วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ตรวจติดตามโครงการตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และอาเซียนในจังหวัดเชียงใหม่

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 15 ติดตามงานตามแผนการตรวจราชการประจำปีงบประมาร พ.ศ.2557 รอบที่ 1 ในแผนงานตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และการดำเนินการก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ใน 5 จุดเน้น ก่อนเดินทางไปติดตามโครงการเมืองเกษตรสีเขียว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2557) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 15 ประชุมร่วมกับนายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ใน 5 โครงการ และการดำเนินการก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ใน 5 จุดเน้น

นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 15 กล่าวว่า ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ติดตามตรวจงานตามนโยบายของรัฐบาลในภารกิจของทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีภาคประชาชนซึ่งเสนอชื่อโดยผู้ว่าราชการจังหวัดให้สำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ นายนที ธีระโรจนพงษ์ เป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม นายเชษฐา หิมอนุกุล ที่ปรึกษาด้านสังคม

สำหรับโครงการที่มาตรวจติดตามในครั้งนี้ ประกอบด้วย 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (ด้านพืช) โครงการส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ โครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก โครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายเข้าสู่มาตรฐาน Primary GMP และโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก ซึ่งจากการรายงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ พบปัญหาการปรับจากมาตรฐานสินค้าเกษตรจากมาตรฐานของแต่ละหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเป็นมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับมาตรฐานที่กำหนดใหม่ สำหรับแผนงานที่ 2 ได้แก่การดำเนินการก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.2558 5 จุดเน้น ได้แก่ จุดเน้นด้านการท่องเที่ยวและบริการ จุดเน้นด้านการประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการ จุดเน้นด้านโลจิสติกส์ จุดเน้นด้านแรงงาน และจุดเน้นด้านสาธารณสุข พบปัญหาในการดำเนินการที่ขาดความต่อเนื่องในการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เวลา 14.00 น. ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ โครงการเกษตรสีเขียว วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสันมหาพน สมุนไพรอินทรีย์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

นางมุทิตา สุวรรณคำซาว เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสันมหาพน สมุนไพรอินทรีย์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นโรงงานขนาดย่อม ดำเนินการแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน หลายภาคส่วน ทั้งด้านการเพาะปลูก การผลิต และการวิจัยและพัฒนาสินค้าจากผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการลดน้ำตาลในเลือดได้ดี เพราะมีสารที่ชื้อ Gymnamic Acid ในปริมาณที่มากกว่าผักหรือสมุนไพรชนิดอื่นๆ จึงได้พัฒนาสินค้าออกมาให้รูปแบบของ ชา และแคปซูล ภายในชื่อ เครื่องดื่มผักเชียงดา ตรากาทอง ซึ่งจัดเป็นสินค้า OTOP 4 ดาวของอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เรายังได้รับผลิตสินค้าชนิดเดียวกันให้กับลูกค้าที่มี Brand เป็นของตนเอง (OEM) เช่น กูมาบูติ, OrkanicaGurma , Chiang Da teaและอีกหลายยี่ห้อ โรงงานของเราได้รับมาตราฐานคุณภาพจากองค์การอาหารและยา (อย.) มาตราฐานสินค้าฮาลาล และ กรมการค้ากระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งได้รับการรับรองมาตราฐาน GAP พืชอินทรีย์ และในอนาคต

เวลา 16.00 น. ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2015 ณ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย สนองตอบนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เพื่อรองรับการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 โครงการนี้ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 เชียงใหม่ และเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่เห็นความสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อสนองนโยบายดังกล่าวของกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษาและครูเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดเชียงใหม่ ให้ได้รับรู้ ตระหนัก และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการจับเคลื่อนงานด้านการจัดการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ดีของประชากรในภูมิภาค เพื่อสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มั่นคง เอื้ออาทร และร่วมแบ่งปันกันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2558


ข่าวโดย : อนุชา นาคฤทธิ์

กกต.พะเยา จัดโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ กรณีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลตำบล จำนวน 6 แห่ง

วันนี้ (17 ก.พ.57) นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ กรณีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลตำบล จำนวน 6 แห่ง ณ ห้องประชุมลานค้าชุมชนหนองระบู เทศบาลเมืองพะเยา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพะเยาจัดขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ระเบียบ รวมถึงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สนับสนุน ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้ง ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเทศบาลตำบล ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบล ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบล และผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 318 คน

นางสาวพัชรินทร์ รัตนวิภา ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพะเยา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของเทศบาลตำบลในพื้นที่จังหวัดพะเยา จำนวน 6 แห่ง คือ ที่เทศบาลตำบลสันป่าม่วง และเทศาลตำบลบ้านสาง อำเภอเมืองพะเยา , เทศบาลตำบลป่าแฝก และเทศบาลตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ , เทศบาลตำบลหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ , และที่เทศบาลตำบลแม่ยม อำเภอปง โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2557 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต เที่ยงธรรม และตรวจสอบได้ ทางสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดพะเยา จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้มีทัศนคติในของการรู้รัก สามัคคี รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง และเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้รับทราบถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ขณะที่นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะต้องขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทุกคนทุกฝ่าย ด้วยการร่วมมือร่วมใจกันยึดถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม



ข่าวโดย : ประมวล อุปกิจ

ชาวนาในพื้นที่จังหวัดพะเยา กว่า 100 ราย รวมตัวเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังขายข้าวให้กับ โรงสี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด

วันนี้ (17 ก.พ.57) เวลาประมาณ 10.00 น. ชาวนาในพื้นที่ตำบลท่าจำปี ตำบลบ้านใหม่ และตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา กว่า 100 ราย ซึ่งนำโดยนายบุญสม ละออง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ต.แม่ปืม อ.เมืองพะเยา ได้เดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพะเยา หลังชาวนาได้ไปจำหน่ายข้าวให้กับ หจก.ชนกภัทการค้า ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 98 หมู่ 9 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมืองพะเยา โดยมีนายเตชิต ปิติฐาโชติ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้รับซื้อข้าวกลับกลุ่มชาวนาดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งในตอนแรกระบุจะออกเป็นใบประทวนให้ แต่ภายหลังไม่ได้รับใบประทวนแต่อย่างใด โดยได้รับแต่ใบชั่งน้ำหนักขายข้าว และรับปากจะทยอยจ่ายเงินให้แต่จนถึงขณะนี้ชาวนากลุ่มดังกล่าวยังไม่ได้รับเงินรวมกว่า 10 ล้านบาท จนต้องเข้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ขณะที่ก่อนหน้าที่ก็ได้มีชาวนาส่วนหนึ่งได้เดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์ไว้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

จากนั้น พ.ต.อ.สว่างวิทย์ สุทธหลวง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองพะเยา ได้เรียกนายเตชิต ปิติฐาโชติ เข้าเจรจา โดยนายเตชิต ระบุว่า การรับซื้อข้าวดังกล่าวกับเกษตรกร ตนเองเป็นสถานที่ให้เช่าในการประกอบการโดยมีโรงสีจากอำเภอพาน เดินทางมารับซื้อ ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานไปแล้วในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยผู้ประกอบการระบุว่า จะจ่ายเงินให้กับชาวนาในวันที่ 5 มีนาคม 2557 จำนวน 1 ล้านบาทก่อน และวันที่ 15 มีนาคม 2557 อีกจำนวน 1 ล้านบาท หลังจากนั้นอีกทุกๆ 10 วัน จะจ่ายงวดละ 1 ล้านบาท โดยจะจ่ายตามลำดับที่นำข้าวไปจำหน่ายจนกว่าจะครบ หลังจากการเจรจาชาวนายอมรับเงื่อนไขดังกล่าวจึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้และยอมสลายตัว



ข่าวโดย : ประมวล อุปกิจ

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน แจกพันธุ์กาแฟ 5 หมื่นต้นให้ชาวบ้าน หมู่บ้านนำร่องตามแนวชายแดน ทั่ว 7 อำเภอ หวังเพิ่มรายได้และช่วยสกัดกั้นไฟป่า

นายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ปัญหาไฟป่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเกิดขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งเกิดจากวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพในด้านการเกาตร ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้เป็นบริเวณกว้าง ประมาณ 3,150 ไร่ นอกจากนี้ ควันไฟยังทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านสุขภาพใน 4 กลุ่มโรค คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ เยื่อบุตาอักเสบ ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งในปี 56 มีผู้ป่วยถึง 24,580 ราย

ดังนั้น ในปี 57 จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีการปรับแผนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าให้ยั่งยืนและเพิ่มรายได้ควบคู่กันไป โดยจะมอบพันธุ์กาแฟพันธุ์อาราบิก้า จำนวน 5 หมื่นต้น ให้ชาวบ้านในพื้นที่ 7 อำเภอ นำร่องหมู่บ้านห่างไกลตามแนวชายแดน ส่วนปี 2558 เตรียมที่จะของบประมาณเพิ่ม เติม ขยายพื้นที่ปลูกกาแฟให้ได้ อย่างน้อย 1 หมื่นไร่ โดยสามารถขอรับพันธุ์กาแฟที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปปลูก ซึ่งจะเป็นการสกัดกั้นไฟป่าในพื้นที่ โดยหวังว่าจะแก้ไขปัญหาไฟป่าได้อย่างแน่นอน

ส่วนในด้านการตลาดไม่น่าเป็นห่วง เพราะได้มีแผนในด้านการส่งเสริมด้านการตลาดควบคู่กันไป ปัจจุบันจังหวัดแม่ฮ่องสอนผลิตกาแฟได้ ประมาณปีละ 100 ตัน ขายให้กับโครงการหลวง ปีละประมาณ 20 ตัน นอกจากนี้ยังมีบริษัทสตาร์บัคส์ เข้ามารับซื้อ ปีละ 40 - 50 ตัน ขณะนี้ทางจังหวัดได้มีการประสานไปยังบริษัทผู้ผลิตกาแฟ อเมซอน เบื้องต้นได้รับการตอบรับและคาดว่าทางบริษัทจะเข้ามาดูพื้นที่และทำสัญญาซื้อขายกาแฟเร็วนี้


ข่าวโดย : นวรัตน์ ศรีแก้วเลิศ

องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เตรียมจัดประชุมการจัดทำยุทธศาสตร์ การพัฒนาและแผนสามปี

นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า อบจ.แม่ฮ่องสอน เตรียมจัดประชุม การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการพัฒนาและแผนสามปี ปี 2558-2560 ระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2557 ที่อาคารบุญชูตรีทอง โรงเรียนห้องสอนศึกษา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อระดมความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกทั้งเพื่อให้แผนพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด สามารถบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในงานมีการจัดนิทรรศการ สร้างแม่ฮ่องสอน ก้าวหน้า ต่อเนื่อง พร้อมแลกรับของรางวัล การบรรยายหัวข้อ กลยุทธ์การสร้างจุดเด่นในเมืองแม่ฮ่องสอน โดยนายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน นักบริหาร นักคิดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้แตกต่างและเป็นที่ยอมรับอันดับ 1 ของประเทศ และอันดับ 7 ของโลก หัวข้อการพัฒนาเมืองแม่ฮ่องสอนอย่างสร้างสรรค์ โดย จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ศิลปิน นักคิด นักเขียน นักสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจ หัวข้อแม่ฮ่องสอนวันนี้ โดยปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหัวข้อมองไปข้างหน้า สร้างแม่ฮ่องสอน ก้าวหน้า ต่อเนื่อง โดย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นมีการลงนามปฏิญญาความร่วมมือสร้างอนาคตแม่ฮ่องสอนร่วมกับประธานคณะกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นระดับอำเภอ ทั้ง 7 อำเภอ


ข่าวโดย : เอกณรินทร์ ใจมะโน

ชมรมลูกเสือชาวบ้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดสัมมนาวิทยากรลูกเสือชาวบ้าน รับเข็มวิทยฐานะเชิดชูเกียรติ

ชมรมชมรมลูกเสือชาวบ้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับชมรมวิทยากรลูกเสือชาวบ้านภาคเหนือ ศูนย์ปฎิบัติการลูกเสือชาวบ้านภาค 3 จัดสัมมนาวิทยากร และผู้อำนวยการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน รับเข็มวิทยฐานะเชิดชูเกียรติ โดยมีผู้ร่วมงานจำนวน 200 คน จัดระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2557 ที่โรงเรียนบ้านจองแจ้ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้อำนวยการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน ได้รับเข็ม ประเภท รัตนราช และผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรวิทยาการลูกเสือชาวบ้าน หรือเคยเป็นวิทยากรมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 รุ่ม ได้รับเข็มประเภท สนองราช กิจกรรมในงานประกอบด้วย กิจการลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชานุเคราะห์/หลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน/หลักการสอนและวิธีการสอนแบบต่างๆ/บทบาทหน้าที่ของวิทยากรฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน/การจัดกิจกรรมในการฝึกอบรม/พันธกิจวิทยากรและการจัดตั้งองค์กรลูกเสือชาวบ้าน และความหมายความสำคัญของเข็มวิทยฐานะเชิดชูเกียรติ



ข่าวโดย : เอกณรินทร์ ใจมะโน

หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 ส่งกำลังพลพัฒนาวัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้น อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเตรียมสถานที่ถวายผ้าป่าสามัคคีในวันพรุ่งนี้

เมื่อวานนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2557)  พันเอกบรรณวัฒน์ พรหมจรรย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 มอบหมายให้จ่าสิบเอกประพันธ์ ห่านตระกูล นายสิบประจำหมวดระวังป้องกัน หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 บ้านม่อนตะแลง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน นำกำลังพลจำนวน 10 นาย ไปพัฒนาและปรับภูมิทัศน์ วัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้น บ้านไม้แงะ ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเตรียมสถานที่ถวายผ้าป่าสามัคคี ในวันพรุ่งนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2557 ) เวลา 16.30 น. เพื่อนำรายได้ปรับปรุงซ่อมแซมศาลาอเนกประสงค์

จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีในครั้งนี้ตามกำลังศรัทธา โดยสามารถส่งเงินในการร่วมบริจาคทำบุญได้ที่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 บ้านม่อนตะแลง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน หรือโอนเงินเข้าบัญชี “ฉก.ร.17” ธนาคารกรุงไทย สาขาแม่ฮ่องสอน ประเภทออมทรัพย์ หมายเลขบัญชี 508 -0 21433-3 กรุณาส่งหลักฐานการโอนเงินร่วมทำบุญมาที่ โทรสาร 0-5361-3190 หรือที่ สวท.แม่ฮ่องสอน fm 104
 


ข่าวโดย : วาสนา ไข่แก้ว

จังหวัดแม่ฮ่องสอนออกหน่วยบริการเคลื่อนที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน ครั้งที่ 3 ที่โรงเรียนสังวาลวิทย์ 3 ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย

เช้าวันนี้ (17 ก.พ. 57) นายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดโครงการหน่วยบริการเคลื่อนที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน ครั้งที่ 3 ที่โรงเรียนสังวาลวิทย์ 3 หมู่ที่ 4 บ้านเมืองน้อย ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยนำส่วนราชการต่างๆออกให้บริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดารที่อยู่ห่างไกล อีกทั้งเป็นการรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างส่วนราชการและประชาชน
โดยในพิธีมีการมอบเงินสงเคราะห์ให้แก่ครอบครัวผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน ครอบครัวละ 1,000 บาท จำนวน 10 ครอบครัว โดยสำนักงานพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน มอบถุงยังชีพ จำนวน 100 ถุง มอบผ้าห่มกันหนาว จำนวน 500 ผืน

โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน การให้ความรู้ด้านการเกษตร การแจกพันธุ์กล้าไม้ และการอบรมแนะแนวการประกอบอาชีพอิสระและในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เดินทางไปเยี่ยม นายฉัตรชัย โหลเจ ที่บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 4 บ้านเมืองน้อย ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องอาศัยอยู่กับพ่อและแม่ที่แก่ชรา แต่ได้ยังสร้างประโยชน์แก่สังคมชุมชน โดยการตั้งกองทุนรับเงินที่มีผู้นำมาบริจาคให้ตนเอง ไปช่วยเหลือทางด้านศาสนา และชุมชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กล่าวชื่นชม พร้อมทั้งมอบเงินสนับสนุนกองทุน และมอบสิ่งของช่วยเหลือ



ข่าวโดย : พักตร์ภูมิ ปัญญาไชยพัฒน์

ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน ระบุหลายโรงเรียนประสบปัญหาขาดแคลนครู ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายชั้น หลายวิชา

นายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวในโอกาสร่วมงานประชุมสมัชชาการศึกษา ของสมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนประสบปัญหาขาดแคลนครูเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งครูที่มาบรรจุที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่จะมาจากต่างจังหวัด เมื่อมาทำงานได้ระยะหนึ่ง ก็จะขอย้ายออกนอกพื้นที่ โดยไม่มีการบรรจุใหม่มาทดแทน หลายโรงเรียนครูไม่เพียงพอ ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายชั้น หลายวิชา ซึ่งไม่ตรงกับวิชาเอกที่ตนจบมา ทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับเด็กนักเรียนเองพ่อแม่ยากจน ต้องออกไปทำงานช่วยพ่อแม่เพื่อหารายได้ การเรียนจึงไม่ต่อเนื่องและไม่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ปัญหานั้น ผู้ว่าฯเน้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยกันคิดหาแนวทางจัดการเรียนการสอน สายสามัญและสายอาชีพควบคู่ไป อาทิ ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง การท่องเที่ยว การค้าขายชายแดน เมื่อจบการศึกษาจะได้รับในประกาศสองใบ เด็กที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อก็สามารถนำใบประกาศนียบัตรไปสมัครงานหรือนำความรู้ด้านอาชีพไปใช้ในชีวิตประจำวันได้



ข่าวโดย : นวรัตน์ ศรีแก้วเลิศ

จังหวัดแพร่ ขอเชิญชมการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนและประชาชน ประจำปี 2557

นายสุธน วิชัยรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่ แจ้งผ่านสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ว่า จังหวัดแพร่ โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่ กำหนดจัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนและประชาชน ประจำปี 2557 ขึ้น ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 29 มีนาคม 2557 เพื่อคัดเลือกทีมฟุตบอลที่ชนะเลิศเข้าร่วมการแข่งขันในระดับเขตและระดับประเทศต่อไป

สำหรับสนามที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ ใช้สนามฟุตบอลโรงเรียนถิ่นโอภาส สนามโรงเรียนเหมืองหม้อ สนามฟุตบอลองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ โดยเริ่มการแข่งขันวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 ณ สนามโรงเรียนถิ่นโอภาส และแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 29 ณ สนามกีฬากลาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่

จึงขอเรียนเชิญผู้สนใจร่วมเชียร์และให้กำลังใจนักกีฬา ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่ ในวันและเวลาราชการ



อรุณศักดิ์ เจาะจง

ตำรวจจังหวัดแพร่ จับกุม 2 หนุ่มสาวขนยาบ้า 818,100 เม็ด ซุกซ่อนถังน้ำมันและรอบคันรถ

ตำรวจจุดตรวจดงยาง สถานีตำรวจภูธรนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่จับกุม 2 หนุ่ม สาว ขนยาบ้าจำนวน 818,100 เม็ด ซุกซ่อนถังในน้ำมันเชื้อเพลิง และหลายแห่งภายในรถกระบะ รับจากอำเภอแม่สายไปส่งยังจังหวัดนครปฐม

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้ (17 ก.พ.57) ที่บริเวณกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ พล.ต.ต.ชำนาญ รวดเร็ว รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมด้วยนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พล.ต.ต. อรรถสิทธิ์ จิตรพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่นำตัวนายนิรุต ทองอำไพ อายุ 24 ปี บ้านเลขที่ 106/2 หมู่ 8 ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยนางสาวรรรลนา นุริตมนต์ อายุ 19 ปี บ้านเลขที่ 8/1 หมู่ 4 ตำบลปางช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี พร้อมของกลางยาบ้าจำนวน 818,100 เม็ด รถยนต์กระบะมิตซูบิซิสีดำทะเบียน ฒฎ 1052 กรุงเทพมหานคร  โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง สร้อยคอทองคำ และเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง

ซึ่งทั้งคู่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งจุดตรวจที่บริเวณจุดตรวจดงยาง บ้านดงยาง ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่บนถนนสายเด่นชัย – ศรีสัชนาลัย จับกุมได้ขณะจะขับรถผ่าน โดยมียาเสพติดยาบ้าซุกซ่อนอยู่ในแม็กลายเนอร์ และบริเวณถังน้ำมันเชื้อเพลิง ประตูรถ

โดยพฤติกรรมนั้นผู้ต้องหาทั้งสองคนได้เดินทางไปพักที่โรงแรมเบิร์ด อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. ย้ายไปพักที่โรงแรมแม่สายปาล์มรีสอร์ท ร่วมกับนายสมหมาย รุ่งคูหา นายพงษ์ศักดิ์ พานิชเจริญ และนายธาธิป อ่อนละมัย โดยแยกกันนอนคนละห้องและร่วมกับทั้งสามคนแพ็คของที่โรงแรมดังกล่าว และเวลา 01.00 น.ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ต้องหาสองหนุ่ม สาว ออกเดินทางจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีนายนายสมหมาย รุ่งคูหา นายพงษ์ศักดิ์ พานิชเจริญ และนายธาธิป อ่อนละมัย เดินทางล่วงหน้าก่อน 1 ชั่วโมง เส้นทางจังหวัดเชียงราย พะเยา งาว-ลำปาง สอง- แพร่ สูงเม่น เด่นชัย เข้าสุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตลอดระยะทางจะใช้ไลน์สนทนากับรถนำทางตลอดเส้นทาง แต่มาถูกจับกุมที่จุดตรวจดงยาง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ขยายผลตามจับกุมผู้ต้องหาในส่วนที่เหลือพร้อมขยายผลทำการยึดทรัพย์ต่อไป


ฉัตรชัย พวงขจร /ข่าว /พิมพ์ / ภาพ

แขวงการทางน่านที่ 2 เตือนประชาชนให้ระวังอันตรายเนื่องจากน้ำยางพารา

แขวงการทางน่านที่ 2 แจ้งเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากการใช้รถใช้ถนน เนื่องจากน้ำยางพาราที่หกบนผิวถนนทางหลวงหมายเลข 101 ตอน น่าน-ทาวังผา

นายประชาญ มะลิทอง รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการแขวงการทางน่านที่ 2 เปิดเผยว่า จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เกษตรกรหันมาปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก และมีการขยายพื้นที่เพราะปลูกยางพาราตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตผลผลิตยางพาราในประเทศไทยและจังหวัดน่านเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และขณะนี้จังหวัดน่านได้มีรถบรรทุกยางพารา ทำน้ำยางพาราหกลงบนผิวทางหลวงหมายเลข 101 ตอน น่าน – ท่าวังผา – ปัว ทำให้ผิวทางถนนลื่น ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ เพื่อให้ประชาชนได้สัญจรไป-มาในเส้นทางถนนสายดังกล่าว แขวงการทางน่านที่ 2 จึงได้มีการจัดทำป้ายเตือนอันตรายจากการบรรทุกยางพารา และรถบรรทุกได้ทำน้ำยางพาราหกลงบนผิวถนน ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้สัญจรไปมา และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

ดังนั้น จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนตามเส้นทางสายดังกล่าว ได้โปรดระมัดระวังในการเดินทาง ในเส้นทางสายดังกล่าวได้ และแขวงการทางน่านที่ 2 จะได้พิจารณาหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไปด้วย


รดา บุญยะกาญจน์/ ข่าว

เหล่ากาชาด จ.ลำปาง มอบบ้าน พร้อมสิ่งของอุปโภค บริโภค ให้แก่หญิงชราผู้ยากไร้ ในโครงการ "กาชาดซ่อม-สร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ เทิดไท้องค์ราชัน"

ที่บ้านเลขที่ 76 หมู่ที่ 4 ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นางอินทิรา สุภาแสน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง และนายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ นายอำเภอเมืองปาน ได้ร่วมกันทำพิธีส่งมอบบ้านในโครงการ "กาชาดซ่อม-สร้างบ้าน ให้ผู้ยากไร้เทิดไท้องค์ราชัน" ให้แก่ นางเรือน มูลทิน หญิงชราผู้ยากไร้ พิการเป็นใบ้หูหนวก และไร้ซึ่งผู้ดูแล โดยมีคณะกรรมการผู้บริหาร สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอเมืองปาน หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งราษฎรในพื้นที่ตำบลหัวเมือง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีส่งมอบบ้าน

โครงการ “กาชาดซ่อม-สร้างบ้าน ให้ผู้ยากไร้เทิดไท้องค์ราชัน” เป็นโครงการ ที่เหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง ได้ร่วมกับกิ่งกาชาดในทุกพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอต่างๆ ทั้ง 13 อำเภอ ของจังหวัดลำปาง จัดทำโครงการขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา โดยโครงการฯ ได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริ และพระราชกรณียกิจของ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งด้านการประกอบอาชีพและการพัฒนาคุณภาพชีวิต มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ เพื่อจะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่ ช่วยทำการก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้ เป็นบ้านแห่งธารน้ำใจ มอบช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ยากไร้ โดยในพื้นที่อำเภอเมืองปาน เหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง ได้มอบเงินสนับสนุนในการก่อสร้างบ้านผ่านกิ่งกาชาดอำเภอ จำนวน 40,000 บาท และได้รับการสนับสนุนจากทางอำเภอฯ องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง กองอาสารักษาดินแดนอำเภอเมืองปาน และชาวบ้านในพื้นที่ ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันจัดหาสิ่งของ ก่อสร้างบ้านหลังนี้ขึ้น และได้มอบให้แก่ นางเรือน มูลทิน ชาวบ้านในชุมชนบ้านไร่ ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน

นางเรือน มูลทิน ปัจจุบันอายุ 69 ปี เป็นผู้พิการทางสติปัญญา เป็นใบ้และหูหนวก ก่อนหน้านี้ นางเรือนฯ ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมที่ทำด้วยไม้ไผ่ ฝาไม้แตะ สภาพทรุดโทรมไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใดๆ ทั้งสิ้น โดยบ้านปลูกสร้างอยู่บนพื้นที่ 25 ตารางวา ติดกับบ้านของนายสุกฯ อายุ 59 ปี เป็นน้องชายแท้ๆ ของนางเรือน แต่พิการเป็นใบ้หูหนวกเหมือนกัน จึงไม่สามารถดูแลซึ่งกันและกันได้ และทั้งคู่ไม่สามารถจะประกอบอาชีพได้ ปัจจุบันดำรงชีพด้วยการรับเบี้ยคนพิการเดือนละ 500 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท เท่านั้น และในโอกาสนี้ เหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง และหน่วยงานองค์กรภาครัฐในพื้นที่ ได้ร่วมกันนำสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค ทั้งผ้าห่มกันหนาว ที่นอน หมอน มุ้ง ข้าวสาร อาหารแห้ง นำมามอบให้แก่นางเรือน และนายสุก สองพี่น้องผู้ยากไร้ ซึ่งการได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ได้สร้างความดีใจให้แก่สองพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง โดยได้ปรากฏเป็นรอยยิ้มขึ้นบนใบหน้าของทั้งสองพี่น้อง ให้เห็นอย่างชัดเจน.
ดูคลิป http://youtu.be/j1gKrLmcGpY



ข่าวโดย : นายชาญณรงค์ ปันเต

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจังหวัดลำปางเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมโครงการสมัครอาสาสมัครประกันภัย ประจำปี 2557

นางสาวนาถญา ศิริสายัณห์ ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ.จังหวัดลำปางอาวุโส เปิดเผยว่า ด้วยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประอบธุรกิจประกันภัย จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจหลักในการกำกับดูแลดำเนินธุรกิจประกันภัย และส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกุนภัยให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและนำการประกันภัยไปใช้จัดการกับความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามภารกิจดังกล่าว สำนักงาน คปภ.จึงกำหนด “โครงการอาสาสมัครประกันภัย” เพื่อให้อาสาสมัครประกันภัยเป็นบุคลากรเครือข่ายของสำยักงาน คปภ.จังหวัด ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยแก่ประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแนะนำ และรักษาสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประสบภัย ผู้เอาประกันภัย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจังหวัดลำปาง จึงขอเชิญชวน ผู้ที่สามารถเสียสละ อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน ด้วยบทบาทหน้าที่อันสำคัญและมีเกียรติ เข้าร่วมโครงการอาสาสมัครประกันภัย เพื่อเป็นบุคลากรเครือข่ายในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งจะจัดอบรมอาสามสมัครประกันภัยในเดือนมีนาคม 2557 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 054-265064



ข่าวโดย : ปัณธวัฒน์ ทวีพรจิรภาคย์

สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ได้นายกสมาคมคนใหม่ หลังมีการเลือกตั้งในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ประกาศแผนพัฒนาดึงราคาเซรามิคขึ้น ช่วยผู้ประกอบการ

สมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ และพิจารณาแนวทางในการดำเนินงานกิจกรรมของสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง ที่ โรงแรมเอเชีย ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ทางสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง ได้จัดให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ และคณะผู้บริหารชุดใหม่ เพื่อบริหารงานของสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง ปี 2557-2559 ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการบริหารชุดเดิม(บริหารงาน ปี 2554-2556) ที่มีนายธนโชติ วนาวัฒน์ เป็นนายกสมาคมฯ ได้หมดวาระลง เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

โดยการเลือกตั้ง นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง ในครั้งนี้ มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายชูเกียรติ ตังคะกุตติยา เจ้าของบริษัท ชูปรา จำกัด และนายต่อศักดิ์ ประคำทอง เจ้าของโรงงาน วังแคว้งเซรามิค คราฟท์ ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายชูเกียรติ ตังคะกุตติยา ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ชนะนายต่อศักดิ์ ประคำทอง ไปด้วยคะแนนเสียง 46 ต่อ 39 คะแนน ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง ซึ่งในโอกาสนี้นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และคณะผู้บริหาร หน่วยงานองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ จากสังกัดหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามอบช่อดอกไม้ เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับ นายชูเกียรติ ตังคะกุตติยา ที่ได้รับความไว้วางใจจากหมู่มวลสมาชิกสมาคมฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง คนใหม่

หลังเสร็จสิ้นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายชูเกียรติ ตังคะกุตติยา นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง ได้กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงแนวทางการดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ ต่อไปว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์เซรามิคของจังหวัดลำปาง มีราคาถูกเกินไปเมื่อเทียบกับคุณภาพสินค้า ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะต้องพยายามดึงราคาผลิตภัณฑ์เซรามิคให้สูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ในราคา 5 บาท ก็จะปรับขึ้นเป็น 7-10 บาท โดยจะทำการค่อยๆ ปรับขึ้นทีละนิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสินค้ามีราคาสูงและแพงขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะสนับสนุนส่งเสริมให้สินค้าผลิตภัณฑ์เซรามิค ของจังหวัดลำปาง สามารถยืนหยัดในราคาได้ด้วยแนวคิด ของดีต้องขายกันด้วยคุณภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้า และอย่างน้อยก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการขายผลิตภัณฑ์ สำหรับในเรื่องของการจัดงานเซรามิกแฟร์ ที่ผ่านมาทุกๆ ปี ทางสมาคมฯ ได้จัดขึ้นในสถานที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในตัวจังหวัด ทำให้งานขาดความเป็นเอกเทศ ไม่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น พอที่จะดึงดูดผู้บริโภคจากต่างจังหวัด ในเรื่องนี้ต่อไปทางสมาคมฯ จะได้มีการจัดหาสถานที่ ที่เหมาะสมแห่งใหม่ เพื่อจะสร้างให้เป็นแบรนด์งาน ระดับจังหวัด ที่มีความโดดเด่น อลังการด้านสินค้า เพื่อจะดึงดูดผู้บริโภค และกลุ่มผู้ค้าทางธุรกิจ ให้เข้ามาหาเลือกซื้อสินค้าเซรามิค ที่จังหวัดลำปาง ให้มากยิ่งขึ้น


ข่าวโดย : นายชาญณรงค์ ปันเต

คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จ.ลำพูน ร่วมประชุม นำเสนอแนวทางการดำเนินงาน ในปี 2557

ผู้บริหาร หน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง ใน จ.ลำพูน ร่วม ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดลำพูน เพื่อ ร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน งานด้านการศึกษา นอกระบบ ให้แก่ ประชาชน และ ผู้สนใจเพื่อเพิ่มโอกาส การเรียนรู้ ให้แก่ ผู้สนใจ หรือ ผู้ขาดโอกาส ให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ห้องประชุม ศูนย์การศึกษานอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายอาณัติ วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัย ประจำจังหวัดลำพูน หรือ กศน. โดยมี ผู้บริหารหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม เพื่อ ร่วมกันหาแนวทางในการดำเนินงาน ขับเคลื่อน งานด้านการศึกษานอกระบบ ซึ่ง กศน. ลำพูน เป็นหน่วยงานสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบาย ในการพัฒนาศักยภาพ ของ นักศึกษา นอกระบบ ทั้งด้านทักษะ ความรู้ , ด้านแนวคิดสร้างสรรค์ , ด้านความสามารถพิเศษ เพื่อ ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในกลุ่มสนใจ , กลุ่มผู้พิการ , ผู้สูงอายุ รวมถึง กลุ่ม ผู้ขาดโอกาส ให้ได้รับการศึกษา อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ได้มีการจัดการประกวด ผลิตภัณฑ์ ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ส่งเสริมความรู้ ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และ ฝีมือภูมิปัญญา นักศึกษา ให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่ง การประกวดครั้งนี้ถือเป็น การคัดเลือกตัวแทน กศน. ในจังหวัดลำพูน เข้าร่วม การประกวดในระดับภาค และ ระดับประเทศต่อไป



ข่าวโดย : เชาวรินทร์ สอนปาละ

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูนการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และทักษะอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน จัดการแสดง วัฒนธรรม พื้นบ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการเรียนรู้ และ ทักษะ อาชีพ ให้แก่เด็กและเยาวชน ตามโครงการความร่วมมือ ด้านการสื่อสาร การดำเนินงานจังหวัดดีเด่น จังหวัดลำพูน ระยะ ที่ 2

เมื่อช่วงค่ำ วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 ที่เวทีการแสดง ถนนข่วงคนเตียว เทศบาลเมืองลำพูน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน ได้จัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และ ทักษะอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ตามโครงการความร่วมมือด้านการสื่อสารการดำเนินงานจังหวัดดีเด่น โดยเชิญ นักร้อง นักดนตรีพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงจากจังหวัดเชียงใหม่ คือ นางสาวมณีรัตน์ รัตนัง หรือ อ้อม รัตนัง ได้แสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านด้านดนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริม ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ในด้านต่างๆ และ แนะนำ ให้เด็ก และ เยาวชน ที่ไม่ได้ศึกษาต่อหรือว่างงานได้ฝึกอาชีพระยะสั้น ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือ แรงงาน , หรือศูนย์การเรียนรู้ ต่าง ๆ หรือ ศึกษาต่อ ที่ กศน. เพื่อเสริมสร้างโอกาสที่ดีในการประกอบอาชีพ เพื่อ จะได้มีอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับ โครงการความร่วมมือ ด้านการสื่อสาร การดำเนินงานจังหวัดดีเด่น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดยมุ่งใช้สื่อต่าง ๆ ในการเผยแพร่ ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความสำคัญ ของการเรียนรู้ เพื่อ จะได้มี อาชีพ และ มีรายได้ ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิต ที่ดี สืบไป ทั้งนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดลำพูน มุ่งใช้สื่อต่าง ๆ หลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย และ ผู้ปกครอง ให้ทั่วถึงมากที่สุด เช่น การจัดรายการวิทยุทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทสไทย จังหวัดลำพูน รรายการ ม่วนใจ๋ไปกับ อปมช.ลำพูน ทุกวัน พฤหัสบดี เวลา 14.10 – 15.00 น. , การผลิตป้ายประชาสัมพันธ์ และ สื่อสิ่งพิมพ์ อื่น ๆ รวมทั้งการจัดเวทีเสวนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ แก่เยาวชน ผู้ปกครอง และ สื่อมวลชน ซึ่ง ได้จัดไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 90 คน .



ข่าวโดย : เชาวรินทร์ สอนปาละ

หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ระบุ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ การผลัดใบช่วงหน้าแล้งเป็นเชื้อเพลิงการเกิดไฟป่าอย่างดี การป้องกันต้องเน้นชิงเผาจุดสำคัญ

นายจิรภัทร ชัยกิตติพร หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก และอยู่ระหว่างดำเนินการผนวกเขตอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง สำหรับพื้นที่ในความรับผิดชอบของสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง แบ่งเป็นพื้นที่หลักกับพื้นที่รอง พื้นที่หลัก จำนวน 187,500 ไร่ อีกกว่า 4 แสนไร่ ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง เนื่องจากกำลังคนและงบประมาณมีจำกัด โดยเมื่อเกิดเหตุไฟป่าสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิงจะต้องเข้าระงับเหตุเป็นหน่วยงานแรก พื้นที่รองลงมา คือ ป่าสงวนรอบๆ เขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่าในพื้นที่ประการสำคัญ คือ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ร้อยละ 70 ป่าเบญจพรรณ ร้อยละ 20 ป่าดิบแล้ง ร้อยละ 5 และป่าดิบเขา ร้อยละ 5 ซึ่งสภาพของป่าเต็งรัง กับป่าเบญจพรรณ จะผลัดใบช่วงหน้าแล้ง ดังนั้น ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นจึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อเกิดเพลิงจะก่อให้เกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การป้องกันจะต้องมีการชิงเผาก่อนโดยเน้นจุดสำคัญ ได้แก่ แหล่งสัตว์ป่าอยู่อาศัยจำนวนมาก แหล่งใกล้ชุมชน แหล่งใกล้เส้นทางสัญจร



ข่าวโดย : ชาลิสา วัฒนะโชติ 

ขนส่งจังหวัดลำพูน แจ้งผู้ประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถ ไปชำระภาษีรถ

ขนส่งจังหวัดลำพูน แจ้งผู้ประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถ ไปชำระภาษีรถก่อนวันสิ้นอายุภาษี ทั้งนี้ หากนำรถที่ไม่เสียภาษีประจำปีไปใช้ มีโทษปรับ ๕ หมื่นบาท

นายสมควร ลี่วัฒนายิ่งยง ขนส่งจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า การชำระภาษีรถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก สามารถยื่นชำระภาษีได้ล่วงหน้า ๓ เดือน ก่อนวันสิ้นอายุภาษี หากเป็นรถที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ให้ยื่นต่อนายทะเบียนประจำจังหวัดลำพูน หรือนายทะเบียนประจำจังหวัดอื่น จึงขอให้ผู้ประกอบการขนส่ง หรือเจ้าของรถที่จะครบกำหนดอายุภาษีในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗ และรถที่ค้างชำระภาษี ไปดำเนินการชำระภาษีรถ โดยนำเอกสารหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ (ถ้ามี), สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕, พร้อมทั้งนำรถเข้ารับการตรวจสภาพและชำระภาษีประจำปี ไปประกอบการดำเนินการ

กรณีที่รถค้างชำระภาษีครบสามปี ทะเบียนจะถูกระงับโดยผลของกฎหมาย เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถต้องส่งคืนแผ่นป้ายทะเบียนรถ และนำหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อบันทึกหลักฐาน การระงับทะเบียนรถ ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้แจ้งหนังสือและปิดประกาศหมายเลขทะเบียนที่ถูกระงับ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ส่วนการนำรถที่ไม่เสียภาษีประจำปีไปใช้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ยังมีภาระต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๑ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ค้างชำระ และทางราชการจะพิจารณาจำกัดสิทธิในการดำเนินการทางทะเบียนรถในโอกาสต่อไปอีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายทะเบียนรถ สำนักงานขนส่งจังหวัดลำพูน โทร. ๐ ๕๓๕๓ ๗๓๒๕ ในวันและเวลาราชการ


ข่าวโดย : ศักดิ์สิทธิ์ กิตินันทน์

หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เผย การป้องกันและควบคุมไฟป่าต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชน

หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เผย การป้องกันและควบคุมไฟป่าต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชน เน้นให้ความรู้และประสานความร่วมมือกับเครือข่าย

นายจิรภัทร ชัยกิตติพร หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง กล่าวว่า หลักในการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมไฟป่าของสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก เป็นการปฏิบัติงานก่อนถึงช่วงการเกิดไฟป่า ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี จะมีการสำรวจพื้นที่ แหล่งน้ำ ทางสัญจร รวมไปถึง สำรวจแนวกันไฟที่เคยมีว่ายังสามารถป้องกันไฟได้หรือไม่ พร้อมออกประชาสัมพันธ์ในพื้นที่หมู่บ้านที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า โดยนำข้อมูลสถิติการเกิดไฟป่าเปรียบเทียบจากปี 2555-2556 มาวิเคราะห์พื้นที่เกิดไฟป่าซ้ำซาก เกิดจากสาเหตุใด ร่วมหารือกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ขั้นตอนที่สอง เป็นช่วงการเกิดไฟป่า จะต้องเตรียมกำลังพลในการลาดตระเวน ทั้งทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บางจุดรถไม่สามารถเข้าถึงต้องอาศัยเรือและการเดินเท้า มีการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ในการดูแลป้องกัน สร้างแนวกันไฟและดับไฟ เนื่องจากอัตรากำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย เพียง 30 คน ต่อการดูแลพื้นที่ 187,500 ไร่

จึงต้องสร้างเครือข่าย อาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชน มีการให้ความรู้เทคนิคในการดูทิศทางลมที่เรียกว่าหัวไฟ หางไฟ ปีกไฟ ซึ่งลมในหุบเขาจะมีการพัดที่ไม่เหมือนพื้นที่ราบ การทำแนวกันไฟขณะเกิดไฟป่าเพื่อการดับไฟกรณีที่เกิดไฟป่าอย่างรุนแรง การดับไฟ สาธิตการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ จากนั้นหลังช่วงของการเกิดไฟป่า จะต้องมีการประเมินผล สรุปการทำงาน ปัญหาอุปสรรค เพื่อการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในปีต่อไป

ทั้งนี้ ข้อจำกัดในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ คือ จำนวนพื้นที่กับอัตรากำลังและงบประมาณที่ได้รับไม่สัมพันธ์กัน สภาพพื้นที่ป่าเป็นภูเขาสูงชัน การเข้าถึงแหล่งเกิดไฟค่อนข้างลำบาก อีกทั้ง ในพื้นที่มีสัญญาณวิทยุสื่อสาร สัญญาณโทรศัพท์ เพียงบางจุดและสัญญาณอ่อน ส่งผลต่อการติดต่อสื่อสารแจ้งกำลังพลในการดับไฟ



ข่าวโดย : ชาลิสา วัฒนะโชติ 

บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ สาขาลำพูน จัดงานวันรักความปลอดภัยทางถนน Road Safety Day

บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาลำพูน จัดกิจกรรมเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยจัดงานวันรักความปลอดภัยทางถนน Road Safety Day ๒๔ กุมภาพันธ์นี้ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ บริเวณหน้าตลาดลำพูนจตุจักร

นางสาวคณัญญา นันจันทร์ ผู้จัดการสาขาลำพูน บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดเปิดเผยว่า บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาลำพูน กำหนดจัดกิจกรรมเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยจัดงานวัน RVP รักความปลอดภัยทางถนน หรือ RVP Road Safety Day ในวันจันทร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ หน้าสำนักงานบริษัทกลางฯ สาขาลำพูน บริเวณหน้าตลาดลำพูนจตุจักร ถนนลำพูน – ดอยติ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การให้บริการเปลี่ยนหลอดไฟรถจักรยานยนต์ฟรี, การให้คำแนะนำวิธีขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างถูกต้อง, การแจกหมวกนิรภัยให้แก่เด็กที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ขณะโดยสารรถจักรยานยนต์ที่ผู้ปกครองส่งไปโรงเรียน, การจำหน่ายหมวกนิรภัยแบบพิเศษ ๗๖ พรรษา ร่วมทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา ราคาใบละ ๖๕ บาท รวมทั้งการเล่นเกมส์ความปลอดภัยทางถนนเพื่อรับของรางวัลมากมาย


ข่าวโดย : ศักดิ์สิทธิ์ กิตินันทน์

จัดหางานจังหวัดลำพูน เตือนแรงงานไทยระวังถูกหลอกทำใบอนุญาตปลอม

จัดหางานจังหวัดลำพูน เตือนแรงงานไทยระวังถูกหลอกทำใบอนุญาตทำงานปลอม โดยเฉพาะการใช้ใบอนุญาตปลอมเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย มีโทษจำคุก ๖ เดือน

นางสาวอวยพร นันไชยกา จัดหางานจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่าน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรัฐยะโฮร์ได้เข้าจับกุมแกงค์ทำใบอนุญาตทำงานปลอมให้แรงงานต่างชาติที่เมือง Skudai รัฐยะโฮร์ มีชาวอินเดียถูกจับกุมทั้งสิ้น ๔๔ คน โดยหนึ่งในจำนวนนั้นถูกจับขณะที่กำลังพิมพ์ใบอนุญาตทำงานปลอม ส่วนจำนวนที่เหลือเชื่อว่าเป็นลูกค้าหรือเหยื่อที่มารอรับใบอนุญาตทำงาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำพูนจึงขอเตือนคนไทยเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะในรายที่ถูกชักชวนโดยเอเย่นต์ หรือในกรณีที่นายจ้างให้ผู้อื่นไปติดต่อขอใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากพบว่ามีแรงงานไทย รวมทั้งนายจ้างในมาเลเซียบางราย ถูกเอเย่นต์หลอกทำใบอนุญาตทำงานปลอมแล้วหลายราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานก่อสร้าง แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม และแรงงานตำแหน่งแม่บ้าน ซึ่งแรงงานไทยบางรายรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำใบอนุญาตทำงานปลอมออกไปจ๊อบที่ด่าน ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียจับกุม และถูกลงโทษจำคุก ๖ เดือน

สำหรับการตรวจสอบว่าใบอนุญาตทำงานเป็นของจริงหรือของปลอม ในเบื้องต้น ให้สังเกตในใบอนูญาตทำงาน หรือ Visit Pass (Temporary Employment) ว่าระบุสถานที่ทำงานตรงกับสถานที่ทำงานจริงหรือไม่ และในส่วนของค่าธรรมเนียมวีซ่าของคนไทยจะต้องระบุว่าเป็น Gratis (ยกเว้น) สำหรับขั้นตอนที่ถูกต้องของการขอใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียนั้น คนงานจะต้องได้รับ Calling Visa จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย และจะต้องผ่านการตรวจโรคกับคลีนิคที่อยู่ในสังกัดของ Fomema (หน่วยงานตรวจสอบสุขภาพคนงานต่างชาติ) ก่อน จึงจะสามารถดำเนินการตัดสติกเกอร์ใบอนุญาตทำงานในหนังสือเดินทางได้ ทั้งนี้ โทษของการปลอมแปลงเอกสารการเดินทางในประเทศมาเลเซีย มีโทษรุนแรงกว่าการอยู่เกินกำหนดมาก กรณีอยู่เกินกำหนด หากถูกจับกุมจะมีโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กรณีการปลอมแปลงเอกสาร จะมีโทษปรับไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ ริงกิต หรือจำคุก ๕ – ๑๐ ปี



ข่าวโดย : ศักดิ์สิทธิ์ กิตินันทน์

สวท.ลำพูน จัด เวทีเสวนาสัญจร ชุมชนสมานฉันท์ ครั้งที่ 1

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จัด เวทีเสวนาสัญจร ชุมชนสมานฉันท์ ครั้งที่ 1 โดย มีวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฆิร่วมเสวนา เพื่อหาแนวทาง ให้ประชาชน คนในชาติ เกิดความรัก ความสามัคคี และ มีส่วนร่วม ในการสร้างความสงบสุขสมานฉันท์ ในสังคม

ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมืองลำพูน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดลำพูน จัดเวที เสวนา สัญจร ชุมชนสมานฉันท์ ครั้งที่ 1 โดยได้เชิญ วิทยากร ผู้ทรงคุณในจังหวัดลำพูน ร่วม เสวนา ประกอบด้วย พระราชปัญญาโมลี เจ้าคณะจังหวัดลำพูน , นายอาณัติ วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน , นางประภัสสร ไชยชนะใหญ่ กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำพูน , นางแพรวพรรณ อินทะชัย ประธานชุมชนบ้านท่า - ท่านาง อ.เมือง จ.ลำพูน ร่วม เสวนาแลกเปลี่ยน เสนอความคิดเห็น รวมถึง แนวทางที่จะให้ สังคมไทย กลับมามีความสามัคคี ปรองดอง มีการพุดคุย กันด้วยเหตุผล โดยมี นายพงษ์เทพ มันสตรง ประธานสภาวัฒนธรรม จังหวัดลำพูน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา มี ประชาชน , เยาวชน ในพื้นที่ใกล้เคียง และ ผู้ที่มาทำบุญ ภายในวัด เข้าร่วมรับฟังการเสวนา

นางศรีอุไร นุกูลกิจบำรุง รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประทศไทย จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ปัจจุบัน สังคมไทย เกิดความแตกแยกทางความคิด ซึ่งก่อให้เกิด เหตุการณ์ความรุนแรง ตามสื่อ ต่าง ๆ รัฐบาล ได้ตระหนักถึงปัญญาดังกล่าว โดยกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดลำพูน จึงได้ดำเนิน โครงการ ประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างความสมานฉันท์ และ ความสามัคคี ของคนในชาติ 2 ครั้ง ซึ่งในครั้ง ที่ 2 จะจัดขึ้น ในวันที่ 5 เมษายน 2557 ที่ ชุมชน ดอนหลวง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน .



ข่าวโดย : เชาวรินทร์ สอนปาละ

หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิงเสนอแนวคิดจ้างคนเก็บของป่าเป็นพนักงานดับไฟป่าหรือลาดตระเวนในพื้นที่อุทยาน แทนการเผาป่าเก็บผักหวาน เห็ดถอบ

นายจิรภัทร ชัยกิตติพร หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง กล่าวว่า สาเหตุการเกิดไฟป่าในพื้นที่ คือ การหาของป่า ผักหวาน เห็ดถอบ ด้วยความเชื่อว่า เมื่อเผาป่าแล้วผักหวาน เห็ดถอบจะออกมากขึ้น ซึ่งนับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ บางครอบครัวมีรายได้ 2-3 หมื่นบาท ต่อฤดูกาล จึงยากต่อการเปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรมของประชาชน ต่อคำถามที่ว่า หากให้ประชาชนเลิกเผาป่าเพื่อเก็บผักหวาน เห็ดถอบ แล้ว ประชาชนจะได้รับการส่งเสริมอาชีพอะไรที่มีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าการเก็บผักหวาน เห็ดถอบ ไปจำหน่าย ตนมีแนวความคิดว่า น่าจะมีงบประมาณในการจ้างคนเก็บของป่าเป็นพนักงานดับไฟป่าหรือลาดตระเวนในพื้นที่อุทยาน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณจึงไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะเดียวกัน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชนมากขึ้น

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวบางรายมีการก่อกองไฟในการพักค้างหรือประกอบอาหาร พอเลิกใช้ไม่มีการดับไฟหรือดับไม่สนิท เมื่อมีกิ่งไม้ตกลงในกองไฟหรือลมพัดใบไม้แห้งปลิวตกลงในกองไฟ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไฟป่าได้ ในปี 2556 พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีสถิติการเกิดไฟป่า กว่า 60 ครั้ง พื้นที่เสียหายกว่า 600 ไร่ โดยตำบลก้อ อำเภอลี้ มีสถิติจุดความร้อนมากที่สุดในจังหวัดลำพูน เนื่องจากจุดที่เกิดไฟป่าเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน หากเกิดไฟป่าต้องใช้ระยะเวลานานในการเดินทางเข้าถึงและอันตรายในการปฏิบัติการดับไฟ ส่วนการเผาในที่โล่งพื้นที่การเกษตรของประชาชนไม่น่าเป็นห่วง เพราะประชาชนมีความตระหนักและกลัวผลกระทบด้านสุขภาพ จึงมีการเผาน้อยลง และใช้วิธีการไถกลบมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2557 มีการตั้งเป้าหมายจุดความร้อนของการเกิดไฟป่าเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ไม่เกินร้อยละ 15



ข่าวโดย : ชาลิสา วัฒนะโชติ 

กกต.ลำพูน แจ้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ระหว่างวันที่ 17-28 กุมภาพันธ์นี้

นายไกรยุทธิ์ มณีวระ หัวหน้างานสืบสวนสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำพูน กล่าวว่า วาระของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มีนาคม 2557 จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ภายใน 30 วันนับแต่วันที่วาระของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง โดยกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2557 และให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดและในเขตจังหวัด วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2557 เวลา 08.00–15.00 น. ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ขอความร่วมมือสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นเปิดรับการลงทะเบียนหรือการเปลี่ยนแปลงการขอให้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ระหว่างวันที่ 17-28 กุมภาพันธ์ 2557

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่ในจังหวัดอื่น นอกจากจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ในจังหวัดอื่นนอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้าย หากบุคคลดังกล่าวยังไม่เคยยื่นลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด แล้วต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดลำพูน ไม่เคยยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด แล้วต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งที่กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ระหว่างวันที่ 17-28 กุมภาพันธ์ 2557 หรือกรณีต้องการยกเลิกการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดที่เคยลงทะเบียนไว้เพื่อกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดลำพูน เคยยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งที่กรุงเทพมหานครไว้ แล้วต้องการกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่จังหวัดลำพูน สามารถยื่นคำขอยกเลิกการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ระหว่างวันที่ 17-28 กุมภาพันธ์ 2557

ขณะที่กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เคยลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดไว้แล้ว ต้องการเปลี่ยนจังหวัด เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดลำพูน เคยยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งที่กรุงเทพมหานครไว้ แล้วต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งที่จังหวัดปทุมธานี สามารถยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ระหว่างวันที่ 17-27 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งนี้ หากบุคคลใดเคยลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดไว้ ณ จังหวัดลำพูน เมื่อคราวลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกเขตจังหวัด วันที่ 26 มกราคม 2557 และประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งที่จังหวัดลำพูนเช่นเดิม ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำพูน โทรศัพท์หมายเลข 0-5356-0607-8 ในวันเวลาราชการ



ข่าวโดย : ชาลิสา วัฒนะโชติ 

นิทรรศการย้อนอดีตเมืองปากน้ำโพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาวัฒนธรรม

วันอาทิตย์ที่ 16 ก.พ.57 เวลา 11.30 น. นายชัยโรจน์ มีแดง ผวจ.นว.ประธานเปิดการจัดงานนิทรรศการย้อนอดีตเมืองปากน้ำโพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาวัฒนธรรม รวมทั้งการแสดงผลงานของดีบ้านฉันและผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาวัฒนธรรม (OTOP วัฒนธรรม) เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้าง ความรู้ความเข้าใจด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ ณ ห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ ชั้น 5 อ.เมืองนครสวรรค์ เปิดทุกวัน เข้าชมฟรี นครสวรรค์ เป็นเมืองที่มีคนจีนมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจาก กรุงเทพฯและภูเก็ต ที่นี่มีเรื่องเล่าและเรื่องราวประกอบรูปภาพถ่ายเก่าๆ ข้าวของเครื่องใช้ นับตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่คนไทยเชื้อสายจีนเข้ามาอาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภาร คุณสันติ คุณาวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จำกัด มีความคิดในลักษณะการเดียวกัน เคยนำภาพถ่ายเก่าๆ มาจัดนิทรรศการแล้วได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่วัย 20-30 ปี

จึงเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์มีส่วนสำคัญในการปลูกสำนึกรักบ้านเกิด บันทึกความเป็นวิถีเดิมๆ ของชาวปากน้ำโพให้ลูกหลานได้รับรู้ถึงความเป็นมาของบ้านเกิดเมืองนอน จึงเป็นที่มาของ "พิพิธภัณฑ์ย้อนอดีต เมืองปากน้ำโพ" ที่ชั้น 5 ของห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ รวบรวมร้านค้าในสมัยก่อน ป้ายเก่าๆ ที่มีในสมัยก่อนจริงๆ มาตั้งไว้ เป็น Real Museum บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สินค้าพื้นบ้าน ศิลปหัตถกรรม ตลอดจนวิถีชีวิต การค้าขายในท้องถิ่น วัฒนธรรมที่งดงาม รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายภายในจังหวัด โดยแบ่งเป็น 7 โซน

โซนที่ 1 ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นมณฑลนครสวรรค์ พาย้อนกลับไปยังอดีตเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสที่นี่ ผ่านเรือพระที่นั่งจำลอง

โซนที่ 2 จำลองร้านค้าเก่าแก่ ในย่านที่เรียกว่า "ตลาดลาว" ซึ่งสมัยก่อนเป็นศูนย์การค้าแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างคนทางเหนือที่ล่องมาจากกำแพงเพชร จากเชียงใหม่ ซึ่งคำว่า "ลาว" เป็นคำที่ใช้เรียกคนทางเมืองเหนือนั่นเอง ร้านค้าดังๆ ในยุคนั้นก็เช่น "บ้านมะระยงค์" อาคารเก่าแก่ที่สุดในนครสวรรค์ตั้งแต่ยังเป็นเอเยนต์เครื่องดื่มน้ำดำ จำหน่ายน้ำมันตรามงกุฏ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันเชลล์ "ร้านโกยี" ภัตตาคารไทยแห่งแรกของนครสวรรค์ เพราะเมื่อก่อนคนไทยจะนิยมขายเป็นแผงลอย
ยังมีโรงหนังเฉลิมชาติ โรงน้ำแข็ง ร้านขายน้ำหวาน ร้านตัดผม

โซนที่ 3 ป้ายเก่าเล่าเรื่องเมือง "สมัยก่อนนครสวรรค์มีคนจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ป้ายต่างๆ ในเมืองจะเป็นป้ายภาษาจีน กระทั่งรัฐบาลกำหนดว่าถ้าเป็นป้ายภาษาจีนทั้งหมดจะเสียภาษีเยอะ ต้องมีภาษาไทยด้วย แต่จะสังเกตว่าร้านทุกร้านจะมีภาษาจีน" สันติบอก

โซนที่ 4 นิทรรศการ เมืองปากน้ำโพ เล่าเรื่องเมืองนครสวรรค์ทั้งเมือง ตั้งแต่ตำนาน ประวัติความเป็นมาของต้นแม่น้ำเจ้าพระยา การต่อสู้ของบรรพบุรุษ ชาติมังกร
"นครสวรรค์ที่เจริญอย่างทุกวันนี้ เพราะทำเลดี ในสมัยอยุธยาใช้เมืองนครสวรรค์เป็นเมืองหน้าด่าน ป้องกันศัตรู เป็นแหล่งรวมกำลัง พอมาถึงรัชกาลที่ 3 สงครามสงบ การค้าก็เริ่มมา คนจีนก็ได้มีการนำเรือมาค้าขาย เป็นแหล่งรวมการค้า พอรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการสร้างรถไฟ จากกรุงเทพฯมายังนครสวรรค์ ตลาดการค้าคึกคักมาก มีบริษัทต่างชาติมาเปิดมากมาย ของแขกก็มี ของจีนก็มี มาซื้อข้าวซื้อไม้สัก พอรัชกาลที่ 6-8 เริ่มมีถนนและสะพาน การขนส่งทางน้ำถูกลดความสำคัญลงไป เราจะเห็นว่าจากทำเลตรงนี้ทำให้เกิดประวัติศาสตร์มากมาย"

คุณสันติ บอกและว่า เชื่อกันมาแต่สมัยโบราณว่าต้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น "วังมังกร" ทุกปีจึงต้องมีขบวนแห่เพื่อบูชาเจ้าพ่อเจ้าแม่มาร่วม 99 ปีแล้ว
"การแห่แต่ละปี คนในเมืองทั้งนั้นที่เป็นคนแห่ เพราะฉะนั้นลูกหลานในเมืองไม่ว่าจะเป็นลูกแขก หรืออะไร ส่วนใหญ่จะเคย ′แห่เจ้า′ กันทั้งนั้น เพราะว่าเราไม่ได้จ้างคน ไม่ว่าผู้บริหารเมืองจะเปลี่ยนกันไปกี่คนต่อกี่คน การแห่เจ้ายังคงต้องมี เพราะเป็นการแห่เพื่อแสดงการสักการะเจ้าพ่อเจ้าแม่ของเรา
การแห่ก็อาจจะพิสดารไปเรื่อยๆ อย่างมังกรเพิ่งมีในปี 2506 ก่อนหน้านี้จะเป็นแห่สิงโต แห่เสือ แล้วมาเป็นสิงโตปักกิ่ง ที่สนุกมากคือ ′เอ็งกอ′ ใช้คนแสดงเป็นร้อยคน หากศึกษาลึกลงไป หน้าแต่ละคนที่ระบายแตกต่างกันไป ก็แสดงความหมายแตกต่างกันไป"

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่มาของประเพณีเหล่านี้จะรวมไว้ที่นี่ทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจที่มาของวิถีชาวปากน้ำโพเป็นวีดิทัศน์ประกอบการจัดแสดงสิ่ง ของโซนที่ 5 แผนที่ ชุมทางการค้า เมืองปากน้ำโพ โซนนี้ จะจำลองแผนที่การค้าในนครสวรรค์ตลอดจนประวัติเรือ และจำลองเส้นทางคมนาคม ตั้งแต่เรือหางแมงป่อง ซึ่งเป็นเรือสำหรับเจ้านาย ไปถึงเรือจ้าง เรือขนข้าว ไปถึงรถสามล้อ ถึงรถยนต์ยุคต่างๆ
โซนที่ 6 เล่าเรื่องเมืองปากน้ำโพ ผ่านภาพถ่าย โดย มานพ สุวรรณศรี

นอกจากนี้ ทางห้างยังจัดให้มีมุมถ่ายภาพสามมิติ เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กและเยาวชน ให้สามารถไปอวดคนที่บ้านหรือเพื่อฝูงได้อีกด้วย ลองแวะเข้าไปชม "พิพิธภัณฑ์ย้อนอดีต เมืองปากน้ำโพ" ก่อนเริ่มทัวร์เมืองนครสวรรค์ แล้วจะรู้สึกว่าเต็มอิ่มกับการเดินทางยิ่งขึ้น

จังหวัดเพชรบูรณ์ร่วมกับคณะส่วนล่วงหน้าประชุมเตรียมการรับเสด็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จทรงเปิดศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ดงมูลเหล็ก จังหวัดเพชรบูรณ์

วันนี้ (17 ก.พ.57) เวลา 11.00 น. ที่องค์การบริหารส่วนตำบลดงมูลเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับ พล.อ.ต. สรชัย ชีวะกลินศักดิ์ ผู้อำนวยการกองงานพระวรชายาฯ และคณะ ได้ประชุมเพื่อเตรียมการรับเสด็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชการฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จทรงปฎิบัติพระกรณียกิจ ทรงเปิดศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ดงมูลเหล็ก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติและถวายความปลอดภัยสูงสุด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนถิ่น และผู้เกี่ยวข้องเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียง

โอกาสนี้ พล.อ.ต. สรชัย ชีวะกลินศักดิ์ ผู้อำนวยการกองงานพระวรชายาฯ และคณะ ได้ตรวจพื้นที่ทรงงานพร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำการเตรียมการด้านต่างๆ แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ก่อตั้งจากพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว จึงได้พระราชทานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์ โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เน้นความเชื่อมโยงของคนทุกช่วงวัย ทั้งวัยเด็ก วัยพ่อแม่ และวัยปู่ ย่า ตา ยาย โดยมีการบูรณาการการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการให้บริการประชาชนแบบองค์รวม เพื่อสร้างรูปแบบตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาในพื้นที่แล้วขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

ชาวไร่ข้าวโพดจังหวัดเลย ร้องผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ช่วยเหลือติดตามเงินส่วนต่างค่าข้าวโพดตามมาตรการแทรกแซง

วันนี้ (17 ก.พ.57) เวลา 13.30 น.ที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพด จากตำบลเลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย มาชุมนุมยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ช่วยติดตามเงินส่วนต่างโครงการแทรกแซงราคาข้าวโพดตกต่ำ โดยมีนายสุชาติ ราษฎรดุษฎี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้รับเรื่อง

นายด่วน มาฉิม รองนายก อบต.เลยวังไสย์ และนายคำบาง แพงพยอม ผู้ใหญ่บ้านโนนพัฒนา หมู่ที่ 7 ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ตัวแทนเกษตรกร ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือในกรณีที่ประสบความเดือดร้อนในการขายข้าวโพดราคาตกต่ำ จึงขอความอนุเคราะห์ ขอรับเงินชดเชยแทรกแซงราคาข้าวโพด และขอเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงิน ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจ่ายเงินเกษตรกรจังหวัดเลย และเกษตรกรจังหวัดเพชรบูรณ์ ตามลำดับ ก่อน – หลัง ซึ่งเกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการกับผู้ประกอบการ ดังนี้ หจก.ตรงการเกษตร จำนวน 153 คน ร้านสมพร พืชผล จำนวน 104 คน ร้านสงวนพืชผล จำนวน 65 คน ร้านไพบูลธ์พานิช จำนวน 61 คน

ด้านนายสุชาติ ราษฎร์ดุษดี กล่าวหลังรับเรื่องว่า จะเชิญพาณิชย์จังหวัดเพชรบูรณ์ มาประชุมในวันนี้ เพื่อให้การจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรเป็นไปอย่างเป็นธรรมทั่วถึง ซึ่งไม่น่ามีปัญหาเนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณมาแล้ว และงบประมาณอยู่กับพาณิชย์จังหวัด และจะเร่งเบิกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรทั้งเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย ต่อไป

เหล่ากาชาดจังหวัดพิษณุโลก ประชุมคณะกรรมเหล่ากาชาด ในการเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมเหล่ากาชาดจังหวัด ภาค 9 ประจำปี 2557

บ่ายวันนี้ ( 17 ก.พ.57 ) ที่ห้องประชุมสำนักเหล่ากาชาดจังหวัดพิษณุโลก นางจันทนา ประเสริฐกุล รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการเหล่ากาชาดของจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมเหล่ากาชาดภาค 9 ประจำปี 2557 ในระหว่างวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2557 นี้ที่โรงแรมอัมรินทร์ลากูน ซึ่งปีนี้จังหวัดพิษณุโลกได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม โดยในที่ประชุม ได้มีการปรึกษาหารือถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ในการให้การต้อนรับเหล่ากาชาด ในภาค 9 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสร้างความประทับใจให้กับแขกผู้มาเยือน อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของเหล่ากาชาดจังหวัด ภาค 9 ทั้ง 6 จังหวัด อีกด้วย