วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการศึกษาการลดใช้สารเคมี ในการเกษตรแบบมีส่วนร่วมที่อำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการศึกษาพัฒนาแนวทางการลดใช้สารเคมีในการเกษตรด้วยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 102 คน เข้ารับรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อผลการศึกษา

วันนี้ (4 ก.ค.57) เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมเทศบาลตำบลสันมหาพน ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการศึกษาพัฒนาแนวทางการลดใช้สารเคมีด้วยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 102 คน เข้ารับรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อผลการศึกษา

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากสถิติการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยในทศวรรษที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2554 มีการนำเข้าสารออกฤทธิ์ จำนวน 68,964 ตัน คิดเป็นมูลค่า 17,732 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของข้อมูลในปี 2544 ที่มีการนำเข้าสารออกฤทธิ์ จำนวน 37,039 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8,761 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่านโยบายการจัดการของภาครัฐในด้านการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตร ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดให้การลดสารเคมีในการเกษตรเป็นกลยุทธสำคัญในแผนพัฒนาและแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่าง ๆ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจกละสังคมแห่งชาติ แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ และแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงได้ดำเนินโครงการวิจัยการศึกษาพัฒนาแนวทางการลดใช้สารเคมีในการเกษตรด้วยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขทั้งระบบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกร หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และอื่น ๆ รวมทั้งการตรวจติดตามการปนเปื้อนของสารเคมีอย่างต่อเนื่องทั้งในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เพื่อให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสร้างความตระหนักในการลดใช้สารเคมี หรือ หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้ปลอดภัยต่อไป การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการศึกษาครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษา และข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องแก่เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์และถ่ายทอดแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยคาดหวังจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารปลอดภัยจากสารเคมีกลุ่มต่าง ๆ ภายในอำเภอแม่แตง อันจะส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพด้านการผลิตพืชอาหารปลอดภัยสูงขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดต่อไป โดยการศึกษาวิจัยสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ ในการลดใช้สารเคมีในการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหามลพษในสิ่งแวดล้อมจากการเกษตร เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น รวมทั้งผลการศึกษาวิจัยจะส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารแบบปลอดภัยจากสารเคมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ในปัจจุบันกระแสความนิยมในการผลิตและบริโภคสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมีของไทย ได้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร สร้างความตื่นตัว และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร จะมีส่วนช่วยในการขยายช่องทางการตลาด หรือการสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าเกษตรในชุมชน อีกทั้งประเทศไทยมีนโยบายที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน การบริการ การคมนาคม และการท่องเที่ยว ทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการผลิตพืชผักให้มีความปลอดภัย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด



ข่าวโดย : ราตรี จักร์แก้ว/ อนันต์ ชุ่มใจ
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น