วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

น่าน หลายพื้นที่เตรียมความพร้อมหลังพบแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งเริ่มแห้งขอด โดยจังหวัดได้ประกาศภัยแล้งแล้ว 2 อำเภอ

วันนี้ 27 ก.พ. 57 จากการที่จังหวัดน่าน ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง)ในพื้นที่ 2 อำเภอของจังหวัดน่าน คืออำเภอเฉลิมพระเกียรติ ในพื้นที่หมู่ที่ 1 – 7 ตำบลห้วยโก๋น หมู่ที่ 1 – 15 ตำบลขุนน่าน รวม 2 ตำบล 22 หมู้บ้าน และที่อำเภอปัวในพื้นที่ หมู่ 4,6,7,10 ตำบลศิลาเพชร หมู่ที่ 1,3,4,5,7,8 ตำบลไชยวัฒนา หมู่ที่ 2,3 ตำบลวรนคร หมู่ที่ 2,3,6 ตำบลศิลาแลง หมู่ที่ 1-11 ตำบลอวน หมู่ที่ 1,3,5,6 ตำบลแงง หมู่ที่ 1,5 ตำบลปัว หมู่ที่ 1-13 ตำบลสภาน หมู่ที่ 1,8 ตำบลเจดีย์ชัย รวมทั้งสิ้น 9 ตำบล 47 หมู่บ้าน ซึ่งส่งผลให้พื้นที่และทรัพย์สินทางการเกษตร(พืชไร่/พืชสวน/นาข้าว)ได้รับความเสียหาย จังหวัดน่านโดยผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้อาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ.2556 ข้อ 20(2)วรรคท้าย ได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วนแล้ว

ส่วนในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา นายสุพจน์ มูลฐี นายกอบต.นาเหลือง นำเจ้าหน้าที่เร่งออกสำรวจแหล่งน้ำธรรมชาติภาย หลังจากชาวบ้านใน 7 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 1 พันครัวเรือน เริ่มได้รับความเดือดร้อนจากภาวะภัยแล้ง โดยพบว่าแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งเริ่มแห้งขอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ลำห้วยนาเหลือง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญของตำบลนาเหลือง ระดับน้ำลดลงต่ำมากจนถึงพื้นดิน ส่งผลเครื่องสูบน้ำประปาของหมู่บ้านไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาแจกจ่ายไปตามบ้านเรือนต่างๆได้ ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ ต้องเร่งนำกระสอบทรายกั้นในลำห้วยเป็นระยะๆ เพื่อกักน้ำไว้ให้ชาวบ้านได้ตักมาใช้ ขณะที่พื้นที่การเกษตร 3 พันกว่าไร่ ที่ชาวบ้านหันมาปลูกถั่วเหลือง และข้าวโพด แทนการทำนาปรังเนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำหล่อเลี้ยงน้อยกว่า ขณะนี้ก็มีสภาพใบเหลือง แห้งเหี่ยว ร่วง และเริ่มยืนต้นตาย เพราะเริ่มขาดน้ำ ด้านนายสมสาย ภูคำอ้ายผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านนาเหลืองใน ต.นาเหลือง อ.เวียงสา จ.น่าน เปิดเผยว่า ปีนี้ภัยแล้งมาเร็ว และแล้งจัดมาก โดยชาวบ้าน หมู่ 1 มีจำนวน 226 หลังคาเรือน กำลังเดือนร้อนขาดน้ำกิน น้ำใช้ อย่างหนัก ต้องอาศัยรถน้ำของ อบต.นาเหลืองขนน้ำ เข้ามาให้เพราะบ่อน้ำบาดาลที่ขุดไว้ตามบ้านแห้งขอด รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆก็ลดลงจนถึงพื้นดินไม่เพียงพอใช้ นอกจากนี้พื้นที่การเกษตรปลูกยางพารา ถั่วเหลือง และข้าวโพด 2 พันกว่าไร่ก็เริ่มใบเหลือง ใบร่วง เพราะขาดน้ำ จนแทบจะไม่สามารถปลูกอะไรได้แล้ว



ศรายุทธ  ประเสริฐนิรมล  ภาพ / ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น