วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทำแนวกันไฟเพื่อกันภัยจากไฟป่าและหมอกควัน

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ไฟป่าเป็นเรื่องสำคัญของคนในชุมชน เนื่องจากชุมชนในจังหวัดน่านยังคงพึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้ในวิถีชีวิตค่อนข้างมากทั้งในด้านของแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย หรือยารักษาโรค หากเกิดไฟป่าขึ้นแล้วลามเข้ามาใกล้หมู่บ้านชาวบ้านต้องรีบช่วยกันออกไปดับไฟ โดยเฉพาะไฟป่าที่เกิดขึ้นตอนกลางวันจะดับยากกว่าตอนกลางคืนเพราะอากาศจะร้อนและแห้งทำให้ไฟลุกลามรวดเร็ว จนไปถึงบริเวณที่เป็นไร่นาและสวน ซึ่งใกล้กับบริเวณชุมชนมาก และถึงแม้ว่าชุมชนไม่อาจยับยั้งไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่ได้ แต่คนในชุมชนได้เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์และหาวิธีการจัดการกับไฟป่าที่เป็นปัญหาสำคัญของชุมชน วิธีการที่ชุมชนได้ใช้ป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลามเข้ามาใกล้ชุมชนมาเป็นเวลานานแล้ว ได้แก่ วิธีการทำแนวกันไฟ

แนวกันไฟ (Firebreaks or Fuelbreaks) เป็นการปรับปรุงพื้นผิวภูมิประเทศให้เกิดเป็นแนวกีดขวางเพื่อหยุดยั้งไฟป่า หรือเป็นแนวตั้งรับในการดับไฟป่า หลักสำคัญของการทำแนวกันไฟคือการกำจัดเชื้อเพลิงที่จะทำให้เกิดไฟป่าออกไป โดยอาจจะกำจัดเชื้อเพลิงออกไปทั้งหมดจนถึงชั้นดินแท้ (Mineral soil) หรืออาจจะกำจัดเฉพาะเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย ได้แก่ เศษใบไม้ ใบหญ้าออกไปเท่านั้นก็ได้ แนวคิดในการทำแนวกันไฟก็เพื่อตัดช่วงความต่อเนื่องของเชื้อเพลิง เป็นการป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามเข้าไปในบริเวณที่ตั้งของชุมชนนั่นเอง

การทำแนวกันไฟแม้จะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหมอกควัน รวมทั้งมลพิษในอากาศที่เกิดจากการเผาหรือไฟป่า สิ่งที่สำคัญของการทำแนวกันไฟคือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนร่วมกันป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟป่าเป็นกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของชุมชน ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน อย่างแท้จริงเมื่อคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
และในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 จังหวัดน่านได้กำหนดให้มีการเริ่มต้นเพื่อรณรงค์ทำแนวกันไฟ พร้อมกัน 15 อำเภอ ทั่วทั้งจังหวัดน่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น