วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

รายงานพิเศษ ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนศรีชุมจังหวัดลำปาง

คณะกรรมการชุมชนศรีชุม อำเภอเมืองลำปาง ได้เสนอของบประมาณจากโครงการพัฒนาเมือง เพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนศรีชุมภายในวัดและได้รับการอนุมัติแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะฟื้นฟูบูรณะวัดศิลปะพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย

วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เคยได้ชื่อว่าเป็นวัดศิลปะพม่าที่ใหญ่ที่สุด ในบรรดา 31 วัดที่มีอยู่ในประเทศไทย หากแต่ในปัจจุบันวัดแห่งนี้ มีสภาพทรุดโทรม และเงียบเหงา คณะกรรมการชุมชนศรีชุม จึงหาแนวทางฟื้นฟูให้วัดแห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอีกครั้ง โดยเริ่มจากการเขียนโครงการของบประมาณจากโครงการพัฒนาเมือง จนผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการระดับจังหวัดลำปางและคณะกรรมการจากส่วนกลาง

นางจินดา โพธิ์ทอง ประธานกลุ่มผู้สูงอายุชุมชนศรีชุม เปิดเผยว่า “คณะกรรมการชุมชนเห็นร่วมกันว่า ควรเอาวัดเป็นศูนย์รวม เป็นศูนย์กลางที่จะดึงคนเข้าวัด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ก็ต้องเกี่ยวกับทางศาสนา ทางวัดทางวา จึงมาขอเจ้าอาวาส ตั้งที่ทำการชมรมผู้สูงอายุ และ อสม.ที่ชั้นล่างวิหาร ตรงนี้ เดี๋ยวนี้รวมชุมชนด้วยมารวมกันอยู่ตรงนี้ซึ่งแออัดมาก โดยประวัติเคยถูกไฟไหม้ก็เลยไม่อยากไปรบกวน”

ชุมชนศรีชุม เป็นชุมชนแรกของจังหวัดลำปางที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ จำนวน 1.6 ล้านบาท จากโครงการพัฒนาเมือง เพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมศรีชุมขึ้นภายในวัด ทดแทนสถานที่เดิมที่คับแคบ เพื่อให้คนในชุมชนเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ ได้มีเวทีพบปะพูดคุยและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน

นางเพชรา กิติโสภณ เลขานุการกลุ่มผู้สูงอายุชุมชนศรีชุม กล่าวว่า “สมาชิกจะได้มาพบปะสังสรรค์ คุยกัน สนทนาร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนคนรุ่นหลังหรือบุคคลทั่วไปจะมาทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในชุมชน ที่ขาดความรู้ก็จะได้รับรู้ ก็จะมีกิจกรรมขึ้นมา เพื่อให้ได้พบปะพูดคุยแบบเป็นพี่เป็นน้องกัน”

นายทวีชัย ปิณธานะรักษ์ กรรมการชุมชนศรีชุม กล่าวว่า “คนเฒ่าคนแก่ ที่เคยอาศัยอยู่แถวนี้ ตอนนี้ก็หมกตัวอยู่กับบ้านเขาไม่มีสถานที่ หรือบางทีมีสถานที่แต่ไม่มีการนำ ฉะนั้น ถ้าเกิดมีศูนย์นี้ขึ้นมาจริงๆ ผมก็คิดว่า คนส่วนหนึ่งจะสามารถมาแสดงออก มาหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ ต่อชีวิตของเขา”  เมื่อศูนย์เรียนรู้ชุมชนวัฒนธรรมศรีชุมแล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทุกอย่างของชุมชนและเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชุมชนให้กลับมางดงามอีกครั้ง



ข่าวโดย : อธิชัย ต้นกันยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น