วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

จ.ลำปาง จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ แก่ผู้นำท้องถิ่น ซักซ้อมแนวทางการจัดสร้างฝายชะลอน้ำ แบบผสมผสานในพื้นที่ ตั้งเป้าสร้างฝายให้ได้ 1,040 แห่ง

ที่ทำการปกครองจังหวัดลำปาง จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การจัดทำฝายให้แก่ผู้นำท้องถิ่น ตามโครงการ "ประชาอาสาจัดทำฝาย ต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน(Check Dam) ตามแนวพระราชดำริ" ที่ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีนายฤทธิพงศ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนา โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ตำบลต่างๆ จาก 9 อำเภอ ของจังหวัดลำปาง ประกอบด้วย อำเภอเมืองลำปาง, เกาะคา, สบปราบ, เสริมงาม, ห้างฉัตร, แม่ทะ, เถิน และอำเภอแม่พริก รวมจำนวน 717 คน เข้าประชุมสัมมนาร่วมกัน

การประชุมสัมมนาดังกล่าว เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในโครงการ “ประชาอาสาจัดทำฝาย ต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริ” ซึ่งที่ทำการปกครองจังหวัดลำปาง ได้จัดทำขึ้น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิบัติในการจัดทำฝายให้แก่ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับการให้ความรู้ถึงวิธีการสร้างฝาย Check Dam ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้นำชุมชนที่ผ่านการสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีความรู้ และร่วมเป็นแกนนำ ในการที่จะขยายผลองค์ความรู้นั้น ไปสู่ราษฎรในพื้นที่ชุมชนต่างๆ เพื่อให้แต่ละชุมชนช่วยกันดำเนินการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จัดสร้างฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตามสภาพความเหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดลำปาง มีเป้าหมายที่จะดำเนินการจัดสร้างฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน Check Dam ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ๆ ละ 80 ฝาย รวมจำนวนฝายทั้งสิ้น 1,040 ฝาย
โดยการสัมมนาฯ ครั้งนี้ ได้มีทีมวิทยากรผู้มีความชำนาญ ในการจัดสร้างฝายชะลอน้ำแบบต่างๆ จาก บ.ปูนซีเมนต์ไทย(ลำปาง) จำกัด มาบรรยายให้ความรู้ ในการสร้างฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน Check Dam ด้วยวัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น การสร้างฝายด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยหิน, การสร้างฝายด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยถุงบรรจุดินหรือทราย, การสร้างฝายแบบคอกหมูแกนดินอัด ขนาบด้วยหิน, การสร้างฝายแบบเรียงด้วยหิน, การสร้างฝายแบบคอกหมูหินทิ้ง, การสร้างฝายแบบหลักคอนกรีตหินทิ้ง, การสร้างฝายแบบถุงทรายซีเมนต์, การสร้างฝายแบบคันดิน, การสร้างฝายแบบคอกหมูถุงทรายซีเมนต์ และการสร้างฝายแบบหลักไม้ไผ่สานขัดกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ การสร้างฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน Check Dam มีประโยชน์ด้วยกันหลายประการ ทั้งการช่วยลดการพังทลายของดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย เพิ่มระยะเวลาการไหลของน้ำ ทำให้พื้นดินมีความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น และสามารถแผ่ขยายกระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของลำห้วย รวมทั้งช่วยกักเก็บตะกอน ที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วย ช่วยยืดอายุของแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง ทำให้คุณภาพของน้ำดีขึ้น มีตะกอนปะปนน้อยลง และยังเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ เกิดความหนาแน่นของพันธุ์พืช ตลอดจนได้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภค อุปโภคอีกด้วย
ดูคลิป http://youtu.be/D-VEpEGScyo



ข่าวโดย : นายชาญณรงค์ ปันเต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น