วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด อ.ปง จ.พะเยา เดินทางมายังศาลากลางจังหวัด เพื่อทวงถามเงินชดเชยค่าข้าวโพด ตามมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาล

วันนี้ (21 ก.พ.57) เวลา 09.30 น. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด อ.ปง จ.พะเยา และผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพด กว่า 200 คน นำโดยนายจิรภาส เลิศฤทธิ์ปัญญากุล แกนนำ และเจ้าของไซโลจิรภาส ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ปง ได้พากันเดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดพะเยา เพื่อทวงถามเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพ และบริหารจัดการกิโลกรัมละ 1.5 บาท ตามมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาล หลังพบว่าเกษตรกรที่นำข้าวโพดไปเข้าร่วมโครงการกับไซโลอื่นได้รับเงินแล้วแต่ไซโลจิรภาสยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือนร้อน จึงพากันเดินทางมาสอบถามความคืบหน้าและปัญหาที่เกิดขึ้นกับทางจังหวัด

นายจิรภาส เลิศฤทธิ์ปัญญากุล แกนนำ กล่าวว่า เพราะเหตุใดทำไมเงินยังไม่มีการเบิกจ่าย และถึงมือเกษตรกรจำนวน กว่า 500 ราย รวมผลผลิตกว่า 8,901ตัน ที่เข้าร่วมโครงการกับทางไซโลจิรภาส แต่ทั้งนี้ทำไมไซโลอื่นกลับได้เงินแล้ว ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับทางเกษตรกรรวมถึงไซโลเองด้วย ซึ่งเกษตรกรเกิดความไม่เชื่อมั่นกับไซโลว่าเข้าร่วมกับไซโลแล้วเจ้าของไม่ติดตามการเบิกจ่ายเงิน โดยทางไซโลก็ไม่ทราบเหตุผลเช่นกัน จึงพากันเดินทางมาขอรับทราบปัญหาและความคืบหน้าในวันนี้ เพราะเกษตรกรเกรงว่ากลัวเงินจะไม่มีจ่ายเหมือนโครงการรับจำนำข้าวที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้        
ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น.นางเฟื่องฟ้า ตุลาธรรมกุล พาณิชย์จังหวัดพะเยา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เชิญตัวแทนจำนวน 30 คน เข้าชี้แจงข้อเรียกร้องพร้อมแจ้งความคืบหน้าการเบิกจ่ายเงิน ที่ห้องศูนย์บัญชาการศาลากลางจังหวัดพะเยา

โดยระบุว่า จังหวัดพะเยาได้รับโควตาผลผลิตจากรัฐบาลตามมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 95,000 ตัน เป็นเงิน 142 ล้านบาท ในส่วนของ อ.ปง นั้น ได้โควตา 39,000 ตัน หรือเท่ากับร้อยละ 40 ของโควตาจังหวัด ซึ่งเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพ และบริหารจัดการกิโลกรัมละ 1.5 บาท ที่รัฐบาลจ่ายให้กับทางจังหวัดนั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลจ่ายเงินมาครบ และมีเงินอยู่แน่นอน และการที่เบิกจ่ายเงินล่าช้าไปบ้างนั้น เนื่องจากว่าขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบเอกสารเกษตรกร คือ สำนักงานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ ซึ่งจะต้องตรวจอย่างรอบครอบและต้องใช้เวลา ก่อนส่งมาให้พาณิชย์จังหวัดเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด หรือ คพจ. ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติ จึงจะสามารถเบิกจ่ายเงินให้เกษตรกรได้ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าเงินดังกล่าวจะสามารถจ่ายให้กับเกษตรกรได้ภายในวันศุกร์ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน และทั้งจังหวัดก็จะเสร็จสิ้นภายในไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้เช่นกัน ก่อนเกษตรกรจะแยกย้ายกันเดินทางกลับในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ มาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาล ซึ่งจะมีการรับซื้อผลผลิตที่ความชื้น 30% กิโลกรัมละ 7 บาท และความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 9 บาท และรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้กิโลกรัมละ 1.50 บาท


ข่าวโดย : ประมวล อุปกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น