วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หลัก "การไม่ติดตำรา"และ "ขาดทุนคือกำไร" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

พระราชดำรัส ฯ "การไม่ติดตำรา" และ "ขาดทุนคือกำไร"จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เกี่ยวกับการปกครองประเทศ ซึ่งมีใจความว่า

ให้ปกครองแบบคนจน “แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป” ทำอย่างมีสามัคคีเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอด ไม่เหมือนกับคนที่ทำตามวิชาการที่เวลาปิดตำราแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งพระราชดำรัสเรื่อง “ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา” โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลักนั้น ขอขยายความหลักหลักของ “การไม่ติดตำรา” และ “ขาดทุนคือกำไร” ดังนี้ หลัก “การไม่ติดตำรา” มีความหมายว่า ไม่ควรนำเอาทฤษฎีหรือหลักวิชาการของผู้อื่นมาดำเนินการโดยปราศจากการพิจารณาให้ถ่องแท้ด้วยสติปัญญาและความรู้ของตนเองว่าเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพของปัญหาผู้คนและสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมากน้อยเพียงใด นักวิชาการชั้นสูงที่ได้รับการศึกษามาจากตะวันตก มักจะนำแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ มาใช้กับประเทศไทย โดยไม่รอมชอมและไม่พิจารณาถึงความแตกต่างในด้านต่าง ๆ ให้รอบคอบ ในที่สุดก็มักจะประสบความล้มเหลวหรือไม่บังเกิดผลดีอย่างเต็มที่ และทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลอง หลัก “ขาดทุนคือกำไร” หรือ “Our loss is our gain” มีความหมายว่า การดำเนินโครงการ ใดก็ตาม ให้ยึดผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ความ “คุ้มค่า” มากกว่า “คุ้มทุน” หรืออีกนัยหนึ่งคือ การพิจารณา “Cost–Effectiveness” มากกว่า “Cost–Benefit ratio” โดยให้ความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาที่เป็นผลประโยชน์ของคนส่วนรวมมากกว่าผลสำเร็จที่เป็นตัวเลขอันเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มคนส่วนน้อยนั่นเอง


ข่าวโดย : ทีมข่าว ส.ปชส.แม่ฮ่องสอน
    หน่วยงาน : ส.ปชส.แม่ฮ่องสอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น