สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 11 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนาและที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอกัลยาณิวัฒนา และยกช่อฟ้าอุโบสถ วัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา
วันนี้ (24 เม.ย.57) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเพื่อปฏิบัติ พระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
เวลา 10.30 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 11 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและการพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 24-29 เมษายน 2557 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักเรียนผู้เข้าแข่งขันทั่วประเทศ จำนวน 11 ศูนย์
เวลา 12.40 น. ได้เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนาและที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นอำเภอที่ 878 และอำเภอสุดท้ายของการจัดตั้งอำเภอของประเทศไทย โดย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กราบบังคมทูลรายงานว่า อำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นอำเภอที่ก่อสร้างขึ้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงในทุกเรื่อง และทรงเลือกให้อำเภอแม่แจ่มเป็นต้นแบบทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง ให้มีโอกาสทางการศึกษา ประกอบกับ สภาพพื้นที่อำเภอแม่แจ่มอยู่ห่างไกล ทุรกันดาร ราษฎรมีปัญหาในด้านคุณภาพชีวิต การปกครอง และปัญหายาเสพติด จังหวัดเชียงใหม่พิจารณาเห็นว่าหากมีการแบ่งแยกเขตการปกครองของอำเภอแม่แจ่ม โดยเอาพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด และตำบลแจ่มหลวง ไปรวมกันจัดตั้งเป็นอำเภอก็จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรได้อย่างเป็นรูปธรรม จังหวัดเชียงใหม่จึงได้เสนอเรื่องผ่านกระทรวงมหาดไทยเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีซึ่งมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เฉลิม พระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานชื่ออำเภอว่า “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2552 ยังความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวจังหวัดเชียงใหม่เป็นล้นพ้น
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พุทธศักราช 2552 เป็นอำเภอลำดับที่ 25 ของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นอำเภอลำดับที่ 878 ของประเทศ โดยประกอบด้วยพื้นที่ 3 ตำบล 21 หมู่บ้าน ซึ่งภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการทุกภาคส่วน พิจารณาจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร ที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา และอาคารอื่น ๆ รวมถึง โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกแบบและควบคุมดูแลการก่อสร้าง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 45,531,960 บาท ซึ่งการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และปัจจุบันได้เปิดให้บริการประชาชนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จึงได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา และที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสเบิกผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราช-อัธยาศัย และผู้ให้การสนับสนุนเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 120 ราย จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนิน ทรงปลูกต้นไม้ และทอดพระเนตรนิทรรศการความเป็นมาในการก่อตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนาภายในอาคารตามลำดับ
หลังจากทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนาและที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนาแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแล้ว บนเนื้อที่ 88 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา ณ บริเวณบ้านห้วยบง หมู่ 4 ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เป็นแบบกึ่งพักนอนสำหรับเด็ก ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา และเด็กที่พักอาศัยในพื้นที่เขตรอยต่อจังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1–6 ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นมา
ต่อมาได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถวัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นวัดแรกในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ที่มีการก่อสร้างมานานกว่า 300 ปี ที่เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยได้อบรมสั่งสอนชุมชนชาวไทยภูเขาที่นับถือพระพุทธศาสนาให้รูหลักคำสอน เป็นคนดีของสังคม รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเมื่อปีพุทธศักราช 2473 ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้เดินธุดงค์ผ่านมาโดยได้พักค้างคืนที่วัดบ้านจันทร์และได้นำชาวบ้านช่วยกันบูรณะ พระเจดีย์จนแล้วเสร็จจึงได้เดินทางไปจาริกแสวงบุญต่อที่อำเภอสะเมิง และเมื่อปีพุทธศักราช 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม-ราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรชาวเขาในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่วัดจันทร์แห่งนี้ และได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพ เพื่อสร้างรายได้จากการทอผ้าของชาวบ้านในตำบลวัดจันทร์
สำหรับการจัดสร้างอุโบสถวัดจันทร์นั้น พระพลชัย พะละรักโข พระที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่วัดจันทร์ แต่ไปจำพรรษาที่วัดส้มเกลี้ยง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ได้นำพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาจากรุงเทพมหานคร มาร่วมกันก่อสร้างพระอุโบสถหลังแรกในวัดจันทร์ ร่วมกับคณะศรัทธาบ้านวัดจันทร์ โดยอุโบสถหลังนี้มีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 25 เมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 5,900,000 บาท เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา โดยมีเจ้าภาพหลัก คือ พลเอก ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ โดยได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 ถือเป็นพระอุโบสถหลังแรกและวัดแรกในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอพระราชานุญาตเบิกผู้มีจิตศรัทธา จำนวน 100 ราย เข้ารับพระราชทานของที่ระลึกด้วย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังท่าอากาศยานกองบิน 41 จากนั้นจึงเสด็จประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร
วันนี้ (24 เม.ย.57) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเพื่อปฏิบัติ พระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
เวลา 10.30 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 11 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและการพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 24-29 เมษายน 2557 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักเรียนผู้เข้าแข่งขันทั่วประเทศ จำนวน 11 ศูนย์
เวลา 12.40 น. ได้เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนาและที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นอำเภอที่ 878 และอำเภอสุดท้ายของการจัดตั้งอำเภอของประเทศไทย โดย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กราบบังคมทูลรายงานว่า อำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นอำเภอที่ก่อสร้างขึ้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงในทุกเรื่อง และทรงเลือกให้อำเภอแม่แจ่มเป็นต้นแบบทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง ให้มีโอกาสทางการศึกษา ประกอบกับ สภาพพื้นที่อำเภอแม่แจ่มอยู่ห่างไกล ทุรกันดาร ราษฎรมีปัญหาในด้านคุณภาพชีวิต การปกครอง และปัญหายาเสพติด จังหวัดเชียงใหม่พิจารณาเห็นว่าหากมีการแบ่งแยกเขตการปกครองของอำเภอแม่แจ่ม โดยเอาพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด และตำบลแจ่มหลวง ไปรวมกันจัดตั้งเป็นอำเภอก็จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรได้อย่างเป็นรูปธรรม จังหวัดเชียงใหม่จึงได้เสนอเรื่องผ่านกระทรวงมหาดไทยเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีซึ่งมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เฉลิม พระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานชื่ออำเภอว่า “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2552 ยังความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวจังหวัดเชียงใหม่เป็นล้นพ้น
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พุทธศักราช 2552 เป็นอำเภอลำดับที่ 25 ของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นอำเภอลำดับที่ 878 ของประเทศ โดยประกอบด้วยพื้นที่ 3 ตำบล 21 หมู่บ้าน ซึ่งภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการทุกภาคส่วน พิจารณาจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร ที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา และอาคารอื่น ๆ รวมถึง โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกแบบและควบคุมดูแลการก่อสร้าง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 45,531,960 บาท ซึ่งการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และปัจจุบันได้เปิดให้บริการประชาชนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จึงได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา และที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสเบิกผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราช-อัธยาศัย และผู้ให้การสนับสนุนเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 120 ราย จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนิน ทรงปลูกต้นไม้ และทอดพระเนตรนิทรรศการความเป็นมาในการก่อตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนาภายในอาคารตามลำดับ
หลังจากทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนาและที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนาแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแล้ว บนเนื้อที่ 88 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา ณ บริเวณบ้านห้วยบง หมู่ 4 ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เป็นแบบกึ่งพักนอนสำหรับเด็ก ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา และเด็กที่พักอาศัยในพื้นที่เขตรอยต่อจังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1–6 ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นมา
ต่อมาได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถวัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นวัดแรกในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ที่มีการก่อสร้างมานานกว่า 300 ปี ที่เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยได้อบรมสั่งสอนชุมชนชาวไทยภูเขาที่นับถือพระพุทธศาสนาให้รูหลักคำสอน เป็นคนดีของสังคม รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเมื่อปีพุทธศักราช 2473 ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้เดินธุดงค์ผ่านมาโดยได้พักค้างคืนที่วัดบ้านจันทร์และได้นำชาวบ้านช่วยกันบูรณะ พระเจดีย์จนแล้วเสร็จจึงได้เดินทางไปจาริกแสวงบุญต่อที่อำเภอสะเมิง และเมื่อปีพุทธศักราช 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม-ราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรชาวเขาในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่วัดจันทร์แห่งนี้ และได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพ เพื่อสร้างรายได้จากการทอผ้าของชาวบ้านในตำบลวัดจันทร์
สำหรับการจัดสร้างอุโบสถวัดจันทร์นั้น พระพลชัย พะละรักโข พระที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่วัดจันทร์ แต่ไปจำพรรษาที่วัดส้มเกลี้ยง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ได้นำพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาจากรุงเทพมหานคร มาร่วมกันก่อสร้างพระอุโบสถหลังแรกในวัดจันทร์ ร่วมกับคณะศรัทธาบ้านวัดจันทร์ โดยอุโบสถหลังนี้มีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 25 เมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 5,900,000 บาท เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา โดยมีเจ้าภาพหลัก คือ พลเอก ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ โดยได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 ถือเป็นพระอุโบสถหลังแรกและวัดแรกในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอพระราชานุญาตเบิกผู้มีจิตศรัทธา จำนวน 100 ราย เข้ารับพระราชทานของที่ระลึกด้วย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังท่าอากาศยานกองบิน 41 จากนั้นจึงเสด็จประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร
ข่าวโดย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น