วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บทความพิเศษ : ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในอาเซียนด้านการเมืองความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมเเละวัฒนธรรม อย่างไร

ด้านการเมืองความมั่นคง ประเทศไทยพยายามผลักดันให้อาเซียนดำเนินการด้านการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกัน โดยใช้กลไกต่าง ๆ ในกรอบอาเซียน เช่น การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับคู่เจรจา (ADMM Plus) และการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองเเละความมั่นคงในเอเชีย – แปซิฟิก (ARF) รวมทั้งได้ผลักดันการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) เเละส่งเสริมให้อาเซียนร่วมมือกันมากขึ้นในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในอาเซียน โดยผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและให้การสนับสนุนการทำงานของ (AICHR) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภูมิภาคต่าง ๆ ในการจัดทำปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้นำอาเซียนได้รับรองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการเเข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้เสนอเเละริเริ่มให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอีก 6 ประเทศได้เเก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย เเละนิวซีเเลนด์ นอกจากนี้ อาเซียนยังอยู่ระหว่างเจรจาทำข้อตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ (RCEP) ซึ่งจะนำไปสู่การค้าเสรีระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ ครอบคลุมประชากรเกินครึ่งของโลก โดยประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันเเนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อมโยงในอาเซียน โดยครอบคลุมทุกมิติ ได้เเก่ ความเชื่อมโยงด้านกายภาพ ด้านกฎระเบียบระหว่างประชาชน นำไปสู่การจัดทำแผนเเม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน อันเป็นกรอบยุทธศาสตร์หลักที่จะช่วยสนับสนุนเกื้อกูลการดำเนินการด้านความเชื่อมโยงในกรอบอื่น ๆ ทั้งในระดับอนุภูมิภาคเเละทวิภาคี และต่อมาประเทศไทยยังได้ผลักดันเเนวคิดความเชื่อมโยงกับนอกภูมิภาค เพื่อขยายเครือข่ายการคมนาคมขนส่งไปสู่ประเทศนอกภูมิภาค

ด้านสังคมเเละวัฒนธรรม ประเทศไทยได้ผลักดันการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยประเทศไทยได้ริเริ่มการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้เเทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้เเทน ภาคประชาสังคม และผู้เเทนเยาวชน เพื่อส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ อย่างเเข็งขันเพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม อาทิ การบริหารจัดการภัยพิบัติ การศึกษา สิ่งเเวดล้อม สาธารณสุข การลดช่องว่าง ด้านการพัฒนาและการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน เพื่อให้บรรลุการสร้างสังคมที่เอื้ออาทร และเเบ่งปันในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยยังพยายามขับเคลื่อนประชาชนให้เตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเรื่อยมา ซึ่งเป็นเส้นทางในอนาคตที่มีทั้งโอกาสเเละความท้าทายรออยู่



บุษรินทร์ บุญมี / เรียบเรียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น