จ.ลำพูน ชูโครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาลำไย ปี 2557 เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ MRCF system นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด
นายไพรัช หวังดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดแนวทางการขับเคลื่อนระบบงานส่งเสริมการเกษตรโดยมิติ MRCF มี นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการประชุม และ ว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ เกษตรจังหวัดลำพูน นำหัวหน้ากลุ่มทุกกลุ่ม เกษตรอำเภอทุกอำเภอและนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรเข้าร่วมประชุม พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรตามระบบ MRCF ของจังหวัดลำพูนที่นำโครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาลำไย ปี 2557 เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน โดย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า นโยบายกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2557 มุ่งเน้นการทำงานโดยใช้หลักวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลในการกำหนดรูปแบบและทิศทางการทำงานให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจน มุ่งเน้นการใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เข้ามามีบทบาทการอ้างอิงเชิงวิทยาศาสตร์ในการประกอบการตัดสินใจ เพื่อสร้างความชัดเจน สามารถตอบสนองปัญหาและแก้ไขได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
โดยยึดหลักการระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ MRCF system (Mapping Remote Sensing Community Participation Specific Field Service) ประกอบด้วย M (Mapping) หมายถึง การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเตรียมเข้าทำงานในพื้นที่ โดยเน้นการใช้ข้อมูลแผนที่ R (Remote Sensing) หมายถึง การประสานงานและให้บริการเกษตรกรด้วยวิธีการติดต่อสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลระยะไกล C (Community Participation) หมายถึง ใช้วิธีการจัดเวทีชุมชนในการทำงานและร่วมดำเนินการกับเกษตรกร ชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแบบมีส่วนร่วม F (Specific Field Service) หมายถึง การเข้าทำงานในพื้นที่แบบเฉพาะเจาะจง โดยมีเป้าหมายและจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ตรงจุดและยั่งยืน
ทั้งนี้ คาดว่า การนำนโยบายการดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เห็นบทบาท ตัวตนและอัตลักษณ์ของนักส่งเสริมการเกษตรอย่างชัดเจนในฐานะของผู้จัดการการเกษตรในพื้นที่ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง “การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีที่สุด หรือ Change to the Best” บนพื้นฐานข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และระบบการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว เกิดประโยชน์สูงสุด มาปรับใช้ในระดับพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิประเทศ สังคม วัฒนธรรมประเพณีของพื้นที่ จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด
ข่าวโดย : ชาลิสา วัฒนะโชติ 053525565
หน่วยงาน : สวท.ลำพูน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น