กลุ่ม อปท.ร่วมระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาการเตรียมความพร้อม"การจัดทำระบบขนส่งมวลชนภายในเขตเมืองพิษณุโลก” รองรับการเป็นประชาคมอาเซียน เทศบาลนครพิษณุโลกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือและร่วมระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาความพร้อมในการจัดทำระบบขนส่งมวลชนภายในเขตเมืองพิษณุโลก โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการจำนวน 8 แห่ง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อพิจารณารายละเอียด และความเหมาะสมของการจัดทำระบบขนส่งมวลชนภายในเขตเมืองพิษณุโลกดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินโครงการมีความชัดเจน และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดในอนาคตต่อไป
นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เป็นเมืองบริการสี่แยกอินโดจีน มีแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เป็นถิ่นกำเนิดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นที่ประดิษฐานขององค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย เป็นที่ตั้งของหน่วยงานความมั่นคงของภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 เป็นศูนย์ราชการ เขต 6 เป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคเหนือตอนล่าง โดยมีสถานศึกษามากมายทุกระดับตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง จากความเจริญในทุกๆด้านที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้พิษณุโลกมีปัญหาต่างๆ ตามมามากมายโดยเฉพาะปัญหาการจราจรแออัด เนื่องจากประชาชนใช้รถส่วนตัวในการเดินทางไปทำงาน ไปเรียน ไปทำธุรกิจ ไปงานสังคม ไปสันทนาการ ไปช้อปปิ้ง และเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการวางแผนรองรับการเจริญเติบโตของเมืองพิษณุโลกอย่างยั่งยืนในอนาคตจึงได้จัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบขนส่งมวลชนภายในเขตเมืองพิษณุโลกขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 10 แห่ง คือ เทศบาลนครพิษณุโลก ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกเทศบาลเมืองอรัญญิก เทศบาลตำบลหัวรอ เทศบาลตำบลพลายชุมพล เทศบาลตำบลบ้านคลองเทศบาลตำบลท่าทอง องค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลบึงพระ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ โดยดำเนินการร่วมกับวิทยาลัยโลจิสติกส์ และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อศึกษารายละเอียดและความเหมาะสมในการจัดทำระบบขนส่งมวลชนภายในเขตเมือง เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน และความสำคัญของการเป็นเมืองสี่แยกอินโดจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเขตภูมิภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกในอนาคต
ในการประชุมครั้งนี้ทางคณะผู้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวได้นำเสนอเส้นทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 14 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็ก สายวัดจุฬามณี-สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ถนนบรมไตรโลกนารถ) 2.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็กสายพลายชุมพล-สถานีขนส่งแห่งที่ 2 (ถนนสิงหวัฒน์-ถนนมิตรภาพ) 3.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็กสายหัวรอ-สถานีรถไฟความเร็วสูง (ถนนธรรมบูชา) 4.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็กสายสถานีรถไฟความเร็วสูง-สนามบินนานาชาติ 5.โครงการจัดตั้งรถบัสขนส่งมวลชน สายมหาวิทยาลัยนเรศวร –แยกบ้านคลอง (ถนนสีหราชเดโชชัย-ทางหลวง 117) 6.โครงการจัดตั้งรถบัสขนส่งมวลชน สายสวนเฉลิมพระเกียรติ –สถานีรถไฟความเร็วสูง (ถนนพิชัยสงคราม) 7.โครงการจัดตั้งรถบัสขนส่งมวลชน แยกต้นหว้า-แยกแมคโคร (ทางหลวง 1058) 8.โครงการจัดตั้งรถบัสขนส่งมวลชนเพื่อการท่องเที่ยว สายริมแม่น้ำน่าน (ถนนพุทธบูชา-ถนนวังจันทน์) 9.โครงการก่อสร้างสถานีขนส่ง จุดจอดรถไฟฟ้า อู่ซ่อมบำรุง 10.โครงการก่อสร้างปรับปรุงจุดจอดรถสาธารณะ 11.โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพรถขนส่งสาธารณะเดิม 12.โครงการจัดระเบียบรถรับจ้างและรถเช่า 13.โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ เป็นสถานีเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว 14.โครงการยกระดับมาตรฐานเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ในการพิจารณารายละเอียด และความเหมาะสมของการจัดทำระบบขนส่งมวลชนภายในเขตเมืองพิษณุโลกดังกล่าวและจะนำมาปรับใช้ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น