วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สนข.จัดประชุมระดมความคิดเห็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือ ระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชนโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ระยะที่ 2 พิษณุโลก – เชียงใหม่ พิจารณา 3 เส้นทาง ระบุกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ใช้เวลาเดินทางเพียง 3 ชั่วโมง 16 นาที ค่าโดยสารราคา 1,074 บาท ยันเดินหน้าโครงการต่อแม้ พรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทไม่ผ่านสภาฯ

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2557) เวลา 09.00 น. ณ ห้องอิมพีเรียลบอลรูม โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ นายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ระยะที่ 2 พิษณุโลก – เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอความสำคัญ ขอบเขตการดำเนินงาน และรูปแบบแนวเส้นทางเลือก พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชนจากจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 200 คน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข) กล่าวว่า ปัจจุบัน สนข.ได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – พิษณุโลกแล้วเสร็จ และได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ระยะที่ 2 พิษณุโลก – เชียงใหม่ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง
ในการสัมมนา ได้มีการเสนอแนวเส้นทางเลือกของการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายพิษณุโลก – เชียงใหม่ 3 แนวเส้นทาง โดย จ.พิษณุโลก จะผ่าน อ.บางกระทุ่ม อ.เมืองพิษณุโลก และ อ.พรหมพิราม เข้าสู่ทางเลือก ประกอบด้วย 3 เส้นทาง ประกอบด้วย
1. แนวทางเลือกที่ 1 เป็นแนวเส้นทางที่ใช้ที่ใช้ทางรถไฟเดิมเป็นหลัก โดยปรับรัศมีโค้งบางส่วน เพื่อให้รถไฟสามารถทำความเร็วที่ต้องการได้ ระยะทางประมาณ 299 กม.มี 5 สถานี ได้แก่ อุตรดิตถ์ เด่นชัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
2. แนวทางเลือกที่2 เป็นแนวเส้นทางที่ปรับเข้าใกล้ตัวเมือง จ.แพร่ โดยแยกออกที่ อ.ห้วยไร่ จ.แพร่ และวกกลับเข้าเส้นทางรถไฟเดิมที่ ต.แม่ทะ จ.ลำปาง ระยะทางประมาณ 315 กม. มี 5 สถานี ได้แก่ อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
3. แนวทางเลือกที่3 เป็นแนวเส้นทางใหม่ที่แยกจาก จ.พิษณุโลก มุ่งไป จ.สุโขทัย ไปทางสวรรคโลก ศรีสัชนาลัย ผ่านเข้าเมืองลำปาง ระยะทางประมาณ 293 กม. มี 5 สถานี ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่

โดยช่วงลำปาง-เชียงใหม่ ทุกทางเลือกจะวิ่งไปตามแนวรถไฟเดิมจนถึงบริเวณ ดอยขุนตาล จนถึงลำพูนจะตัวแนวเส้นทางใหม่ เพื่อให้รถไฟสามารถทำความเร็วได้ จากนั้นวิ่งไปตามแนวรถไฟเดิมจนถึงเชียงใหม่ สำหรับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด จะเปรียบเทียบและให้คะแนนครอบคลุมปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ด้านวิศวกรรม เช่น ระยะเวลาในการเดินทาง ความสามารถในการเข้าถึงระบบรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เช่น ค่าก่อสร้างและเวนคืน ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น และด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น คุณภาพอากาศทรัพยากรป่าไม้ แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายพิษณุโลก-เชียงใหม่ มีพื้นที่ที่ต้องตัดแนวเส้นทางใหม่และผ่านภูเขาสูง และในส่วนตำแหน่งที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง มีการพิจารณารายละเอียดและกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมมากที่สุด เช่น มีที่ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางเมืองในระยะ 1-5 กม. มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับถนนสายหลักรองรับ ประชาชนสัญจรเข้าสู่สถานีได้อย่างสะดวก และเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสในการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองสูง เป็นต้น รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ทุกด้านอย่างรอบคอบ

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการศึกษานี้ใช้ระยะเวลา 14 เดือน ขณะนี้ดำเนินการมาแล้ว 3 เดือน เหลือระยะเวลาศึกษาอีกประมาณ 1 ปี แต่คาดว่าน่าจะทราบแนวเส้นทางก่อนหน้านั้น โดยต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่อยู่ในเส้นทางทั้ง 3 เส้นทาง เมื่อพิจารณาเลือกเส้นทางแล้วก็จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งว่าทำไมถึงเลือกเส้นทางนั้น สำหรับงบประมาณในการดำเนินการ หากร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทไม่ผ่านการพิจารณาก็จะใช้วิธีการกู้เงินมาดำเนินการเป็นรายโครงการ ซึ่งจะใช้ระยะเวลามากขึ้น

จากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา พบว่าประชาชนให้การตอบรับโครงการดี เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจว่าการมีรถไฟความเร็วสูงไม่ใช่เพียงแค่มีรถไฟวิ่งเข้ามาที่สถานี แต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ เดินทางมายังแต่ละจังหวัดได้ง่ายขึ้นที่ราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เช่น การเดินทางจากกรุงเทพฯ - เชียงใหม่จะใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง 16 นาที ราคาค่าโดยสาร 1,074 บาท คาดว่าจะสามารถแข่งขันกับการเดินทางโดยเครื่องบินได้ โครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่จังหวัดที่มีเส้นทางรถไฟพาดผ่านให้เกิดการขยายตัวเป็นเมืองใหญ่ เป็นหัวเมืองหลักที่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานจากจังหวัดใกล้เคียง สำหรับการคัดเลือกบริษัทที่มาดำเนินการ ขณะนี้มีประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และฝรั่งเศส ที่ให้ความสนใจ ซึ่งรัฐบาลจะเปิดกว้างให้กับทุกประเทศในการแข่งขัน โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี และให้แต่ละบริษัทแข่งขันในด้านราคา ซึ่งไม่ได้ดูเฉพาะการเสนอราคาตอนต้น แต่ดูราคาตลอดอายุการใช้งาน และเห็นว่าแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ยังคิดว่าโครงการนี้ก็จะดำเนินการต่อเพราะมีการจัดทำเป็นแผนแม่บทมากว่าสามรัฐบาลแล้ว และประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นโครงการนี้เป็นประโยชน์ของประเทศในระยะยาว เพียงแต่การดำเนินการต้องมีการคำนึงถึงสถานะทางการเงินของประเทศด้วยว่าเหมาะสมเพียงใด



ข่าวโดย : อนุชา นาคฤทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น