วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สสค. ยก “น่าน-ภูเก็ต” ต้นแบบจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ ดึงพลังความร่วมมือทั้งจังหวัดแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน

นายเกรียงศักดิ์ เจดีย์แปง ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 25 หัวข้อ "ปฏิรูปการเรียนรู้ : กลไกระดับจังหวัด” โดยหยิบยกกรณีศึกษาของจังหวัดภูเก็ต ที่มีการจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัดเพื่อเป็นกลไกความร่วมมือของจังหวัด ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั้งจังหวัด และ ของจังหวัดน่าน ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับจังหวัด และท้องถิ่นอีก 6 ตำบล โดยมี นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส , นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการมูลนิธิพัฒนาไทย อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , ดร.ประวิทย์ เอราวรรณ์ หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่วมเวทีปฏิรูปการเรียนสู่การศึกษาในครั้งนี้ด้วย

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า การศึกษาที่อ่อนแอมา 100 ปี ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความจริงของชีวิต จากเดิมเราเอาตำราเป็นฐาน ปัจจุบันก็ยังใช้ตำราอยู่ จึงลอยไปจากความจริงของชีวิต เพราะชีวิตต้องมีศีลธรรม การทำงานร่วมกัน อาชีพและรายได้ การปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญจึงต้องเปลี่ยนฐานการเรียนรู้จากฐานตำรามาสู่ชีวิตจริง โดยนำพื้นที่เป็นตัวตั้ง และหากเกิดเครือข่ายการทำงานและเครือข่ายเด็กและเยาวชนในระดับตำบล ถ้าทำในทุกพื้นที่ทุกตำบลจะทำให้จังหวัดเข้มแข็ง และประเทศเข้มแข็งได้ หากเอาทรัพยากรในพื้นที่มาเชื่อมโยงจะช่วยแก้ปัญหาการรวมศูนย์

นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการมูลนิธิพัฒนาไทย อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ถ้าจังหวัดจัดการตนเอง ชุมชนจัดการตนเอง หรือท้องถิ่นจัดการตนเองจะเป็นคำตอบ และความพยายามของจังหวัดในการทำฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนของจังหวัด ตนอยากให้ข้อสังเกตว่า ในปี 2553 สำนักงานสถิติแห่งชาติ เก็บข้อมูลประชากรและประชากรแฝงในทุกพื้นที่จะช่วยเป็นข้อมูลพื้นฐานได้ เพราะอยากให้เก็บข้อมูลประชากรแต่ละช่วงวัยเป็นฐานข้อมูล ไม่อยากให้เก็บข้อมูลเฉพาะในโรงเรียน เพราะจะไม่ได้ข้อมูลเด็กที่หลุดออกจากระบบโรงเรียนไปแล้ว เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่จะไม่รายงานเนื่องจากอาจตกเกณฑ์ประเมิน ทั้งนี้ทิศทางของการปฏิรูปประเทศไทยคือการกระจายอำนาจและคืนอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้นตามแผนชาติ ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี แต่ท้องถิ่นเองก็ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยต้องเป็นนักพัฒนา

สำหรับปัจจัยความสำเร็จของจังหวัดปฏิรูป ดร.ประวิทย์ เอราวรรณ์ หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การเรียนรู้ของทั้ง 2 จังหวัดที่เห็นชัด คือ 1) การใช้ต้นทุนของชุมชน ทั้งทุนทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ผู้คน เพื่อใช้เป็นกลไกในการเชื่อมต่อกัน 2) การจัดระบบเครือข่ายเข้ามาร่วมทำงาน เช่น อบจ. อบต. วัด เราได้เรียนรู้การบริหารจัดการคนมามาก แต่การบริหารจัดการเครือข่าย เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เราจะต้องถอดรหัสออกมาเป็นองค์ความรู้เพื่อให้เกิดพลวัตรให้มากที่สุด ถ้าเราสามารถรวมคนเหล่านี้เข้ามา จะนำไปสู่การประกันความสำเร็จได้ และ 3) การจัดเวทีกลางที่มีผู้นำที่ดี แต่ประเด็นท้าทายคือการทำอย่างไรที่จะเชื่อมต่อกับบ้านวัดในระดับนโยบายเพื่อให้เกิดการยกระดับขึ้น



พวงพยอม  คำมุง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น