วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

“ชมพูภูคา”พันธุ์ไม้ควรค่าเพื่อความรักษ์

เดือนกุมภาพันธ์หลายคนคิดกันว่าเป็นเดือนแห่งความรัก ดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับความรักคงไม่พ้นดอกไม้ที่มีสีชมพู มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งซึ่งบานในเดือนแห่งความรักเป็นประจำทุกปี คือ ดอกชมพูภูคา ซึ่ง ชมพูภูคาเป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ เป็นพืชที่มีดอกสีชมพูอมขาว พันธุ์ไม้นี้ที่มีลักษณะโดดเด่นและหายาก เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว

แต่มี นักพฤกษศาสตร์ ชาวไทย ดร.ธวัชชัย สันติสุข ได้ค้นพบต้นชมพูภูคาอีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ในปีพ.ศ. 2532 ชมพูภูคามี ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bretschneidera sinensis Hemsl.ชื่อวงศ์ : BRETSCHNEIDERACEAEชมพูภูคา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10-25 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีเทาน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนก ยาว 30-80 เซนติเมตร ใบรูปหอกถึงรูปไข่ กว้าง 2.5-6 เซนติเมตร ยาว 8-25 เซนติเมตร โคนใบรูปลิ่มหรือกลม ปลายใบแหลม ดอกสีขาว-ชมพู คล้ายรูประฆัง ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกยาวได้ถึง 20-40 เซนติเมตร กลีบรองดอกขนาดใหญ่ รูปคล้ายระฆังคว่ำขอบหยักตื้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กว้าง โคนกลีบเรียวยาว ปลายกลีบม้วนออกด้านนอก ขนาด 1.8-2 เซนติเมตร กลีบบนมักคว่ำลง เกสรผู้ 8 อัน ก้านเกสรเพศผู้ยาว 2.5-3 เซนติเมตร ปลายโค้ง รังไข่และก้านเกสรเพศเมียมีขนปกคลุม รังไข่ยาว 0.3-0.4 เซนติเมตร เกสรเพศเมียยาว 3-4 เซนติเมตร ปลายงอลง ผลรูปกระสวยแก่แล้วแตก เมล็ดรูปรี กว้าง 12 มิลลิเมตร ยาว 20 มิลลิเมตร ชมพูภูคาจะบานในเดือนกุมภาพันธ์ – ต้นเดือนมีนาคม ของทุกปี

ชมพูภูคามีเขตการกระจายพันธุ์แคบ ในอดีตพบเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศจีน ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ไต้หวัน และไทย ขึ้นตามพื้นที่ที่มีความชื้นต่ำตลอดทั้งปี บนพื้นที่ลาดชันในป่าดิบเขา ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200-1,500 เมตร ต่างประเทศพบจนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร ซึ่งในต่างประเทศคาดว่าได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้วเหลือพบที่แห่งเดียว ในเขตอุทยานแห่งชาติ ดอยภูคา และพื้นที่ภูเขาสูงชันในจังหวัดน่าน เช่น บ้านมณีพฤกษ์ อำเภอทุ่งช้าง บริเวณเทือกเขาภูพันเจ็ด บ้านสว่าง ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริม เป็นต้น เคยมีผู้สนใจนำพันธุ์ไม้หายากชนิดไปปลูกที่ดอยอินทนนท์ และห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่แล้ว แต่พันธุ์ไม้ชนิดนี้ไม่ออกดอก จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าชมพูภูคาอาจจะเป็น ไม้หายากเฉพาะถิ่นหรือไม่ แม้จะมีสภาพความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ใกล้เคียงกันสภาพอากาศไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก

มีข้อสันนิษฐานทางธรณีวิทยาว่า อาจเป็นเพราะบริเวณพื้นที่จังหวัดน่านนั้น เมื่อ 200 ล้านปี บริเวณนี้เคยเป็นทะเลลึกในระดับมหาสมุทร ก่อนที่จะมีการยกตัวขึ้นเป็นแผ่นดิน สภาพทางธรณีวิทยาเป็น หินตะกอนและหินทรายร่วมอยู่ด้วย มีหินปูนปะปนอยู่บ้าง จึงเป็นต้นกำเนิดให้เกิดแคลเซียมแร่ธาตุสำคัญ ของการเจริญเติบโตของพืช ส่วนพื้นที่ดอยอินทนนท์มีลักษณะเป็นหินแกรนิต หินอัคนี และยังเป็นพื้นที่อยู่ ใต้พื้นพิภพมาก่อน ก่อนที่จะมีการยกตัวสูงขึ้น ส่วนบริเวณพื้นที่ห้วยน้ำดังมีสภาพเป็นหินแปร หินแกรนิต ลักษณะดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดดินโคลนเป็นส่วนใหญ่ และมีโปรแตสเซียมสูงมาก ที่น่าสนใจคือบริเวณพื้นที่จังหวัดน่านเมื่อหลายล้านปีนั้นเคยเป็นพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมาก่อน ความแตกต่างกันทางธรณีวิทยา อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชมพูภูคาเป็นพันธุ์ไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ซึ่งไม่สามารถนำไปปลูกยังแหล่งอื่นได้หรือหากจะปลูกแต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะต้นไม้ไม่มีการออกดอก เนื่องด้วยสภาพพื้นดินไม่เหมาะสม ในเรื่องของการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ อุทยานแห่งชาติดอยภูคาได้มีรวบรวมเมล็ดพันธุ์และขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ได้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา

ที่สำคัญคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ ชมพูภูคา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชมพูภูคาดอกไม้สีชมพูอมขาวที่งดงามตามธรรมชาตินี้ จึงเป็นพันธุ์พืชหายากใกล้สูญพันธุ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ตามแนวพระราชดำริ กำลังจะเบ่งบานเพื่อรอรับการมาเยี่ยมเยือนของผู้มีใจชื่นชมและมีความรักธรรมชาติเดือนกุมภาพันธ์เดือนแห่งความรักนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น