วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

จังหวัดอุตรดิตถ์ เร่งหารือออกแบบบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์พระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสู่ความรุ่งเรืองเมืองอุตรดิตถ์ มีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๕๘

นายชัช กิตตินภดล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยนายวีระชัย ภู่เพียงใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสุชาติ ธีระวงษ์พิทักษ์ ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมประชุมกับคณะกรรมการออกแบบบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์พระบรมธาตุ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อดำเนินการสำรวจ รังวัด และออกแบบ แนวคิดในการบูรณะ หุ้มทองในหลาย ๆ รูปแบบ ตลอดจนการกลั่นกรองรูปแบบของการหุ้มทองเจดีย์ให้เหมาะสมก่อนนำเสนอคณะกรรมการของกรมศิลปากร โดยคำนึงถึงความงามของเจดีย์เป็นสำคัญว่าปิดทองแบบไหนแล้วพระบรมธาตุมีความงาม มีสุนทรียภาพ รวมทั้งหารือในการระดมกองทุนเพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยมอบหมายให้โยธาธิการและผังเมืองดำเนินการสำรวจ รังวัดสภาพพื้นที่ปัจจุบันและการออกแบบในเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ นี้

สำหรับวัดพระบรมธาตุทุ่งยัง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตามตำนานกล่าวว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ผู้ครองเมืองสุโขทัย ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในถ้ำใต้ดินโดยขุดลงไปเป็นถ้ำแล้วก่อพระธาตุไว้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด จากการศึกษารูปแบบศิลปกรรมสันนิษฐานว่า เจดีย์ประธานเดิมคงจะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา เป็นทรงลังกา อีกทั้งหลักฐานทางโบราณคดียังชี้ให้เห็นว่าเมืองทุ่งยั้ง เป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกับสุโขทัยและศรีสัชนาลัย จึงน่าจะสร้างควบคู่กับการสร้างเมือง วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งในปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมบำรุงอยู่เสมอในฐานะวัดสำคัญประจำเมืองทุ่งยั้ง ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์ มีความเห็นว่าควรให้มีการพัฒนาและบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุตำบลทุ่งยั้ง เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ และทำให้เจดีย์พระบรมธาตุมีความงดงามยิ่งขึ้นเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสู่ความรุ่งเรืองเมืองอุตรดิตถ์ มีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น