วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กรมการปกครองจัดโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ประจำปี 2557


กรมการปกครองจัดฝึกอบรมปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ตามโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ประจำปี 2557 รุ่นที่ 2 ณ ห้องประชุม โรงแรมเชียงใหม่ออคิด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วานนี้ (7 พฤษภาคม 2557) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม โรงแรมเชียงใหม่ออคิด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายสถาพร ศิริภักดี รองอธิบดีกรมการปกครอง ได้เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ตามโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ประจำปี 2557 ในการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 2 ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2557 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประกอบด้วย ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 188 อำเภอๆ ละ 1 คน รวม 188 คน โดยมีปลัดจังหวัดเชียงใหม่ นายอำเภอในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

นายสถาพร ศิริภักดี รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่าการขับเคลื่อนแนวทางการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ถือเป็นภารกิจสำคัญของกรมการปกครอง ซึ่งเป็นการต่อยอดการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นที่การสร้างความรู้สู่ความเข้าใจในระดับหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกฝังแนวคิดและวิธีปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยมีหลักการเบื้องต้นที่สำคัญของวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย 4 ด้าน ได้แก่ 1. การยึดถือหลักกฎหมาย ความมีเหตุผล และสันติวิธี โดยแต่ละฝ่ายเคารพความเท่าเทียมและพยายามที่จะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันด้วยการแบ่งปันกัน เอื้ออาทรต่อกัน และไม่ใช่ความรุนแรงเป็นทางเลือกเมื่อเกิดความขัดแย้ง 2. การปฏิบัติตามเสียงข้างมาก รับฟังเสียงข้างน้อย การตัดสินใจโดยสียงข้างมากมิได้หมายความว่าเสียงข้างมากนั้นจะถูกต้องเสมอไปแต่อาจจะถูกต้องและเหมาะสมในสถานการณ์หนึ่งก็ได้ เสียงข้างน้อยอาจจะเหมาะสมกับอีกสถานการณ์หนึ่ง อีกเวลาหนึ่ง ดังนั้นการยอมรับสิทธิของเสียงข้างน้อย จึงมีความสำคัญและที่สำคัญคือต้องอยู่ร่วมกันได้ระหว่างเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย 3. ความรับผิดชอบและเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง 4. การมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมและการเมือง โดยประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองในระดับต่างๆ อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ระดับ หมู่บ้าน/ชุมชนตำบล อำเภอ ไปจนถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศ

รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เมื่อสังคมระดับรากฐานมีความเข้าใจและมีความเข้มแข็งทางความคิดและนำไปรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริงแล้ว ก็จะสามารถขยายผลไปสู่สังคมในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไป และจะทำให้สังคมระดับประเทศมีความเข้มแข็ง คนในชาติมีความปรองดองและสามัคคีกันอย่างยั่งยืน โดยมีความหวังว่าปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ที่เข้ารับการฝึกอบรมในวันนี้จะได้รับความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปปรับใช้และขยายผลได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่สัมฤทธิผลที่สำคัญของโครงการคือ อาสาสมัครต้นแบบประชาธิปไตย สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้านให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยในครั้งนี้มี หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มาบรรยายพิเศษการปกครองใรระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย

กรมการปกครองได้จัดฝึกอบรมปลัดอำเภอฯ ตามโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ประจำปี 2557 จำนวน 878 อำเภอๆละ 1 คน รวม 878 คน โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 4 รุ่น (4 ภาค) ระหว่างวันที่ 21 เมษายน- 21 พฤษภาคม 2557


ข่าวโดย : ไผท สุวรรณเสวตร/พรไพลิน นุชเครือ
    หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น