วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก เตือนผู้บริโภคน้ำส้มสายชูระวังเจอของปลอมหลังพบมีการนำมาจำหน่ายในท้องตลาดเนื่องจากมีราคาถูก

ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก เตือนผู้บริโภคน้ำส้มสายชูระวังเจอของปลอมหลังพบมีการนำมาจำหน่ายในท้องตลาดเนื่องจากมีราคาถูกพร้อมแนะวิธีเลือกซื้อน้ำส้มสายชูที่เหมาะสมในการบริโภค

น.ส. พิมพ์พิชญิ์ สังข์แป้น นักวิชาการสาธารณสุข ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก เปิดเผยว่า หากพูดถึง "น้ำส้มสายชู” คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะน้ำส้มสายชูได้มีการนำมาใช้ปรุงอาหารหลากหลายประเภท รวมถึงใช้ในการถนอมอาหารอีกด้วย แต่ในปัจจุบันมีการนำ น้ำส้มสายชูปลอมมาจำหน่ายเนื่องจากมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับน้ำส้มสายชูที่เป็นอาหารได้ โดยนำกรดน้ำส้มชนิดเข้มข้น ในชื่อว่า "หัวน้ำส้ม” (Glacial acetic acid) ซึ่งพบว่าหัวน้ำส้มชนิดนี้ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง สิ่งพิมพ์ สิ่งทอ ไม่เหมาะสมที่จะนำมาบริโภคเนื่องจากมีโลหะหนัก หรือวัตถุเจือปนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกรรมวิธีการผลิตปนเปื้อนอยู่ ทำให้เกิดพิษสะสมจากโลหะหนัก และสิ่งปนเปื้อนดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบปัญหาจากการผสมไม่ถูกส่วน เพราะหากปริมาณกรดน้ำส้มสูงเกินไปก็จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ โดยอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเนื่องจากผนังลำไส้ไม่ดูดซึมอาหาร รวมทั้งยังพบการนำเอากรดแร่อิสระบางอย่าง เช่น กรดกำมะถัน หรือ กรดซัลฟุริก (Sulfuric acid) ซึ่งเป็นกรดแก่มาเจือจางด้วยน้ำมาก ๆ แล้วบรรจุขวดขาย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะกรดกำมะถันเป็นกรดที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง หากบริโภคจะทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารและตับ น้ำส้มสายชูเหล่านี้จึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาบริโภค ดังนั้น ก่อนจะบริโภคน้ำส้มสายชูจึงควรจะทราบเสียก่อนว่าน้ำส้มสายชูที่เหมาะสมในการบริโภคมีลักษณะเป็นอย่างไร และควรจะเลือกซื้ออย่างไร ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอดังนี้ น้ำส้มสายชูที่ใช้บริโภคแบ่งออกเป็น 3 ชนิด 1. น้ำส้มสายชูหมัก ได้จากการหมักธัญพืช ผลไม้ หรือน้ำตาล น้ำส้มสายชูชนิดนี้รสกลมกล่อมและมีกลิ่นหอม มีเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ราคาค่อนข้างแพง
2. น้ำส้มสายชูกลั่น ได้จากการหมักแอลกอฮอล์กลั่นเจือจางกับเชื้อน้ำสมสายชูแล้วนำไปกลั่นอีกครั้ง หรือนำน้ำส้มสายชูหมักมากลั่น 3. น้ำส้มสายชูเทียม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเอากรดน้ำส้ม (Acetic acid) ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ความเข้มข้นประมาณ 95 % มาเจือจางจนได้ปริมาณกรด 4 - 7% ในเบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคควรพิจารณาเลือกน้ำส้มสายชูที่มีลักษณะใส ไม่มีตะกอน ไม่มีการเจือสี และมีปริมาณกรดน้ำส้ม 4-7 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร (4-7%) โดยสังเกตข้อความ "มีปริมาณกรดน้ำส้ม…%” ที่ฉลาก และมีเลขสารบบอาหาร ในกรอบเครื่องหมาย อย. หรือหากท่านไปรับประทานอาหารนอกบ้านควรสังเกตก่อนปรุง ดังนี้ ภาชนะที่ใส่น้ำส้มสายชูไม่ควรเป็นพลาสติก เพราะน้ำส้มสายชูอาจทำปฏิกิริยากับพลาสติกเกิดเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ และหากมีพริกดองให้สังเกตส่วนของน้ำส้มที่อยู่เหนือพริกจะขุ่น เนื้อพริกมีสีซีดขาว เปื่อยยุ่ย ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก จึงขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อน้ำส้มสายชูที่เหมาะสมในการบริโภคต่อไปเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อตัวผู้บริโภคเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น