วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ผศ.ดร. ศุทธินี ดนตรี ชี้การชิงเผา เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าได้อย่างยั่งยืน

ในการสัมมนาเสริมสร้างความรู้ ด้านการป้องกันแก้ไขปัญหา หมอกควันและไฟป่า ซึ่งสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ผศ.ดร. ศุทธินี ดนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความรู้ในเรื่องของการชิงเผา ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าได้อย่างยั่งยืน

นางอุบลรัตน์ คงกระพันธ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการสัมมนาเสริมสร้างความรู้ ด้านการป้องกันแก้ไขปัญหา หมอกควันและไฟป่า ซึ่งสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 ณ โรงแรมราชพฤกษ์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เชิญ ผศ.ดร. ศุทธินี ดนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน แก่ผู้เข้ารับการสัมมนาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน และ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อป.พร.) จากอำเภอจอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย ฮอด และ ดอยหล่อ จำนวน 61 คน โดยได้นำผลการวิจัยถึงวิธีการจัดการไฟปาที่ชุมชนในพื้นที่ดำเนินโครงการวิจัยเลือกใช้ มาชี้แนะเป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งการชิงเผาก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าได้อย่างยั่งยืน โดยให้ข้อมูลว่า จากประสบการณ์จริงที่เข้าดำเนินการวิจัย ตั้งแต่ปี 2553 ในพื้นที่อำเภอจอมทองซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงปี 2559 นั้น พบว่าปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีมีความรุนแรงมากที่สุด โดยการจัดเก็บข้อมูลปัญหาหมอกควันไฟป่าในปีนี้ ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2556 จนถึงวันที่ 29 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา พบการเกิดจุดความร้อนทั้งหมด 3,865 จุด โดยพบการเกิดมากที่สุดในพื้นที่อำเภออมก๋อย ซึ่งก็หมายความว่ามีพื้นที่การเผาไหม้เกิดค่อนข้างเยอะตามไปด้วย ในส่วนของการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันพบปัญหาอุปสรรคหลายประการ ได้แก่ งบประมาณในการดำเนินงานน้อย การกระจายงบประมาณไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องดำเนินการในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า

ผศ.ดร. ศุทธินี ฯ กล่าวถึงวิธีการจัดการไฟป่าด้วยการชิงเผา ว่า การใช้ไฟลดจำนวนเชื้อเพลิงในป่าผลัดใบ โดยเฉพาะป่าเต็งรังให้มีปริมาณลดลงบางส่วนเป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะมีปริมาณเชื้อเพลิงสะสมมากจนเกินไป เพื่อลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่าในภายหลัง โดยมีการกำหนดพื้นที่ที่ต้องการชิงเผาที่เห็นว่ามีความจำเป็นและเลือกช่วงเวลาในการชิงเผาที่เหมาะสมตามการเพิ่มปริมาณของเชื้อเพลิงตามธรรมชาติ หรือช่วงที่ใบไม้ร่วงหล่นลงมาร้อยละ 60-70 และไม่สร้างผลกระทบด้านหมอกควันมากแก่ชุมชนใกล้เคียง การทำการชิงเผาหากอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์หรือป่าสงวนแห่งชาติจำเป็นต้องแจ้งขออนุญาต หรือทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง นอกจากนั้นก่อนการชิงเผาต้องมีการทำแนวกันไฟโดยรอบพื้นที่ชิงเผาก่อน เพื่อควบคุมให้ไฟลุกไหม้อยู่ในขอบเขตที่กำหนดเอาไว้เท่านั้น และอยู่รอจนกระทั่งไฟในพื้นที่ชิงเผานั้นดับหมดแล้ว สำหรับการทำแนวกันไฟ การลาดตระเวนและดับไฟ การทำฝายชะลอน้ำ ก็เป็นวิธีการจัดการไฟป่าในพื้นที่ชุมชนที่มีประสิทธิภาพซึ่งต้องดำเนินการควบขนานกับการประชาสัมพันธ์ สื่อสารและการประสานงาน ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารและกิจกรรมที่กำลังจัดทำในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างความร่วมมือ ความเข้าใจ และลดความขัดแย้ง โดยผ่านการกระจายเสียงในหมู่บ้าน วิทยุชุมชน สถานีวิทยุในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ สื่อโทรทัศน์ เครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่าวลุ่มน้ำ และโรงเรียน



ข่าวโดย : ราตรี จักร์แก้ว/พรไพลิน นุชเครือ
หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น