วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

องคมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมมอบถุงยังชีพพระราชทาน

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมมอบถุงยังชีพพระราชทาน

วันนี้ ( 29 ม.ค. 57 ) นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณลุ่มน้ำปาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพพระราชทานแก่ราษฎร บ้านห้วยซลอบ ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีนายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ

จากนั้นองคมนตรีรับมอบของที่ระลึกจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง และเข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอนของห้องเรียนอนุบาลบ้านห้วยสลอบ โดยมีนายสมคิด รัตนเพ็ญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยผา ได้รายงานถึงการเรียนการสอน ซึ่งที่หมู่บ้านห้วยสลอบมีนักเรียนในระดับอนุบาลเท่านั้นและเปิดเป็นห้องเรียนระดับอนุบาลเป็นสาขาของโรงเรียนบ้านห้วยผา ที่อยู่ห่างออกไปอีก 8 กิโลเมตร จากนั้นองคมนตรีได้มอบของที่ระลึกให้กับเด็กนักเรียน ก่อนที่จะเดินทางเข้ารับฟังการบรรยายและชมวีดีทัศน์การอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สัก จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16
จากนั้นนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้เปิดกรวยถวายความเคารพพระบรมสาทิศลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และเป็นประธานมอบถุงยังชีพพระราชทานให้กับราษฎรบ้านห้วยซลอบที่มาต้อนรับจำนวนทั้งหมด 92 ชุด สำหรับหมู่บ้านห้วยซลอบ ราษฏรส่วนใหญ่เป็นชาวปะโอ ที่อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ใช้ภาษาปะโอ และไทยใหญ่ในการสื่อสาร มีอาชีพด้านการเกษตรและเลี้ยงสัตว์

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณลุ่มน้ำปาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 และพระราชทานนามป่าสักดังกล่าวว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” และพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบริเวณลุ่มน้ำปาย จำนวน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านห้วยซลอบ บ้านนาอ่อน บ้านมะโนรา และบ้านห้วยปมฝาก ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เสริมสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความรัก ความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้อยู่ดีกินดี พึ่งพาตนเองได้ และเป็นกำลังหลักที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและปกป้องป่าแห่งนี้ไว้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมไม้สักในถิ่นกำเนิดและนอกถิ่นกำเนิด รวมถึงเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยไม้สักที่ครบวงจรของประเทศไทยและในระดับสากลต่อไป



ข่าวโดย : พักตร์ภูมิ ปัญญาไชยพัฒน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น