วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมการรับมือหมอกควันไฟป่า พบ Hot Spot แล้ว 59 จุด แต่คุณภาพอากาศยังไม่เกินค่ามาตรฐาน

จังหวัดเชียงใหม่ประเมินสถานการณ์หมอกควันไฟป่า ในช่วง "80 วันแห่งการเฝ้าระวังและควบคุมหมอกควันไฟป่า" ระหว่างวันที่ 1 ก.พ - 21 เม.ย57 พบจุดความร้อน Hot Spot แล้ว 59 จุด มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ค่าคุณภาพอากาศยังอยู่ในระดับปานกลาง ปริมาณฝุ่นละออง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 54-95 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557) เวลา 14.00 น. ณ ห้อง POC ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นานชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับนายอำเภอ 25 แห่ง ทางระบบ VDO Conferenceร และผู้แทนส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาติดตามสถานการณ์และประเมินแนวโน้มช่วง "80 วันแห่งการเฝ้าระวังและควบคุมหมอกควันไฟป่า" ระหว่างวันที่ 1 ก.พ-21 เม.ย57 และวางมาตรการแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา

นายกมลไชย คชชา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้คุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งกำหนดไว้ที่ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ค่ามาตรฐานไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งผลจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 จากสถานีตรวจวัดที่จากศาลากลาง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 95 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสถานีตรวจวัดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงถือว่าคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีข้อสังเกตว่า ในปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองจากสถานีโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยมักจะสูงกว่าสถานีศาลากลางจังหวัด แต่ในปีนี้พบว่ามีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า จากการศึกษาข้อมูลพบว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากปริมาณฝุ่นละอองจากก่อสร้างถนนจากบริเวณใกล้เคียง
ในขณะที่คุณภาพอากาศย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 -12 กุมภาพันธ์ พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 18-95 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับดี-ปานกลาง ถือว่าคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2556 ที่ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มีค่าเฉลี่ยที่ 76 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่มีแนวโน้มน่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อไป นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้คือทิศทางลม โดยขณะนี้ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในอากาศในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะที่จังหวัดลำปางมีค่าเฉลี่ยเกินค่ามาตรฐาน อยู่ที่ 142 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมทั้งจังหวัดตาก และจังหวัดแพร่ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่ามาตรฐาน หากทิศทางลมพัดจากทิศใต้ จะส่งผลกระทบให้หมอกควันจากจังหวัดลำปางจะพัดมาสู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอให้ทุกอำเภอเตรียมการเฝ้าระวัง

ในส่วนของสถิติจุดความร้อนที่คาดว่าเป็นการเผาในที่โล่ง (HOTSPOT) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 – 11 กุมภาพันธ์ 2557 สะสม พบจำนวน 59 จุด มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 42 จุด โดยแนวโน้มปกติจะเริ่มจากอำเภอด้านใต้ขึ้นมาทางเหนือ ขณะนี้พบว่าอำเภอที่จุด Hotspot สะสมมากที่สุดคือ อ.ดอยเต่า จำนวน 17 จุด มากกว่าปี 2556 ในเวลาเดียวกันที่พบเพียง 1 จุด นอกจากนี้ ยังมีที่ อ.ฮอด จำนวน 11 จุด อำเภออมก๋อย จำนวน 11 จุด อำเภอสันทราบ จำนวน 8 จุด อำเภอจอมทอง จำนวน 7 จุด อำเภอเชียงดาว จำนวน 3 จุด อำเภอแม่วาง อำเภอดอยหล่อ และอำเภอเวียงแหง อำเภอละ 1 จุด และเมื่อจำแนกตามพื้นที่พบว่า มีจุด hotspot ในพื้นที่เกษตร จำนวน 5 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 27 จุด และพื้นที่ป่าสงวน จำนวน 27 จุด นอกจากนี้ ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พบรายงานสถิติรับแจ้งเหตุและปฏิบัติการดับไฟป่าสะสม ระหว่างวันที่ 1-11 กุมภาพันธ์ 2557 รวมจำนวน 21 ครั้ง พื้นที่ป่าเสียหายจำนวน 226 ไร่

สำหรับสภาพอากาศในพื้นที่ คุณศันสนีย์ ไชยเชียงพิณ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ปลายสัปดาห์ที่ 3-4 ก.พ ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนและมีฟ้าหลัว (หมอกแดด) ในเวลากลางวัน อุณหภูมิจะร้อนกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และยังไม่มีแนวโน้มของการเกิดฝน จึงขอเตือนให้ประชาชนระวังในเรื่องสุขภาพ รวมทั้งยกเลิกการเผาในที่โล่งแจ้งเพื่อป้องกันปัญหาการเกิดหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ นายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขอเน้นย้ำให้นายอำเภอทุกอำเภอสั่งการไปยังตำบล หมู่บ้าน ให้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ จัดชุดเคลื่อนที่ลาดตระเวน เฝ้าระวังโดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าหรือจุดที่เกิดเหตุซ้ำซาก นอกจากนี้ขอให้ประสานหน่วยดับไฟของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแบ่งโซนรับผิดชอบออกเป็น 3 โซน คือ โซนเหนือที่ อ.เชียงดาว โซนกลาง ที่ อ.เมืองเชียงใหม่ และโซนใต้ ที่ อ.อมก๋อย รวมทั้งชุดดับไฟจากศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ ๓๓ หมายเลขโทรศัพท์ 053-249-345 ขอย้ำให้ทุกฝ่ายอย่านิ่งนอนใจ เนื่องจากจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM10)สูงเกินค่ามาตรฐานแล้ว



ข่าวโดย : อนุชา นาคฤทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น