 7 กิโลเมตร ขนาด 6.3 ริกเตอร์ จนทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก โดยในช่วงเช้าวันนี้ (6 พ.ค.57) ทางจังหวัดพะเยาได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการออกสำรวจสถานที่สำคัญของจังหวัด ทั้งวัดศรีโคมคำ หรือวัดพระเจ้าตนหลวง วัดพระธาตุจอมทอง วัดอนาลโยทิพยาราม ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญวัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา พบว่าไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด และตลอดคืนที่ผ่านมาในพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา ก็รู้สึกถึงการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

ขณะที่ล่าสุดช่วงเช้าที่ผ่านมาทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศชภ.) ได้ประกาศระวังภัยแผ่นดินไหว ซึ่งมีอาฟเตอร์ช็อกตามมากว่า 100 ครั้ง แล้วตั้งแต่ระดับความรุนแรงต่ำกว่า 3 ริกเตอร์ถึง 5.9 ริกเตอร์ โดยที่จังหวัดพะเยาสามารถรู้สึกได้อย่างน้อย 3 ครั้ง ในระดับที่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน



ข่าวโดย : ประมวล อุปกิจ
หน่วยงาน : สวท.พะเยา

จังหวัดแพร่ จัดกิจกรรมส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีศักยภาพและไผ่รวมทั้งพืชสมุนไพร

จังหวัดแพร่จัดกิจกรรมส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีศักยภาพและไผ่รวมทั้งพืชสมุนไพรระบบวนเกษตรแบบมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัด ตามวิธีการ "พัฒนาเมืองคู่ เพื่อปั้นเศรษฐกิจของแพร่” ซึ่งอำเภอลอง และอำเภอวังชิ้นอยู่ในกลุ่มเมืองคู่แฝดด้าน "ป่าเศรษฐกิจ” โดยกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไผ่” ณ หอประชุมอำเภอลอง ระหว่างวันที่ 6 – 10 พฤษภาคม 2557 โดยมีนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม

อำเภอลอง จังหวัดแพร่ได้รับงบประมาณให้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีศักยภาพและไผ่รวมทั้งพืชสมุนไพร โดยแยกเป็นการเพาะและขยายพันธ์ไผ่สายพันธุ์ดี กิจกรรมการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับไผ่ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จาก 9 ตำบล จำนวน 3,000 คนซึ่งอำเภอลองได้ดำเนินเรียบร้อยแล้ว การจัดอบรม "การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไผ่” เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไผ่ และใช้ไผ่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดผู้เข้าอบรม 180 คน การปลูกป่าแบบวนเกษตรเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า "เมืองลอง เมืองไม้ไผ่” การส่งเสริมการปลูกป่าไผ่เพื่อพัฒนาเป็นไม้เศรษฐกิจ การศึกษาดูงานของแกนนำหมู่บ้าน และการจัดทำสวนพฤกษศาสตร์รวยรวมสายพันธ์ไผ่

ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวกับผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ว่า พื้นที่อำเภอลองเป็นพื้นที่ที่มีไม้ไผ่จำนวนมาก และมีโรงงานที่ใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการผลิตตะเกียบ และไม้เสียบลูกชิ้นกว่า 200 โรงงาน ไม้ไผ่เป็นไม้สารพัดประโยชน์ หากได้รับการถ่ายทอดและเรียนรู้วิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผู้เข้ารับการอบรมสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว อย่างไรก็ตามไม้ไผ่หากใช้เป็นวัตถุดิบมากเกินไป ไผ่ก็จะหมดฉะนั้นทุกคนต้องร่วมกันปลูกควบคู่กับการตัด ทั้งเพื่อรักษาสภาพความเป็นป่าไผ่ที่อุดมสมบูรณ์ไว้ให้ลูกหลานในอนาคตได้ประกอบอาชีพสืบต่อกันไป




สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดแพร่ จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “เตรียมความพร้อมเกษตรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูการผลิต”

เวลา 09.00 น.วันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ที่ห้องไอยรา โรงแรมนครแพร่ทาวเวอร์ นายธากร อึ้งจิตไพศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานการแถลงข่าว กิจกรรมประชาสัมพันธ์ "เตรียมความพร้อมเกษตรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูการผลิต” ซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้มีการเตรียมความพร้อมในฤดูการผลิตปี 2557 – 2558 ให้ได้รับข้อมูล ความรู้และสร้างความเข้าใจในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด และยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า ภาคการเกษตรยังคงมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ ทั้งยังเป็นฐานการผลิตในกิจกรรมของภาคส่วนอื่น แต่ข้อมูลที่ปรากฏ คืออาชีพเกษตรกรรมมีรายได้น้อยกว่าอาชีพอื่น จึงขอให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร รวมถึงพี่น้องสื่อมวลชน ร่วมผนึกกำลังทางความคิด เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านการเกษตรอันได้แก่ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง พริก ผัก โคเนื้อ และสัตว์น้ำ ให้เกษตรกรมีความตื่นตัวและรับทราบถึงแผนการผลิต เทคโนโลยี่การผลิตที่เหมาะสม และแนวทางในการบริการทางการเกษตร ตลอดจนนโยบายและยุทธศาสตร์ของจังหวัดในการสนับสนุนการผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญ

สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ในครั้งนี้ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดแพร่ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และสื่อมวลชน ประมาณ 100 คน




สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

พุทธศาสนิกชนจังหวัดแพร่ร่วมทำบุญตามโครงการบรรพชา-อุปสมบทภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ ฯ

พุทธศาสนิกชนจังหวัดแพร่ ร่วมทำบุญตามโครงการบรรพชา– อุปสมบท ภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.25557 พุทธศาสนิกชนจังหวัดแพร่ได้ร่วมทำบุญตามโครงการบรรพชา–อุปสมบท ภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธาน มีพระครูวิมล กิตติสุนทร รองเจ้าคณะจังหวัดจังหวัดแพร่ ประธานฝ่ายสงฆ์

พระครูวิมล กิตติสุนทร รองเจ้าคณะจังหวัดจังหวัดแพร่ ประธานฝ่ายสงฆ์ กล่าวว่า โครงการนี้ ได้ทำครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2530 นับจนถึงปัจจุบันนี้ก็ 27 ปี โครงการนี้ สำนักศาสนศึกษาวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ร่วมกับมูลนิธิพระธาตุช่อแฮและสภาวัฒนธรรมวัดช่อแฮ ได้จัดโครงการบรรพชาพระภิกษุสามเณรภาคฤดูร้อนขึ้น เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ เเละยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยพระพุทธศาสนา ให้เกิดจิตสำนึกมองเห็นคุณค่าทางพระพุทธศาสนา สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นการขยายเครือข่ายคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา และเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เป็นมรดกสืบทอดแก่คนรุ่นต่อไป จังหวัดแพร่ มีผู้สนใจเข้าบรรพชาและอุปสมบท จำนวน 27 คน

รายงานพิเศษ ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับแผ่นดินไหว


จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยา วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลาประมาณ 18.08 น.ในพื้นที่ภาคเหนือ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าเกิดเเผ่นดินไหว ซึ่งมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ความลึกจากแผ่นดินประมาณ 7 กิโลเมตร ขนาด 6.3 ริกเตอร์ เเผ่นดินไหวในครั้งนี้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่านรับรู้ได้ถึงเเรงสั่นสะเทือน เนื่องจากอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางประมาณ 200 กว่ากิโลเมตร สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่านมีข้อควรปฏิบัติเเละป้องกันภัยเกี่ยวกับ เเผ่นดินไหว ดังนี้

ก่อนการเกิดแผ่นดินไหว
    1. ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน และให้ทุกคนทราบว่าอยู่ที่ไหน
    2. ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
    3. ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น
    4. ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า
    5. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูง ๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้
    6. ผูกเครื่องใช้หนัก ๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
    7. ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมาย ในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกัน เพื่อมารวมกันอีกครั้ง ในภายหลัง
    8. สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว
    1. อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบ ถ้าท่านอยู่ในบ้านก็ให้อยู่ในบ้าน ถ้าท่านอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้าน เพราะส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเพราะวิ่งเข้าออกจากบ้าน
    2. ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืนหรือมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรง ที่สามารถรับน้ำหนัก ได้มาก และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง
    3. หากอยู่ในอาคารสูง ควรตั้งสติให้มั่น และรีบออกจากอาคารโดยเร็ว หนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้
    4. ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ ที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง
    5. อย่าใช้ เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลวหรือประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น
    6. ถ้าท่านกำลังขับรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด
    7. ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว
    8. หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง

หลังเกิดแผ่นดินไหว
    1. ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน
    2. ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอาคารอาจพังทลายได้
    3. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่น ๆ และสิ่งหักพังแทง
    4. ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ หรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
    5. ตรวจสอบว่า แก๊สรั่ว ด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน
    6. ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง
    7. เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ นอกจากจำเป็นจริง ๆ
    8. สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้
    9. อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง หรืออาคารพัง
    10. อย่าแพร่ข่าวลือ

จังหวัดน่านมีรอยเลื่อนปัวที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวเช่นกัน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน หากเกิดแผ่นดินไหวประชาชนควรปฏิบัติตนข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว จะทำให้ประชาชนปลอดภัยหรือบาดเจ็บน้อยที่สุด

ปภ.น่าน สำรวจความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

สำนักงานป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่านออกสำรวจความเสียหายในพื้นที่จังหวัดน่านจากกรณี เเผ่นดินไหวที่เชียงรายซึ่งจังหวัดน่านได้ผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2557)นายนิติวัทธน์ นิธินันท์ธาร ป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ได้ ออกสำรวจพื้นที่ความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในจังหวัดเชียงรายที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลาประมาณ 18.08 น. ซึ่งมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ ตำบลทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ความลึกจากแผ่นดินประมาณ 7 กิโลเมตร ขนาด 6.3 ริกเตอร์ จังหวัดน่านได้รับผลกระทบในพื้นที่บางส่วน

จากการออกตรวจสอบพื้นที่จังหวัดน่าน พบว่าพระอุโบสถวัดพระธาตุเขาน้อย อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ตัวพระอุโบสถมีรอบเเตกร้าวเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย ที่ เคยเกิดรอยร้าวจากการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.3 ริกเตอร์ เมื่อมีปี พ.ศ. 2553

นอกจากนี้วัดภูมินทร์ซึ่งเป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย โดยเสาในพระวิหารมีรอยร้าว 2 ต้น นาคคู่ที่อยู่ด้านหน้าวัดภูมินทร์มีรอยร้าว ประตูจตุรมุขทางทิศเหนือและทิศตะวันตกมีรอยร้าวยาวกว่า 30 เซนติเมตร และมีเศษจั่วด้านบนตกลงมาสู่พื้น


บุษรินทร์ บุญมี / ข่าว


หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในจ.ลำปาง ร่วมแถลงข่าวสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรเพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรไทยเริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิตของจังหวัดลำปาง


(6 พ.ค.57) เช้าวันนี้ ที่ห้องประชุม สวท.ลำปาง นายชัยณรงค์ กาฬมณี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง นายสมพร เจียรประวัติ เกษตรจังหวัดลำปาง และนาย ปรัชญา มากไมตรี สหกรณ์จังหวัดลำปาง และนายเสรี คงฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง ร่วมแถลงข่าวสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรเพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรไทยเริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิตของจังหวัดลำปาง ในโอกาสวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยทางสหกรณ์จังหวัดลำปาง ได้เป็นตัวกลางในการประสานระหว่าง เกษตรกรกับโรงงาน ในการแก้ไขปัญหา สับปะรดล้นตลาด นอกจากนี้ ยังได้ประสานไปยังพ่อค้าให้มารับซื้อ รวมถึง การแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรกับ สหกรณ์จังหวัดอื่นๆ เพื่อเป็นการกระจายสินค้า ที่ล้นตลาดของจังหวัดลำปาง และได้สินค้าอื่นที่ต้องการมาใช้แทน

ทางด้าน นายสมพร เจียรประวัติ เกษตรจังหวัดลำปาง ได้กล่าวถึงการ ปรับใช้เทคโนโลยี MRCF ซึ่งเป็นการนำเอาข้อมูลจากเกษตรกร เพื่อนำมาวิเคราะห์ โดยใช้ระบบ IT ในการประมวลผล เพื่อจะนำมาแก้ไขปัญหาการเกษตรในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดลำปาง โดยไม่ต้องเสียเวลา เดินทางลงพื้นที่เองด้วยยานพาหนะ ก็สามารถทราบถึงปัญหา ของแต่ละพื้นที่ได้

ในโอกาสนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในจ.ลำปาง ได้ร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแก้ไขปัญหา ต่างๆ ทางด้านการเกษตร และปศุสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรได้ประกอบชีพอย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป




ข่าวโดย : ปัณธวัฒน์ ทวีพรจิรภาคย์
    หน่วยงาน : สวท.ลำปาง

จังหวัดลำปาง ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เกิดแผ่นดินแยกลึกกว่า 2 เมตร ในพื้นที่ตำบลบ้านแลง อ.เมืองลำปาง


จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อช่วงเย็นวันที่ 5 พค.ที่ผ่านมา จังหวัดลำปางถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน และได้รับผลกระทบหลายพื้นที่ ทั้งในเขตอำเภอเมือง วังเหนือ งาว และเกือบทุกอำเภอ โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 นางฟองจันทร์ เต็มสวัสดิ์ ผู้ใหญ่บ้านแม่อ่างน้ำล้อม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านเลขที่ 80 บ้านแม่อ่างน้ำล้อม หมู่ 8 ต.บ้านแลง อ.เมืองลำปาง หลังได้รับแจ้งว่า เกิดแผ่นดินแตกแยก จากเหตุแผ่นดินไหว โดยแนวแผ่นดินที่แตก ยาวประมาณ 10 เมตร ลักษณะของดินแตกแยกบริเวณผิวดินไม่มาก และยังเกิดโพรงลึกลงไปกว่า 2 เมตร

โดย นายหลี ชมพูใบ อายุ 52 ปี เจ้าของบ้านหลังดังกล่าว กล่าวว่าหลังทราบว่าเกิดแผ่นดินไหว ได้เดินสำรวจตัวบ้าน จึงพบว่า เกิดแผ่นดินแตกแยกยาวไปจนถึงกลางบ้าน จึงเกิดความเป็นห่วงว่า บ้านที่อยู่อาศัยมานาน ใต้ดินลึกลงไปอาจจะเกิดการแยกตัว บ้านอาจจะทรุด และพังลงไปได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ

นอกจากนี้ ในพื้นที่ ต.บ้านแลง ซึ่งเป็นบ้านของ นางกัลยา เครือสาร อายุ 39 ปี ห้องน้ำซึ่งเป็นคอนกรีต ที่อยู่ชั้น 2 ของบ้านไม้ 2 ชั้น ยังเกิดพังถล่มลงมา ส่วนตัวบ้านนั้นไม่ได้รับความเสียหาย และพบว่า มีบ้านคอนกรีตชั้นเดียว เกิดร้อยร้าว หลังเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังตรวจสอบพื้นที่ ว่า มีสิ่งปลูกสร้างใดบ้างที่ได้รับความเสียหาย

ส่วนพื้นที่อื่นๆ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจ ยังไม่มีรายงานความเสียหาย หากประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ แจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน ปภ.1784 รับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง




ข่าวโดย : ทีมข่าว สวท.ลำปาง
    หน่วยงาน : สวท.ลำปาง

ผอ.โครงการชลประทานลำปาง ยืนยัน 2 เขื่อนใหญ่ในจังหวัดลำปางไม่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์แผ่นไหวที่ผ่านมา


นายเสรี คงฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงเมื่อ และเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบความเสียหาย ของเขื่อน กิ่วลม และ เขื่อนกิ่วคอหมา อ.แจ่ห้ม จ.ลำปาง ซึ่งไม่พบความเสียหายการเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเขื่อนกิ่วลมสามารถรอบรับแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 7.3 ริกเตอร์ และจะต้องมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ใต้เขื่อนด้วยถึงได้จะรับผลกระทบ ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ (5 พ.ค.57) แม้จะแรงถึง 6.3 ริกเตอร์ แต่ก็ไม่ได้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ใต้เขื่อนจึงได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโครงสร้างของเขื่อน คือ ระดับของสันเขื่อน การเคลื่อนตัวของเขื่อน ตลอดจนอุโมงค์ใต้ดินของเขื่อนว่ามีการรั่วซึมของคอนกรีตหรือไม่ ซึ่งก็พบว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้ง 2 แห่ง ของจังหวัดลำปาง ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์


ข่าวโดย : ปัณธวัฒน์ ทวีพรจิรภาคย์
    หน่วยงาน : สวท.ลำปาง

คณะผู้แทนการค้าเมียนม่าร์ ศึกษาดูงานโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน ท่าโป่งแดง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน


เช้าวันนี้ (6 พ.ค. 57) นายบุญชู สายธนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน กล่าวต้อนรับและนำคณะผู้แทนการค้าเมียนม่าร์ จำนวน 26 คน เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอนท่าโป่งแดง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามโครงการระบบโครงสร้างเมืองรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแยกเป็นฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ศึกษาเรื่องแมคคาเดเมีย ที่ฐานเรียนรู้ด้านพืช โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน ฐานเรียนรู้ด้านดินและปุ๋ย โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฐานเรียนรู้ด้านข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน ฐานเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ โดยสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน และฐานเรียนรู้ด้านประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดแม่ฮ่องสอน

จากนั้นคณะผู้แทนการค้าเมียนม่าร์ จะเดินทางไปจุดผ่อนปรนห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม รับฟังบรรยายสรุปหัวข้อ การค้าชายแดนและการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพและมูลค่าการค้า และเดินทางไปเข้าชมงาน สายสัมพันธ์บ้านประตูเมือง ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมกีฬากระชับมิตร ดนตรี ตลาดใต้แสงเทียน

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (7 พฤษภาคม 2557) จะมีกิจกรรมหารือความร่วมมือและเจรจาการค้า ที่ห้องประชุมธาราทิพย์โรงแรมอิมพิเรียล แม่ฮ่องสอน รีสอร์ท โดยโครงการนี้จะมีไปถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2557



ข่าวโดย : กัญญพร ต่าดู นักศึกษาฝึกงาน 
ทีมข่าว สวท. แม่ฮ่องสอน
    หน่วยงาน : สวท.แม่ฮ่องสอน

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดการอบรมพัฒนาผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดเมียนม่าร์


เช้าวันนี้ (6 พฤษภาคม 2557) นายสุทธา สายวาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดการอบรมพัฒนาผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดเมียนม่าร์ ที่ห้องประชุมธาราทิพย์ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ฮ่องสอน รีสอร์ท เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ในการเข้าสู่ตลาดเมียนม่าร์ และจัดให้มีการศึกษาดูงานจุดผ่อนปรนห้วยผึ้งและห้วยต้นนุ่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2557 ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ผู้ประกอบการจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน จำนวน 50 คน มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ การเตรียมความพร้อมของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยนายสุทธา สายวาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการบรรยายหัวข้อ การเข้าสู่ตลาดเมียนมาร์ โดย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง

จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพรมแดนติดต่อกับเมียนม่าร์ ยาวถึง 483 กิโลเมตร ติดต่อกับเมียนม่าร์มากถึง 3 รัฐ คือรัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกระเหรี่ยง ด้วยความได้เปรียบเชิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ใกล้กับกรุงเนปิดอร์ เมืองหลวงเมียนม่าร์ แม่ฮ่องสอนจึงเป็นประตูการค้าเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจหลักของเมียนม่าร์ ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองชุมทางเศรษฐกิจจีนและอินเดีย เมืองลอยก่อ เมืองหลวงรัฐคะยา เมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉาน เมืองตองอู เมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญของเมียนมาร์

ทั้งนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ดำเนินการผลักดัน ยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม ให้เป็นด่านถาวร เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เป็นอย่างดี



ข่าวโดย : กัญญพร ต่าดู นักศึกษาฝึกงาน 
ทีมข่าว สวท. แม่ฮ่องสอน
    หน่วยงาน : สวท.แม่ฮ่องสอน

ผู้ประกอบการค้ากลุ่มภาคเหนือ 1 และคณะผู้แทนการค้าจากเมียนมาร์ศึกษาดูงานการค้าช่องทางชายแดนบ้านห้วนต้นนุ่น แม่ฮ่องสอน


เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 คณะผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการค้าจากประเทศเมียนมาร์ จากเมืองมัณฑะเล ตองอู ตองยี และลอยก่อ จำนวน 25 คน ได้เดินทางมาหารือความร่วมมือและเจรจาการค้ากับคณะผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดเมียนมาร์ ตามโครงการระบบโครงสร้างเมืองรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่ง ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน โดยมีนายบูรณ์ อินธิรัตน์ อัครทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายการพาณิชย์)ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง บรรยายพิเศษเรื่อง “การเข้าสู่ตลาดเมียนมาร์” ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาร์เพื่อตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการค้ากับผู้ประกอบการ

จากนั้นเมื่อเวลา 13.00 น.คณะผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และคณะผู้แทนผู้ประกอบการค้าจากเมียนมาร์ ได้เดินทางไปยังช่องทางจุดผ่อนปรนบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม ซึ่งเป็นช่องทางการค้าชายแดนที่มีการนำสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าออกเป็นประจำ โดยคณะผู้ประกอบการได้รับฟังการบรรยายข้อสรุปในด้านการค้าชายแดนและการสนับสนุนของภาครัฐเพื่อเพิ่มศักยภาพและมูลค่าสินค้า ซึ่งช่องทางดังกล่าวเป็นเขตติดต่อระหว่างอำเภอขุนยวมกับรัฐคะยา ประเทศเมียนมาร์ จากนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เงา ได้จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม การจัดงานตลาดนัดการค้า และการแข่งขันกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ด้วย


ข่าวโดย : สมาน ต้นใส/สวศ.แม่ฮ่องสอน
    หน่วยงาน : สวศ. แม่ฮ่องสอน

งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัยเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว จ.ลำพูน เชิญชวนประชาชนสักการะพระธาตุเจดีย์สำคัญของประเทศไทย ถึงวันที่ 13 พฤษภาคมนี้


นายสุวรรณ กล่าวสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดงานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของจังหวัดลำพูนที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาช้านาน การจัดประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย เดือนแปดเป็ง หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 นับทางจันทรคติของไทย เป็นประจำทุกปี ชาวบ้านทางล้านนาเรียกว่า ประเพณีแปดเป็ง พระธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญหนึ่งในแปดพระธาตุเจดีย์ของประเทศไทย น้ำที่นำมาสรงองค์พระธาตุนั้นเป็นน้ำสรงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานน้ำสรงพระบรมธาตุหริภุญชัยเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเป็นประจำทุกปี น้ำทิพย์จากดอยขะม้อ และน้ำสรงของประชาชน เพื่อเป็นการสักการะพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันเก่าแก่ และนับเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดลำพูนและชาวพุทธทั่วไป เป็นการสักการะพระบรมอัฐิธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งบูชาเสาหลักเมือง เพราะประชาชนชาวลำพูนถือว่าเจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นเสาหลักเมือง เมื่อทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย จึงเท่ากับได้ทำบุญเสาหลักเมืองลำพูนด้วย

งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย จะมีไปจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 โดยในวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 เริ่มตั้งแต่เวลา 12.00 น. จะมีขบวนอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน เครื่องราชสักการะ ขบวนน้ำทิพย์ดอยขะม้อ ขบวนอัญเชิญถ้วยพระราชทานชิงแชมป์กลองหลวงล้านนาและขบวนแห่ครัวทานของคณะสงฆ์ จากสนามกีฬากลางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน มุ่งหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จากนั้น จะมีการประกอบพิธีถวายน้ำสรงพระราชทานและน้ำทิพย์จากดอยขะม้อ จังหวัดลำพูนจึงขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมสักการะพระธาตุเจดีย์หนึ่งในแปดพระธาตุเจดีย์สำคัญของประเทศไทย และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีระกาด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมสืบสานประเพณีอันดีงามของจังหวัดลำพูนให้คงอยู่สืบไป



ข่าวโดย : ชาลิสา วัฒนะโชติ 053525565
    หน่วยงาน : สวท.ลำพูน

จังหวัดลำพูน ไม่มีรายงานความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว


จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย เมื่อตอนเย็นวานนี้ (5 พ.ค. 2557) และมีรายงานความเสียหายในจังหวัดต่างๆหลายแห่งนั้น ที่จังหวัดลำพูน ยังไม่มีรายงานความเสียหายแต่อย่างใด

นายสุวรรณ กล่าวสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูนก็รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนด้วยเช่นกัน โดยพื้นดินมีการสั่นไหวเพียงเล็กน้อยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้สั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอ ได้สำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วน ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ

อย่างไรก็ตามในระยะนี้มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในภาคเหนือ จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและอันตรายต่อชีวิต


ข่าวโดย : น.ส. อุไรวรรณ ปิงแก้ว
    หน่วยงาน : ส.ปชส.ลำพูน

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) อบรมเข้มภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด เตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

นายสุชน วิเชียรสรรค์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาษาอังกฤษมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารที่จะช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสาร แสวงหาความรู้ เจรจาต่อรอง และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวต่างชาติได้ ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยงานสามารถพัฒนา และเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานให้มีความพร้อมต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นที่ศูนย์กลางความเจริญและการพัฒนาของภาคเหนือตอนล่าง มีศักยภาพ และโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

จึงต้องเตรียมความพร้อมทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะสถานศึกษา เพื่อรองรับและตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) จึงจัดโครงการ "อบรมการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสู่ประชาคมอาเซียน”The development of English Languageforcommunication to Aseanขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษให้กับบุคลากรในสังกัด โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ศึกษานิเทศก์และบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 รวมทั้งสิ้น 75 คน ใช้ระยะเวลาอบรมระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2557 รวม 4 วัน
   
   

จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จัดพิธีบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

เช้าวันนี้ ( 6 พ.ค.57 ) ที่ภายในพระวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก พระธรรมเสนานุวัตร รองเจ้าคณะภาค 5 เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวิทูรัช ศรีนามผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ประธานฝ่ายฆราวาส ได้นำเหล่าบรรดาข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ตุลาการและพสกนิกรชาวจังหวัดพิษณุโลก ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อแผ่นดินไทยและชนชาติไทยนับตั้งแต่ที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ พระชนมายุเพียง 9 พรรษาจำต้องจากแผ่นดินไปประทับอยู่ ณ เมืองหงสาวดีในฐานะตัวประกันเป็นเวลาถึง 8 ปี ก่อนที่พระองค์จะกลับยังแผ่นดินไทย ทรงประกาศอิสรภาพและกอบกู้เอกราชของไทยสืบทอดมาจนทุกวันนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือที่ชาวบ้านทั่วไปในครั้งนั้นเรียกว่า พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก

ในช่วงทรงพระเยาว์ของพระองค์ทรงประทับ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก หลังจากที่เสด็จกลับแผ่นดินไทยพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก และประกาศอิสรภาพไม่ยอมเป็นประเทศราชของกรุงหงสาวดีอีกต่อไป พระองค์ทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญและพระปรีชาสมารถเลืองลือทั้งการทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 สิริรวมการครองราชสมบัติ 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา