วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

จังหวัดอุตรดิตถ์ เตรียมจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลพื้นฐานในเขตเมือง ประจำปี ๒๕๕๗ เพื่อเป็นประโยชน์วางแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง

นายกุศล เกษประสิทธิ์ พัฒนาการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวในการเป็นประธานประชุมคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลพื้นฐานในเขตเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี ๒๕๕๗ เพื่อให้การจัดเจ็บข้อมูลฯเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง มีคุณภาพครบถ้วนทุกครัวเรือนและทุกหมู่บ้าน/ชุมชน และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาในทุกระดับ ได้แก่ แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาคและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกันเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและประโยชน์สูงสุขต่อประชาชนอย่างแท้จริง โดย ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาชุมชน รับผิดชอบจัดเก็บข้อมูล จปฐ.(เขตชนบท)รวมทั้งให้การสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานในเขตเองด้วย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งประสานให้ อปท.ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานในเขตเมืองทั้งหมด มีแนวทางการจัดเก็บ บันทึกและประมวลผลข้อมูล ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม เป้าหมายการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ในปี ๒๕๕๗ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน ๑๒๕,๙๐๕ ครัวเรือน แยกเป็นเขตชนบท ๑๐๐,๒๑๗ ครัวเรือน เขตเมือง จำนวน ๒๕,๖๘๘ ครัวเรือน

สำหรับผลการจัดเก็บข้อมูล บปฐ.ในปี ๒๕๕๖ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ผ่านมา จากการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมด ๙ อำเภอ ๖๔ ตำบล ๕๘๙ หมู่บ้าน จากจำนวนครัวเรือนที่อยู่จริง ๘๐,๓๑๕ ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด ๒๕๐,๕๕๕ คน แยกเป็นชาย ๑๒๒,๒๒๓ คน หญิง ๑๒๘,๓๓๒ คน พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี จำนวน ๖๘,๐๓๓ บาท คิดเป็นร้อยละ ๘.๐๑ เพิ่มจากปี ๕๕ จำนวน ๕,๔๕๑ บาท ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. จำนวน ๔๖๕ ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ ๐.๕๘ ส่วนตัวชี้วัดที่ไม่บรรลุเป้าหมาย ๕ อันดับแรก ได้แก่ เด็กจบการศึกษาบังคับ ๙ ปี ที่ไม่ได้เรียนต่อและยังไม่มีงานทำ ได้รับการฝึกอบรมอาชีพ ตกเกณฑ์จำนวน ๑๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๐.๐๐,คนในครัวเรือนไม่ดื่มสุรา(ยกเว้นการดื่มเป็นครั้งคราว)ตกเกณฑ์จำนวน ๑๘,๖๓๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๗.๔๔, คนในครัวเรือนไม่สูบบุหรี่ ตกเกณฑ์จำนวน ๑๘,๑๗๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๗.๒๕,คนอายุมากกว่า ๖๐ ปีเต็มขึ้นไปมีอาชีพและมีรายได้ ตกเกณฑ์จำนวน ๒,๗๗๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๖.๕ และเด็กแรกเกิดได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย ๖ เดือนแรกติดต่อกัน ตกเกณฑ์จำนวน ๖๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๔.๓ นอกจากนี้ในระดับความสุขเฉลี่ย พบว่าอำเภอที่มีความสุขมากที่สุดจากมากไปหาน้อยตามลำดับ ได้แก่ อำเภอน้ำปาด (๘.๗๑ ) อำเภอท่าปลา (๘.๖) อำเภอฟากท่า (๘.๔๕) อำเภอตรอน (๘.๔๑) อำเภอ ทองแสนขัน (๘.๒๒) อำเภอพิชัย (๘.๐๑) อำเภอเมือง (๗.๗๕) อำเภอลับแล(๗.๓๕) และอำเภอบ้านโคก (๕.๔๗)

ส่วนผลการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.๒ค) ประจำปี ๒๕๕๖ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวนหมู่บ้านที่สำรวจทั้งหมด ๕๙๓ หมู่บ้าน จำนวน ๘๓,๒๑๕ ครัวเรือน จำนวนราษฎร ๒๖๑,๒๘๐ คน มีหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับสอง(ปานกลาง) จำนวน ๗๔ หมู่บ้าน และหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับสาม(ก้าวหนา) จำนวน ๕๑๙ หมู่บ้าน หมู่บ้านที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับการศึกษาของประชาชน จำนวน ๓๒๔ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๕๔.๖๔ คุณภาพน้ำ จำนวน ๒๐๔ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๓๔.๔๐ การได้รับการศึกษา จำนวน ๑๙๑ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๓๒.๒๑ การเรียนรู้โดยชุมชน จำนวน ๑๗๔ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๒๙.๓๔ และการกีฬา จำนวน ๑๒๕ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๒๑.๐๘


ข่าว/สุรีย์ แสงทอง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น