นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน แจ้งต่อว่า ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนหรือภัยแล้งของประเทศไทยนั้น โรคที่มากับภัยแล้งที่น่าจับตามอง ส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ เนื่องจากเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่มักจะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีในช่วงฤดูร้อน เพราะมีสภาพอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ดังนั้น โรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ โรคอหิวาตกโรค โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง โรคไทฟอยด์ และโรคบิด นอกจากนั้นแล้ว ในช่วงฤดูร้อนมักมีการจัดกิจกรรมเข้าค่ายพักแรม การทำครัวหรือการปรุงอาหารอาจทำได้ไม่ถูกสุขลักษณะ โรคไวรัสตับอักเสบชนิด A เป็นอีกหนึ่งโรคที่มักพบรายงานการป่วยเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน แจ้งต่อท้ายว่า ในช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่ประชาชนยังคงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ เพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคที่ระบาดในฤดูร้อนนั้น ควรปรุงอาหารให้สุกก่อน ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนปรุง หรือรับประทานอาหารและภายหลังถ่ายอุจจาระ ดื่มน้ำสะอาด ถ้าเป็นน้ำต้มสุกจะดีที่สุดและเลือกซื้อน้ำแข็งที่ถูกหลักอนามัย เลือกรับประทานอาหารที่สะอาดสุกใหม่ ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากจะเก็บอาหารที่เหลือจากการรับประทานหรืออาหารสำเร็จรูปที่ชื้อไว้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นและอุ่นให้เดือดทั่วถึงทุกครั้งก่อนรับประทาน ผักหรือผลไม้ ก่อนรับประทานให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้เด็กมีภูมิต้านทานโรค ขวดนมล้างให้สะอาด และต้มในน้ำเดือด 10-15 นาที กำจัดขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน เช่น อุจจาระเด็กกำจัดหรือทิ้งในโถส้วมหรือกลบให้มิดชิด ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422.
"กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ”
พวงพยอม คำมุง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น