วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบกับประเทศไทย" ในภาคเหนือ

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบกับประเทศไทย" ในภาคเหนือ เพื่อเผยแพร่รายงานผลการดำเนินงาน ฯ ตามอนุสัญญาฯ และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ให้ทุกภาคส่วนมีความตระหนักในการปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญาฯ

วันนี้ (15 ก.ย.57) เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบกับประเทศไทย” ในภาคเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่รายงานผลการดำเนินงาน ฯ ตามอนุสัญญาฯ และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ให้ทุกภาคส่วนมีความตระหนักในการปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญาฯ

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และอนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งประเทศไทยมีพันธะผูกพันที่จะต้องดำเนินการ 4 ประการ ดังนี้
    1. การประกันให้เกิดสิทธิต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ
    2. การปฏิบัติให้เกิดสิทธิตามที่รับรองไว้ในอนุสัญญาฯ ด้วยความก้าวหน้า
    3. การเผยแพร่หลักการของสิทธิที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ อย่างกว้างขวาง
    4. การจัดทำรายงานสถานการณ์และปัญหาอุปสรรคภายในประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งองค์การสหประชาชาติ และประเทศไทยได้ส่งรายงานผลการดำเนินงานตามอนุสัญญาต่อคณะกรรมการฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะให้มีการเผยแพร่รายงานผลการดำเนินการฯ และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ต่อภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง

สำหรับสาระสำคัญของรายงานประเทศจะครอบคลุม 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย ประเด็นตามกฎหมาย ประเด็นทางตุลาการ กระบวนการยุติธรรม ประเด็นทางการบริหารประเทศของรัฐบาล และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อไทย จากรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาฯ ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ที่กรุงเจนีวา พ.ศ.2555 (ฉบับที่ 1-3) จำนวน 34 ข้อ ซึ่งส่งให้ประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ที่เกี่ยวข้องกับภาคเหนือ มีดังนี้

ข้อเสนอแนะข้อที่ 25 ผู้หนีภัยการสู้รบและผู้แสวงหาที่พักพิง เนื่องจากมีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมาร์ ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านอพยพหนีภัยเข้ามาตลอดปี มีสถานที่พักพิงชั่วคราวในจังหวัดตาก ประชาชนประเทศเมียนมาร์มาใช้บริการโรงพยาบาล ฯลฯ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการที่เหมาะสมในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงให้สอดคล้องหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน และให้ลงทะเบียนกับกลไกคณะกรรมการประจำจังหวัด ส่วนข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเหนือ ได้แก่ ข้อห่วงใยต่อกลุ่มชนเผ่า ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาจมีปัญหา ความแตกต่างทางภาษา ปัญหาการเงิน ปัญหาสภาพภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ การไม่จดทะเบียนการเกิด และเป็นบุคคลไร้รัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ สิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง

สำหรับการขับเคลื่อนต่อไป – อนาคต ได้แก่ การประกันให้เกิดสิทธิตามอนุสัญญา การปฏิบัติให้เกิดสิทธิตามอนุสัญญา การเผยแพร่หลักการของอนุสัญญาฯ อย่างกว้างขวาง การจัดทำรายงานประเทศ เสนอต่อองค์การสหประชาชาติตามวาระที่กำหนดในอนุสัญญา โดยมีเป้าหมายผลผลิตในปีงบประมาณ 2558 ประกอบด้วย ได้ข้อมูลจากการลงพื้นที่ทั่วประเทศ ได้ร่างรายงานประเทศฉบับต่อไป (ฉบับรวมที่ 4 – 7 โดยเป็นข้อมูล พ.ศ.2552 – 2558) กำหนดส่งรายงานประเทศภายในวันที่ 28 มกราคม 2559


ข่าวโดย : ราตรี จักร์แก้ว
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น