วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศวิกฤติภัยแล้งแล้ว 27 จังหวัด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศวิกฤติภัยแล้งแล้ว 27 จังหวัด รวม 137 อำเภอ 820 ตำบล 7,262 หมู่บ้าน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศวิกฤติภัยแล้งและประกาศจังหวัดเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ประจำปี 2557 แล้ว 27 จังหวัด รวม 137 อำเภอ 820 ตำบล 7,262 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร และแม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และหนองบัวลำภู ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สระบุรี และชัยนาท ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และปราจีนบุรี ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ตรัง สตูล กระบี่ และสุราษฎร์ธานี

ในส่วนของจังหวัดน่าน ได้มีการเตรียมความพร้อมและให้การช่วยเหลือประชาชน จากวิกฤติภัยแล้งในครั้งนี้ โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน (ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ประสบภัยแล้ง ตรวจสอบสถานการณ์น้ำ จัดโซนนิ่งพื้นที่ประสบภัยแล้ง และวางมาตรการช่วยเหลือให้สอดคล้อง เน้นวางแผนบริหารจัดการน้ำและแจกจ่ายน้ำทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้ประโยชน์จากน้ำทุกแหล่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด น้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอต่อการใช้งาน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรให้สำรวจพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ จัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทาน จัดเจ้าหน้าที่เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เกษตรกรจะได้วางแผนเพาะปลูกพืชได้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตดีและมีตลาดรองรับ รวมถึงจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายและปัญหาแย่งชิงน้ำ นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรม/โครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน อาทิเช่น การจัดหากระสอบทราย ภาชนะรองรับน้ำ (ถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน) การซ่อมแซมบ่อน้ำบาดาล การขุดคู คลอง แหล่งน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำ ให้แก่พื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งทุกภาคส่วนได้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่วัสดุอุปกรณ์แจกจ่ายน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ได้ใช้น้ำอย่างประหยัด และควรมีการเตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรควรมีการวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และวางแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยและให้ผลผลิตดี งดเว้นการทำนาปรัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ


รดา บุญยะกาญจน์ /ภาพ/ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น