สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพิษณุโลกจัดโครงการรณรงค์การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2557
เช้าวันนี้ ( 29 ก.ค.57 ) ที่ห้องประชุมสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพิษณุโลก ตำบลบ้านคลอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ทางสถานีจัดโครงการรณรงค์การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2557 โดยมีผู้ดำเนินรายการวิทยุกระจายเสียง ผู้ดำเนินรายโทรทัศน์/เคเบิ้ลทีวี และผู้สนใจเข้าร่วมโครงการได้ใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง นายนุกูล นาคคชฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลกหรือสวท.พิษณุโลก กล่าวว่า สวท.พิษณุโลก ได้รับคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายด้านวัฒนธรรมจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารโดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการวิทยุกระจายเสียง ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ จึงได้จัดโครงการรณรงค์การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ 29 กรกฎาคม 2557 โดยมีผู้ดำเนินรายการวิทยุกระจายเสียงทั้งคลื่นหลักและวิทยุชุมชน ผู้ดำเนินรายโทรทัศน์/เคเบิ้ลทีวี และผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 คน เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนและเยาวชน เกิดความรู้สึกรักและหวงแหนภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาของชาติ โดยได้รับเกียรติจากนางอรุณี แดงพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนสื่อข่าวและผลิตรายการข่าว สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ดำเนินรายการ รู้รักษ์ภาษาไทย ทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลผู้ใช้ภาไทยดีเด่น จากราชบัณฑิตยสถาน เป็นวิทยากร ในการอบรม
โดยมีทั้งการให้ความรู้หลักการใช้ภาษาไทยและฝึกการอ่านออกเสียงภาษาไทยที่ถูกต้อง ผอ.สวท.พิษณุโลก ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าสำหรับวันภาษาไทยแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น