วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กำแพงเพชรจัดประชุมคณะทำงานการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) รายสาขา

 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมทุ่งเศรษฐี ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร นายสุรพล วาณิชเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) รายสาขา จำนวน 16 สาขา ซึ่งสำนักงานคลังจังหวัดกำแพงเพชรจัดขึ้น เพื่อทบทวนผลการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ปี 2555 และแนวทางในการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ปีงบประมาณ 2557 ให้มีคุณภาพสอดคล้องความเป็นจริงในพื้นที่ ซึ่งเป็นการทบทวนผลการจัดทำ GPP ในปีที่ผ่านมา และวางแผนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามระดับขั้นความสำเร็จ (Milestone) ของการจัดทำสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ในขั้นตอนที่ 1 จากทั้งหมด 5 ขั้นตอน ซึ่งในปีงบประมาณ 2556 จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการประเมินระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ที่ระดับ 4.9999 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 0.003 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 99.998 เป็นลำดับที่ 29 ของประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4 อันดับ และเป็นลำดับที่ 2 ของเขต สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1 อันดับ ในโอกาสนี้ นายเจษฎา โพธิจินดา คลังจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า จังหวัดกำแพงเพชรได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชรและคณะทำงานจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดรายสาขา เพื่อสนับสนุนและดำเนินการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และเชื่อถือได้ ใน 16 รายสาขา และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนผลการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ที่ผ่านมา และแนวทางการนำข้อมูล GPP ไปใช้ประโยชน์ โดยในปีงบประมาณ 2556 คณะทำงานจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดรายสาขาได้ร่วมกันดำเนินงานจัดเก็บข้อมูล บันทึก และประมวลผลกิจกรรมการผลิตทั้งหมดของจังหวัด ปี 2554 และ 2555 ซึ่งข้อมูลปี 2554 ได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว สำหรับข้อมูลปี 2555 คณะทำงานฯ รายสาขาได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลส่งให้สำนักงานคลังหวัดแล้ว และในปีงบประมาณ 2557 จะต้องดำเนินการจัดเก็บข้อมูล GPP ปี พ.ศ. 2556 และร่วมกันตรวจสอบ วิเคราะห์ผลข้อมูล GPP ปี พ.ศ. 2555 ต่อไป ซึ่งผลการวิเคราะห์ภาพรวม (เบื้องต้น) ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชรปี 2555 ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ณ ราคาประจำปี มีค่าเท่ากับ 79,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 เท่ากับ 8,603 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว ในปี 2555 เท่ากับ 109,398 บาท เพิ่มขึ้นจาก 97,953 บาท ในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 โดยโครงสร้างการผลิตที่สำคัญ พิจารณาจากมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาประจำปี 2555 จังหวัดกำแพงเพชรมีโครงสร้างการผลิตที่สำคัญรายสาขา ได้แก่ สาขาเหมืองแร่และเหมืองหิน สัดส่วนร้อยละ 31.0 สาขาเกษตรกรรม การล่าสัตว์และการป่าไม้ สัดส่วนร้อยละ 22.8 สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 16.3 สาขาขายส่ง ขายปลีกฯ สัดส่วนร้อยละ 5.0 และสาขาอื่น ๆ สัดส่วนร้อยละ 17.0 ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชรในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 8.6 ขยายตัวในอัตราคงที่จากปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการขยายตัวภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 15.1 จากการขยายตัวร้อยละ 9.5 ในปี ผ่านมา ส่วนภาคนอกเกษตรชะลอตัวเล็กน้อย จากสาขาการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ การขายส่งขายปลีกฯ และสาขาตัวกลางทางการเงิน โดยสาขาการขายปลีก ขายส่งฯ อยู่ในภาวะชะลอตัวร้อยละ 6.6 จากที่ขยายตัว ร้อยละ 25.7 ในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดกิจการในปี 2554 ทำให้สาขาขายส่ง ขายปลีกฯ ขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนปี 2555 ผู้ประกอบการขายส่ง ขายปลีกฯ เริ่มมีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ /สาขาขายส่ง… - 2 - สาขาขายส่ง ขายปลีกชะลอตัว ในปี 2555 ส่วนสาขาตัวกลางทางการเงิน ชะลอตัวร้อยละ 8.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ประกอบกับมีมาตรการพักชำระหนี้และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการและประชาชนที่ประสบอุทกภัย ส่วนแนวทางการนำข้อมูล GPP ไปใช้ประโยชน์นั้น ข้อมูล GPP เป็นข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ในการ ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจรายพื้นที่ (ภาค/จังหวัด) และในการจัดทำยุทธศาสตร์ระดับภาค/จังหวัดเพื่อพัฒนาจังหวัดและภาคเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ใช้ในการจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดเพื่อการจัดสรรงบประมาณลงสู่ภูมิภาคและมีความโปร่งใส และยุติธรรมมากขึ้น สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง ใช้ในการวิเคราะห์โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา logistic และอื่น ๆ จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นข้อมูลที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความแตกต่างด้านรายได้ของประชาชนระหว่างพื้นที่ จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ในการวางแผนการผลิตและการลงทุนของเอกชน ใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดทำแบบจำลองทางเศรษฐกิจ (Model) ของจังหวัดต่อไป และใช้สำหรับงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการและนักศึกษาทุกระดับ


                                                                           

ชานิกา กันภัย / ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น