วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กรมควบคุมมลพิษเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากมลพิษหมอกควันในประเทศไทย

กรมควบคุมมลพิษติดตามสถานการณ์มลพิษหมอกควันในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ และรายงานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับจัดฝึกอบรมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันแบบบูรณาการ

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ได้แก่ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน บดบังทัศนวิสัย และเป็นอุปสรรคในการคมนาคมและขนส่ง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศป่าไม้ รวมทั้งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ ซึ่งความรุนแรงของปัญหาโดยทั่วไปปรากฏชัดเจนในช่วงหน้าแล้ง(ธันวาคม- เมษายน)ของทุกปี ที่มีสภาวะอากาศที่แห้งและนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเนื่องจากความแห้งแล้งที่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของไฟป่า ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว เกษตรกรจะทำการเผาเศษวัสดุเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน สำหรับปีที่มีฝนตกน้อยหรือเกิดภาวะแห้งแล้งจะทำให้การชะล้างหมอกควันหรือฝุ่นที่แขวนลอยในอากาศเป็นไปได้น้อย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาหมอกควันที่รุนแรงมาก พบว่าระดับหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ขึ้นสูงอย่างมากต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยตรง

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากการติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2550 - 2553 พบว่าหลายสถานีใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน น่านและแพร่ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี ทีมีการเผาในที่โล่งจำนวนมากทั้งการเผาในพื้นที่ป่า การเผาเศษเหลือจากการเกษตรในพื้นที่เกษตร และการเผาขยะมูลฝอยและเศษใบไม้ กิ่งไม้ในพื้นที่ชุมชน รวมทั้งผลกระทบจากการเผาในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ในกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในหลายพื้นที่และติดต่อกันเป็นเวลานานหลายวัน
สำหรับปัญหามลพิษหมอกควันและไฟป่า ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า เป็นปัญหาที่มีความสำคัญระดับชาติ จึงจำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุน เพื่อให้การป้องกันและควบคุมไฟป่า เพื่อให้การเผาในที่โล่งและการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดในภาคเหนือตอนบน ซึ่งประสบกับวิกฤติสถานการณ์หมอกควันในช่วงปี 2550-2553 จึงต้องมีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา จะต้องประกอบด้วยการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ และรายงานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับจัดฝึกอบรมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันแบบบูรณาการ
สำหรับคุณภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 พบปริมาณฝุ่นละอองหรือ ค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีค่า 40 ไมโครกรัม/กิโลเมตร AQI 50 ที่สถานี ฯ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ค่า PM10 อยู่ที่ 30 AQI 38 และที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์(รถโมบาย) พบค่า PM10 12 AQI 15 คุณภาพอากาศโดยรวมทั้ง 3 สถานีอยู่ในระดับดี



ข่าวโดย : ราตรี จักร์แก้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น