สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำและยกร่างแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศในห้วงปี พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศในห้วงเวลาดังกล่าวโดยได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชน ยกร่างแผนฉบับนี้ขึ้นมา โดยดำเนินการใน ๒ ระดับ คือ ระดับประเทศ หรือระดับส่วนกลาง และระดับพื้นที่ภาคทั้ง ๑๐ พื้นที่ของสำนักงาน ป.ป.ส. สำหรับในภาคเหนือ ทั้งภาคเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง ได้มีการยกร่างและจัดทำแผนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ จำเป็นต้องอาศัยการพิจารณากลั่นกรองให้ข้อคิดเห็นจากผู้แทนของหน่วยงานระดับกระทรวง หน่วยงานหลัก และผู้ทรงคุณวุฒิในหลาย ๆ ด้าน เพื่อนำมาประกอบการจัดทำและยกร่างแผนให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด รวมทั้งการจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อเป็นการเปิดโอกาสสำหรับบุคคลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผนฯ เช่น กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แสดงความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการ /กิจกรรมที่ได้ถูกกำหนดขึ้น โดยให้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ บรรลุวัตถุประสงค์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของทุกภาคส่วน สำนักงานป้องกันและปรายปรามยาเสพติดภาค ๕ และ ๖ จึงได้จัดทำโครงการประชุมประชาพิจารณ์แผนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ พื้นที่ภาคเหนือ ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กลุ่มบุคคล ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย ผู้แทน ศพส.จ. องค์กรท้องถิ่น ภาคประชาชน ภาคเอกชน กลุ่มเยาวชนและเด็ก นักวิชาการ และสื่อมวลชนฯ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดใน รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ส. / ปปส.ภาค ๕-๖ จำนวนประมาณ ๒๓๐ คน วัตถุประสงค์การประชาพิจารณ์ร่างแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้ทราบถึงปัญหายาเสพติดที่แท้จริงในแต่ละพื้นที่รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมีข้อมูลที่ถูกต้องมีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนรวมทั้งมีคุณภาพทางวิชาการ
สำหรับกระบวนการประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ มีนายชลัยสิน โพธิเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภาค ๖ พร้อมการนำเสนอวีดีทัศน์ สรุปสาระสำคัญแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ การเปิดเวทีอภิปรายและประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ โดยคณะกรรมการพิจารณาและปรับปรุงร่างแผน ได้แก่ ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ /ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย /ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เวทีกลุ่มย่อยอภิปรายเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ แบ่งกลุ่มตามประเด็นยุทธศาสตร์ ๖ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม ๑ : ยุทธศาสตร์การควบคุมตัวยาและผู้ค้ายาเสพติด กลุ่ม ๒ : ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ กลุ่ม ๓ : ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด กลุ่ม ๔ : ยุทธศาสตร์การป้องกันผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กลุ่ม ๕ : ยุทธศาสตร์การควบคุมปัญหายาเสพติดจากสภาพแวดล้อมกลุ่ม ๖ : ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอย่างบูรณาการ และกลุ่ม ๗ : ยุทธศาสตร์ภาคประชาชน โดย สำนักงาน ป.ป.ส. รวบรวมข้อคิดเห็นจากการอภิปรายและประชาพิจารณ์ในการปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ จากนั้นจึงจะเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ ฉบับสมบูรณ์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ โดยจะแจ้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ แปลงไปสู่การปฏิบัติโดยการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดรองรับตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ เป็นต้นไป
ข่าว/สุรีย์ แสงทอง สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์